การซื้อขายตำแหน่ง หลุมดำในวงการข้าราชการ โดย ผศ.รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร

ปรากฏการณ์การเผยแพร่ข้อความผ่านไลน์ เกี่ยวกับการซื้อขายตำแหน่งในวงการสีกากี ทำให้เกิดความสั่นสะเทือนในวงการข้าราชการ และสะท้อนให้เห็นว่าข้าราชการซึ่งได้ชื่อว่าเป็นบุคคลที่มีเกียรติ เข้ามาในวงการเพื่อรับใช้ประชาชน ปฏิบัติหน้าที่เพื่ออำนวยความสะดวกในภาระงานต่างๆ โดยได้รับค่าตอบแทนจากเงินภาษีของประชาชน

การเข้าสู่ตำแหน่งระดับต่างๆ ของข้าราชการ โดยปกติจะพิจารณาตามกฎระเบียบว่าด้วยความรู้ความสามารถเหมาะสมกับตำแหน่ง และที่สำคัญต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต ได้รับการยอมรับจากสมาชิกในองค์กร แต่ในทางกลับกัน ข้าราชการบางคนก็เหมือนกับมนุษย์ปุถุชนทั่วไปที่มีความต้องการในลักษณะที่หลากหลาย โดยเฉพาะความต้องการในการมีลาภมียศที่มีเกียรติทางสังคม

ข่าวสารการซื้อขายตำแหน่งในวงการข้าราชการไทยมีมานานวัน และยังไม่มีทีท่าว่าจะหมดไป ตราบใดที่ตำแหน่งโดยเฉพาะตำแหน่งผู้บริหารในระดับต่างๆ มีอยู่อย่างจำกัด ผู้ที่กระหายในลาภยศและตำแหน่งหน้าที่ (บางคน) จึงต้องมีการแสวงหาด้วยวิธีการต่างๆ โดยเฉพาะการซื้อและการขายจึงเกิดขึ้น

ผู้บริหารระดับสูงในวงการข้าราชการ เมื่อเข้าสู่ตำแหน่งในระยะหลัง สังคมมักจะมีการระแวงและตั้งข้อสังเกตว่าบุคคลผู้นั้นเข้ามาในตำแหน่งอันทรงเกียรติเป็นคนของใคร และจ่ายไปมากน้อยแค่ไหน แต่ถ้าข้าราชการคนใดมีประวัติการปฏิบัติหน้าที่ที่ดีงามมาอย่างต่อเนื่อง ซื่อสัตย์สุจริต เป็นที่ยอมรับ บุคคลผู้นั้นคือข้าราชการมืออาชีพอย่างแท้จริง

Advertisement

ข้าราชการกับความซื่อสัตย์สุจริตเป็นประเด็นที่สังคมยุคใหม่ต้องการ เพราะความซื่อสัตย์สุจริตจะเป็นภูมิคุ้มกันให้ข้าราชการสามารถปฏิบัติงานให้บรรลุตามเป้าประสงค์ ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ในการเปิดรับสมัครบุคคลเพื่อสอบบรรจุเข้ารับราชการในตำแหน่งต่างๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีมาตรการป้องกันการทุจริตของผู้เข้าสอบด้วยวิธีการที่แยบยล ตัวอย่างเช่น การสอบบรรจุครูในตำแหน่งครูผู้ช่วย การสอบตำแหน่งข้าราชการและพนักงานองค์กรปกครองท้องถิ่น เป็นต้น

การเข้าสู่ตำแหน่งในวาระแรกของข้าราชการ เมื่อมาด้วยการทุจริตหรือใช้เส้นสายเสียเงินเสียทอง บุคคลเหล่านี้ก็จะถอนทุนคืนในอนาคตและเมื่อสบโอกาส ซึ่งพฤติกรรมในลักษณะนี้ก็ยังอยู่ควบคู่กับแวดวงข้าราชการไทย และไม่มีทีท่าว่าจะหมดไป

ย้อนกลับมาถึงกรณีการเผยแพร่ข้อความผ่านไลน์ เกี่ยวกับการซื้อขายตำแหน่งในวงการสีกากี ที่บางคนบอกว่าในบางตำแหน่งต้องใช้เงินถึง 50 ล้านบาท ประเด็นนี้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อองค์กรดังกล่าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งองค์กรจะต้องเข้าไปชำระสะสางและทำให้สังคมประจักษ์ว่าเรื่องดังกล่าวมีมูลมากน้อยแค่ไหน ถ้าหากว่าเป็นจริงจะดำเนินการอย่างไร และถ้าเป็นเพียงข่าวโคมลอยก็ต้องใช้มาตรการทางกฎหมายกับผู้กล่าวหาที่นำความเสื่อมเสียมาให้กับองค์กร

อย่างไรก็ตาม กรณีการซื้อขายตำแหน่งในวงการสีกากีที่ปรากฏเป็นข่าวทั้งในที่แจ้งและที่ลับทั้งในอดีตและปัจจุบันนั้น หากมีการทำโพลสำรวจความคิดเห็นประชาชนกลุ่มตัวอย่าง ผลก็อาจจะทำให้เชื่อได้ว่าการซื้อขายในตำแหน่งอาจจะมีจริง แต่จะใช้เงินมากน้อยแค่ไหนไม่สามารถที่จะระบุได้ ซึ่งผู้ที่รู้อย่างแท้จริงคือผู้ซื้อและผู้ขาย

ย้อนกลับไประหว่างวันที่ 12-14 สิงหาคม 2552 สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิตได้สำรวจความคิดเห็นเรื่องตำรวจคิดอย่างไรกับการซื้อขายตำแหน่งในวงการตำรวจ กรณีศึกษาจากตัวอย่างเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดจำนวน 1,050 คน โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจส่วนใหญ่ร้อยละ 41.26 เห็นว่าการซื้อขายตำแหน่งเป็นเรื่องปกติของวงการตำรวจที่ปฏิบัติกันมานานแล้ว ร้อยละ 22.46 เห็นว่าควรหาพยานหรือหลักฐานการซื้อขายตำแหน่งเพื่อมาแสดงให้เห็นว่าเป็นเรื่องจริง ร้อยละ 15.90 เห็นว่าการซื้อขายตำแหน่งทำให้วงการตำรวจเสื่อมเสีย ตำรวจที่ดีจะได้รับผลกระทบด้วย ร้อยละ 13.47 เห็นว่าการซื้อขายตำแหน่งเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ไม่ยุติธรรม ไม่เป็นไปตามกฎระเบียบที่กำหนด และร้อยละ 6.91 เห็นว่าการซื้อขายตำแหน่งมีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

พร้อมกันนั้นโพลดังกล่าวยังระบุว่า เรื่องซื้อขายตำแหน่งของวงการตำรวจนั้น ตำรวจส่วนใหญ่ร้อยละ 48.60 เชื่อว่ามีการซื้อขายตำแหน่งในวงการตำรวจจริง เพราะหวังในความก้าวหน้าในอาชีพ และเป็นเรื่องผลประโยชน์ที่มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ร้อยละ 39.29 ยังไม่แน่ใจว่าจะมีการซื้อขายตำแหน่งจริง เนื่องจากข่าวดังกล่าวมีมานานแล้ว และอาจจะเป็นการปล่อยข่าวเพื่อทำลายภาพพจน์วงการตำรวจ หรือความขัดแย้งส่วนตัวได้ และร้อยละ 12.11 ไม่เชื่อว่าจะมีการขายตำแหน่งกัน เพราะยังไม่เคยพบเห็นมาก่อนตั้งแต่อยู่ในวงการตำรวจมา

สำหรับแนวทางแก้ไข ตำรวจร้อยละ 35.37 เห็นว่าควรตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเพื่อหาข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว ร้อยละ 22.81 เห็นว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติควรออกมาชี้แจงและอธิบายถึงข่าวการซื้อขายตำแหน่งอย่างตรงไปตรงมา ร้อยละ 17.36 เห็นว่าการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายควรเป็นไปตามขั้นตอน โปร่งใส ตรวจสอบได้ ร้อยละ 16.27 เห็นว่าควรปลูกฝังตำรวจรุ่นใหม่ให้รู้จักรักศักดิ์ศรีของตนเอง และร้อยละ 8.19 เห็นว่าการประชาสัมพันธ์ผลงานตำรวจและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของตำรวจให้กลับคืนมา

จากการที่มีการกล่าวหาว่า มีการซื้อขายตำแหน่งในวงการสีกากีโดยมี พล.อ.เกี่ยวข้อง กลับมีเรื่องที่น่ายินดีที่ผู้บริหารประเทศโดยเฉพาะรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวโดยยืนยันว่า “ถ้าผมยังอยู่ ไม่มีการซื้อขายตำแหน่ง แต่อาจจะมีพวกตกเบ็ดฝากคนนั้นคนนี้ได้ คนที่เชื่อก็ซวยไป”

วันนี้ประเทศไทยภายใต้การบริหารประเทศโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เดินหน้าในการปฏิรูปประเทศ ซึ่งในการปฏิรูปนั้นระบบราชการเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของการที่รัฐบาลจะต้องเดินหน้าปฏิรูปให้เป็นรูปธรรม ที่สำคัญจะทำอย่างไรที่จะไม่ให้การเมืองเข้ามาแทรกแซงในการบริหารราชการ ก็เป็นอีกหนึ่งโจทย์ที่จะต้องทบทวนในการแสวงหาแนวทางและวางมาตรการเพื่อเป็นบรรทัดฐานสำหรับระบบราชการไทย แต่อย่างไรก็ตาม เท่าที่ผู้เขียนได้ศึกษาการปฏิรูประบบราชการในอดีต ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตลอดจนภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รัฐบาลในอดีตล้วนแล้วแต่มีแผนยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนว่าด้วยการปฏิรูป แต่เป็นที่น่าสนใจว่า เมื่อสภาพการณ์ทางสังคมมีการเปลี่ยนแปลง ปัญหาและอุปสรรคที่มีต่อการปฎิรูปย่อมจะปรากฏให้เห็น

ปัจจัยที่เป็นอุปสรรค นักวิชาการทางด้านการบริหารการพัฒนา ดร.อลงกต วรกี ได้ศึกษาพบว่า 1.การขาดความต่อเนื่องของเจตนารมณ์ทางการเมือง (Political Will) เนื่องจากรัฐบาลเป็นรัฐบาลผสม ทำให้ขาดเสถียรภาพ มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลบ่อยครั้ง โดยเฉพาะในช่วงปี พ.ศ.2531-2540 มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลถึง 8 รัฐบาล และทุกครั้งที่มีรัฐบาลใหม่ภารกิจแรกๆ ที่ดำเนินการคือการแก้ปัญหาต่างๆ ที่สืบเนื่องมาจากรัฐบาลชุดก่อนที่เป็นปัญหาเฉพาะหน้าและเป็นปัญหาระยะสั้น 2.การต่อต้านการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงจากข้าราชการระดับสูงและนักการเมือง (Strong Resistance to Change) เนื่องจากการปฏิรูประบบราชการจะมีการนำกระบวนทัศน์ใหม่ ในการบริหารมักเน้นการมอบอำนาจ การกระจายอำนาจ การเป็นประชาธิปไตย การลดกฎระเบียบและการควบคุมของภาคราชการ และการลดหน่วยงานและกำลังข้าราชการ ซึ่งส่งผลกระทบต่อข้าราชการระดับสูง สถานภาพหรือประโยชน์ที่เคยได้มาก่อนในบางกรณี พร้อมกันนั้น นักการเมืองก็เข้ามามีส่วนร่วมในการต่อต้าน เพราะการปฏิรูประบบราชการในบางกรณีจะทำให้เสียคะแนนนิยมจากกลุ่มบุคคลที่เป็นหัวคะแนน

เพื่อเป็นการรักษาไว้ซึ่งเกียรติและศักดิ์ศรีของข้าราชการไทยที่ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการที่ดี ปฏิบัติหน้าที่เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชนจนเป็นที่พึงพอใจ แต่เมื่อในสังคมข้าราชการมีบางคน บางกลุ่ม ยังมีพฤติกรรมที่นำมาซึ่งความเสื่อมเสีย คงจะถึงเวลาที่ผู้บริหารทุกระดับโดยเฉพาะรัฐบาลจะต้องเร่งดำเนินการเดินหน้าประเทศไทยเพื่อการปฏิรูประบบราชการให้เป็นรูปธรรมอย่างครบวงจร และหากปฏิรูปสำเร็จตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ จะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนตลอดไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image