บทเรียนเมียนมา ศึกษา ลักษณะ “เฉพาะ” สู่ลักษณะทั่วไป

บทเรียนการต่อสู้ทางการเมืองในเมียนมา อันสะท้อน “รูปธรรม” ผ่านกระบวนการของ “การเลือกตั้ง” ไม่ว่าเมื่อปี พ.ศ.2531 ไม่ว่าเมื่อปี พ.ศ.2558

1 ดำเนินไปอย่างมี “ลักษณะเฉพาะ”

เป็นลักษณะเฉพาะซึ่งดำรงอยู่ภายใน “สังคม” ของประเทศพม่า เป็นลักษณะเฉพาะซึ่งดำรงอยู่ภายในกระบวนการเคลื่อนไหวของชาวเมียนมาและชนชาติอื่นๆ ซึ่งประกอบส่วนขึ้นเป็น “พม่า”

มิได้มีแต่ด้านของฝ่ายปกครองอันได้แก่ กลุ่ม JUNTA

Advertisement

หากแต่เด่นชัดอย่างยิ่งมี “ประชาชน” ที่ผสมผสานขึ้นจากหลายชนชาติ หลายชนเผ่า และถือได้ว่าเป็นส่วนที่ถูกปกครอง

ขณะเดียวกัน 1 ภายในลักษณะเฉพาะก็มี “ลักษณะทั่วไป”

เป็นลักษณะทั่วไปอันสามารถปรับเข้ากับสังคมประเทศใดก็ตามที่ถูกปกครองโดย JUNTA โดยรัฐบาลทหาร

Advertisement

“ลักษณะทั่วไป” นี้เองที่น่าศึกษา น่าทำความเข้าใจ

เพราะหากบรรดา JUNTA ซึ่งเป็น “เผด็จการ” ต่างหายใจด้วยรูจมูกเดียวกัน บรรดา “ประชาชน” ซึ่งอยู่ในฐานะถูกกดขี่ ถูกขูดรีด สร้างความคับแค้นทางจิตใจ ก่อความยากไร้ทางวัตถุ

ก็ล้วนหายใจร่วมรูจมูกแห่งความทุกข์แค้น ลำเค็ญ เช่นเดียวกัน

การที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติด้วยคะแนน 274 จากที่ร่วมประชุม 317 เสียง ให้ ถิ่น จอ ขึ้นเป็นแคนดิเดตในการคัดเลือกประธานาธิบดี

นี่คือ ความแจ่มชัด 1 จากการเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ.2558

สะท้อนให้เห็นไม่เพียงแต่เสียงส่วนใหญ่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะเห็นชอบกับ ถิ่น จอ หากที่สำคัญยังเป็นไปตามมติของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD)

แรกที่นามของ ถิ่น จอ ปรากฏขึ้น

ความโน้มเอียง 1 คือ ความโน้มเอียงที่จะเน้นและขยายสถานะของ ถิ่น จอ ว่าเป็น “คนขับรถ” ของ ออง ซาน ซูจี

และดำรงอยู่ในจุดแห่งความเป็น “หุ่นเชิด”

กระทั่งมองข้ามความเป็นจริงที่เขาเป็นบัณฑิตในทางเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง มองข้ามความเป็นมหาบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด มองข้ามบทเรียน ประสบการณ์ที่เคยเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย เคยเป็นรัฐมนตรีมาแล้วอย่างน้อยก็ 2 กระทรวง

ที่สำคัญเป็นอย่างมากก็คือ มองข้ามรากฐานอันแข็งแกร่งของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD)

มองเห็นแต่ภาพของ ออง ซาน ซูจี มองไม่เห็นความเป็นจริงของ ถิ่น จอ

มองไม่เห็นความเป็นพรรคการเมือง มองไม่เห็นการสะสมบทเรียนและความจัดเจนในการต่อสู้อย่างยาวนานของพรรคการเมือง

เป็นความจริงที่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) มีบุคลากรอย่าง อองซาน ซูจี เป็นตัวชูโรงเป็นผู้นำ

แต่อย่าลืมว่าบิดาของ ถิ่น จอ เป็นใคร

แต่อย่าลืมว่าบิดาของ ซู ซูลวิน ภรรยาของ ถิ่น จอ ซึ่งเป็น ส.ส.และได้รับเลือกเป็นประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ เป็นใคร

คนเหล่านี้ล้วนมีส่วนร่วมในการก่อตั้งพรรค NLD

คนเหล่านี้มิได้อยู่ๆ ก็แหวกเมฆเข้ามาเสวยตำแหน่งเหมือนหยิบชิ้นปลามัน ตรงกันข้าม ได้ร่วมในการต่อสู้ทางการเมืองมาอย่างยาวนาน

บางคนมีประสบการณ์ร่วมกับ อองซาน บิดาของ ออง ซาน ซูจี ด้วยซ้ำ

การดำรงอยู่ของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) จึงมิได้เป็นการดำรงอยู่อย่างสบาย สบาย ตรงกันข้าม ล้วนฝ่าพงหนาม ฝ่าหยดน้ำตา ฝ่ารอยเลือด กระทั่งได้รับความเชื่อมั่น ได้รับความศรัทธาจากประชาชน

รูปธรรม คือ การเลือกตั้งปี พ.ศ.2531 ที่ได้รับเลือกเข้ามากว่าร้อยละ 80

รูปธรรม คือ การเลือกตั้งปี พ.ศ.2558 ที่ได้รับเลือกเข้ามากว่าร้อยละ 90

การดำรงอยู่ของ ออง ซาน ซูจี จึงมิได้เลื่อนลอย ไร้รากฐาน การดำรงอยู่ของ ถิ่น จอ จึงมิได้เลื่อนลอย ไร้รากฐาน

ประชาชนต่างหาก คือ ผนังทองแดง กำแพงเหล็ก

 

พลันที่ “ข้อมูล” อันเกี่ยวกับ ถิ่น จอ ปรากฏขึ้นอย่างอุดมสมบูรณ์และรอบด้านมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ

ท่าทีของ “สื่อ” ก็ค่อยๆ แปรเปลี่ยน จากที่เคยเน้นประเด็น “คนขับรถ” กลับเน้นประเด็นความเป็น “นักวิชาการ” ความเป็น “นักบริหาร” และนักการเมืองซึ่งทำงานเพื่อส่วนรวม

การศึกษา “ลักษณะเฉพาะ” อย่างเข้าใจ “ลักษณะทั่วไป” จึงมีความสำคัญ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image