ปฏิรูปกฎหมาย : พื้นฐานการปฏิรูปประเทศ : โดย ผศ.ดร.สมหมาย จันทร์เรือง

ปฏิรูป (Reform) หมายถึง ปรับปรุงให้สมควร หรือให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่พึงประสงค์หรือเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย สำหรับประเทศไทยการปฏิรูปประเทศบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 8 ให้จัดทำแผนการปฏิรูปประเทศไทยในด้านการเมือง ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ด้านกฎหมาย ด้านกระบวนการยุติธรรม ด้านการศึกษา ด้านเศรษฐกิจ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านสาธารณสุข ด้านสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ ด้านสังคม และด้านอื่นตามที่คณะรัฐมนตรีที่กำหนด

แผนการปฏิรูปประเทศไทย 11 ด้านนั้นล้วนมีกฎหมายเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนด้วยกันทั้งสิ้น จึงกล่าวได้ว่ากฎหมายเป็นพื้นฐานของการปฏิรูปทุกด้าน อย่างไรก็ตาม โดยตัวของกฎหมายเองก็มีปัญหาและข้อจำกัดหลายประการที่จะต้องปฏิรูปก่อนจะใช้กฎหมายไปเป็นกลไกในการปฏิรูปด้านต่างๆ ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับเดียวกันนี้ได้มีบทบัญญัติในการปฏิรูปกฎหมายไว้ คือ

“มาตรา 77 รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพ โดยไม่ชักช้าเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน และดำเนินการให้ประชาชนเข้าถึงตัวบทกฎหมายต่างๆ ได้โดยสะดวกและสามารถเข้าใจกฎหมายได้ง่ายเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง

ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน และนำมาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน เมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับแล้ว รัฐพึงจัดให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายทุกรอบระยะเวลาที่กำหนด โดยรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องประกอบด้วย เพื่อพัฒนากฎหมายทุกฉบับให้สอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป

Advertisement

รัฐพึงใช้ระบบอนุญาตและระบบคณะกรรมการในกฎหมายเฉพาะกรณีที่จำเป็น พึงกำหนดหลักเกณฑ์การใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐและระยะเวลาในการดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ที่บัญญัติไว้ในกฎหมายให้ชัดเจน และพึงกำหนดโทษอาญาเฉพาะความผิดร้ายแรง”

จากบทบัญญัตินี้มีสาระสำคัญ 3 ประการ ได้แก่

ประการแรก ประสิทธิภาพของกฎหมาย ต้องพิจารณาเรื่องต่อไปนี้
(1) ให้มีกฎหมายเท่าที่จำเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์

Advertisement

(2) ยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพ

(3) กระบวนการบัญญัติกฎหมายต้องไม่ชักช้าเพื่อมิให้เป็นภาระแก่ประชาชน

(4) ให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนในการเข้าถึงตัวบทกฎหมายได้โดยสะดวก เพื่อปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง

ประการที่สอง การมีส่วนร่วมของประชาชนและผู้เกี่ยวข้อง ต้องพิจารณาเรื่องต่อไปนี้

(1) รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ

(2) เปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์ต่อประชาชน

(3) นำผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์มาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน

(4) มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายทุกรอบที่รับฟังความคิดเห็น

ประการที่สาม ระบบคณะกรรมการในกฎหมาย ต้องพิจารณาเรื่องต่อไปนี้

(1) แต่งตั้งคณะกรรมการในกฎหมาย เฉพาะกรณีที่จำเป็น

(2) กำหนดหลักเกณฑ์การใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐ และระยะเวลาในการดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ให้ชัดเจน

(3) กำหนดโทษอาญาเฉพาะความผิดร้ายแรง หากกรรมการปฏิบัตินอกจากหลักเกณฑ์ที่กฎหมายบัญญัติ

เมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 77 ได้บัญญัติแนวทางปฏิรูปกฎหมายไว้อย่างชัดเจน จึงประมวลหลักการสำคัญได้ดังนี้

1.จำนวนกฎหมาย ควรคำนึงถึงคุณภาพมากกว่าปริมาณ กล่าวคือให้มีกฎหมายเท่าที่จำเป็น ยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับบริบทของสังคม

2.ความล่าช้าของการบัญญัติกฎหมาย ต้องได้รับการแก้ไข หรือปฏิรูปเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนได้ทันการณ์ เพราะการตราพระราชบัญญัติที่เป็นกฎหมายหลักในการบริหารประเทศ มีการพิจารณาถึง 6 วาระ คือ จากสภาผู้แทนราษฎร 3 วาระ และจากวุฒิสภา 3 วาระ จึงต้องมีมาตรการในการพิจารณาให้รวดเร็วกว่าที่ผ่านมา เฉพาะอย่างยิ่งการอภิปรายของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)

3.การมีส่วนร่วม ของผู้เกี่ยวข้องและประชาชนอันเป็นหลักสำคัญของระบอบประชาธิปไตย ต้องจัดทำระบบและขั้นตอนในการเสนอกฎหมายให้ผู้เกี่ยวข้องและประชาชนมีส่วนร่วมในการเสนอกฎหมาย มีส่วนร่วมในการเสนอความคิด หรือเปิดโอกาสให้มีการประชาพิจารณ์อย่างกว้าง รวมทั้งมีส่วนในการบังคับใช้กฎหมายด้วย

4.ความโปร่งใสและธรรมาภิบาล ทางการบัญญัติกฎหมาย โดยสมาชิกสภานิติบัญญัติทั้งสองสภาต้องแสดงความเห็นของตนอย่างเป็นอิสระ ไม่ยึดติดกับมติของพรรคการเมือง และการแสดงความเห็นต้องมีเหตุผลที่เกี่ยวข้องกับการบัญญัติกฎหมายด้วย

5.ประสิทธิภาพของกฎหมาย เมื่อบัญญัติกฎหมายแล้วต้องบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ กล่าวคือ ต้องมีความพร้อมของเจ้าหน้าที่ ความพร้อมของงบประมาณในการสนับสนุน และความรู้ความเข้าใจของประชาชน

ประเด็นสำคัญและหลักการที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น ปัจจุบันมีความเป็นไปได้ เนื่องจากมีการแต่งตั้งคณะทำงานด้านการปฏิรูปการพิจารณากฎหมายในระบบรัฐสภา เพื่อหาแนวทางและเสนอความเห็นต่อรัฐบาลในการปฏิรูปกฎหมาย ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จของการปฏิรูปประเทศได้อย่างจริงจังและรวดเร็ว

ผศ.ดร.สมหมาย จันทร์เรือง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image