สเปกของลูกจ้าง โดย : นิธิ เอียวศรีวงศ์

เนื่องจากเคยทำงานในมหาวิทยาลัยมานาน จึงได้ยินข้อเรียกร้องของนักธุรกิจนายทุนว่า มหาวิทยาลัยควรผลิตคนให้เหมาะแก่การที่พวกเขาจะเอาไปใช้งานได้ บัดนี้จากมหาวิทยาลัยมาเกือบสองทศวรรษแล้ว ก็ยังได้ยินเหมือนเก่าอยู่นั่นเอง

รัฐบาลไทย โดยเฉพาะรัฐบาลทหาร ยังรับฟังข้อเรียกร้องนี้ดังเดิม และในฐานะผู้กำกับควบคุม ก็มักจะหันมากำชับให้มหาวิทยาลัยทำตาม มหาวิทยาลัยเองก็พยายามทำตาม มากบ้างน้อยบ้าง บางแห่งถึงกับไปเชิญตัวแทนหอการค้าหรือนักธุรกิจใหญ่มาช่วยร่างหลักสูตรเลยก็มี

นักธุรกิจนายทุนเหล่านี้เรียกร้องในฐานะอะไร? ผมเห็นว่ามีได้เพียงสองอย่าง หนึ่งคือผู้เสียภาษี และสองผู้จ้างงาน

ในฐานะผู้เสียภาษี พวกเขามีสิทธิสมบูรณ์ที่จะเรียกร้องมหาวิทยาลัยว่าเขาต้องการอะไร เพราะมหาวิทยาลัยเป็นหน่วยงานสาธารณะและได้รับเงินอุดหนุนงบประมาณจากรัฐ โดยตรงบ้าง โดยอ้อมบ้าง ฉะนั้นอย่างไรก็ต้องฟังเสียงเรียกร้องจากผู้เสียภาษี ไม่ว่าเขาจะเป็นใครก็ตาม

Advertisement

แต่นักธุรกิจนายทุนไม่ใช่ผู้เสียภาษีเพียงกลุ่มเดียวในสังคมไทย คนไทยทุกคนล้วนต้องเสียภาษีบำรุงรัฐทั้งสิ้น ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ส่วนใหญ่เสียภาษีเป็นสัดส่วนที่สูงมากของรายได้ตนเองเสียยิ่งกว่านักธุรกิจนายทุนด้วยซ้ำ ดังนั้น ข้อเรียกร้องของนักธุรกิจนายทุนจึงไม่ใช่ข้อเรียกร้องที่ชอบธรรมอยู่อย่างเดียว หรือฝ่ายเดียว นักธุรกิจเอสเอ็มอีอยากได้ความช่วยเหลือทางวิชาการจากมหาวิทยาลัยมานานแล้ว นับตั้งแต่การออกแบบหีบห่อขึ้นไปถึงการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม การสำรวจตลาดที่เหมาะสมแก่ทุนของเขา ฯลฯ

ยิ่งถ้าคิดถึงคนส่วนใหญ่ของสังคมไทย ซึ่งไม่เคยเรียกร้องอะไรจากมหาวิทยาลัยเลย ก็ควรได้รับบริการจากมหาวิทยาลัยเหมือนกันไม่ใช่หรือ แม้ว่าเขาไม่มีทุนส่งลูกหลานเรียนถึงระดับมหาวิทยาลัยได้ก็ตาม มหาวิทยาลัยอาจอ้างว่า ก็เพราะพวกเขาไม่เคยเรียกร้องอะไรเลย มหาวิทยาลัยจึงไม่รู้ว่าจะตอบสนองอะไรต่อเขาได้

Advertisement

หากมหาวิทยาลัยไม่ได้คิดว่าตนเป็นแต่เพียงเด็กขายของหน้าร้าน ไม่ใช่หน้าที่ของมหาวิทยาลัยหรอกหรือ ที่จะศึกษาเรียนรู้ว่าเทคโนโลยีอะไร, การจัดการทางสังคม-เศรษฐกิจ-การเมืองอย่างไร จึงจะเอื้อต่อความมั่นคงในชีวิตของคนเหล่านี้ที่สุด ทดลองด้วยการวิจัยเชิงปฏิบัติ จนสามารถนำความรู้ที่ค้นพบไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่เขาได้กว้างขวาง

โดยสรุปก็คือ นักธุรกิจนายทุนมีสิทธิและความชอบธรรมเต็มเปี่ยมในฐานะผู้เสียภาษี ที่พึงบอกความประสงค์ของตนแก่มหาวิทยาลัย แต่ควรตระหนักด้วยว่า ข้อเรียกร้องของตนนั้นเป็นเพียงหนึ่งในร้อยในพันของข้อเรียกร้องที่ผู้เสียภาษีกลุ่มอื่นพึงมีต่อมหาวิทยาลัยเช่นกัน ในขณะที่มหาวิทยาลัยพึงตระหนักอย่างเดียวกัน และหาทางตอบสนองโดยประสานข้อเรียกร้องของคนกลุ่มต่างๆ ให้สอดรับกับภารกิจของมหาวิทยาลัย ซึ่งก็คือการแสวงหาและสร้างสรรค์ความรู้ใหม่

ในฐานะของผู้จ้างงาน ดูเหมือนนักธุรกิจนายทุนจะอยู่ในลำดับแรกๆ ของผู้มีสิทธิเรียกร้องจากมหาวิทยาลัย เพราะเขาคือผู้จ้างงานบัณฑิต อาจจะสูงสุด แต่มหาวิทยาลัยไม่ใช่ผู้ผลิตสินค้าป้อนตลาด ที่จะเอาตลาดเป็นเป้าหมายของการผลิตเพียงอย่างเดียว ไม่ใช่ว่าตลาดจะไม่สำคัญเสียเลย ตลาดมีความสำคัญแน่ แต่จะต้องวางความสัมพันธ์กับตลาดอย่างไร จึงจะทำให้มหาวิทยาลัยทำหน้าที่ของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และตลาดได้ประโยชน์จากการทำหน้าที่ของมหาวิทยาลัยไปพร้อมกัน

ย้อนกลับไปดูกำเนิดของมหาวิทยาลัยไทย ปฏิเสธไม่ได้ว่า มหาวิทยาลัยเก่า (ที่เกิดก่อน พ.ศ.2504) ล้วนถูกจัดสร้างขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการอย่างชัดเจนของตลาด (ราชการ) ทั้งสิ้น ยกเว้นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ซึ่งมี “ตลาด” ที่ค่อนข้างเป็นนามธรรมสักหน่อย นั่นคืออาชีพและความสามารถต่างๆ ที่จำเป็นในสังคมประชาธิปไตย ดังนั้น จึงไม่แปลกที่มหาวิทยาลัยไทยค่อนข้างโน้มเอียงไปทางตอบสนองตลาดงานจ้าง ไม่เว้นแม้แต่มหาวิทยาลัยที่เกิดใหม่ เพราะต่างถือมหาวิทยาลัยเก่าเป็นบรรทัดฐาน

แต่มีอันตรายต่อทั้งมหาวิทยาลัยและตลาด หากมหาวิทยาลัยถือเอาตลาดเป็นเข็มทิศในการดำเนินงาน เพราะวิชาความรู้ที่มหาวิทยาลัยสร้างสรรค์ขึ้นหรือสอนแก่ศิษย์ ย่อมไม่มีวันก้าวหน้าไปกว่าตลาดได้ และเพราะความล้าหลังของมหาวิทยาลัย ตลาดย่อมไม่มีแรงจูงใจจะพัฒนาการดำเนินงานของตน ไม่ว่าจะเป็นด้านเทคโนโลยี, การจัดการ, การจัดการโรงงานและแรงงาน ฯลฯ

ต่างฝ่ายต่างวนเวียนกันสร้างความล้าหลังให้อีกฝ่ายหนึ่งไปอย่างไม่มีวันสิ้นสุด

อันที่จริงกิจการของนักธุรกิจนายทุนนั้น ควรมีการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ทั้งกิจการก็มีลักษณะเฉพาะ ซึ่งแตกต่างกันในแต่ละกิจการ ล้วนต้องเรียนรู้ ทั้งการแก้ไขปรับปรุงงานที่ทำ ก็ต้องเรียนรู้ ดังนั้นจึงไม่มีสถาบันการศึกษาใดจะสามารถผลิตแรงงานทักษะสูงที่ตรงสเปกได้หรอก คุณสมบัติอย่างเดียวที่เหมาะแก่กิจการของนักธุรกิจนายทุนคือคนที่เรียนรู้เป็น และขยับจากความรู้ที่มีอยู่ขึ้นไปสู่ระดับที่เหมาะแก่งานเป็น เสียงบ่นของนายทุนด้านการท่องเที่ยวที่ว่า จบบัณฑิตด้านการท่องเที่ยวจากมหาวิทยาลัยแล้วยังปูที่นอนไม่เป็น คือเสียงบ่นของนายทุนที่ไม่ก้าวไกลไปกว่าการขายกล้วยแขก ถึงปูที่นอนไม่เป็น แต่หากจำเป็นบัณฑิตควรเรียนรู้ทำให้เป็นได้ด้วยตนเองต่างหาก ที่เป็นคุณสมบัติอันพึงประสงค์แท้จริง

ทั้งหมดนี้แสดงว่า หากนักธุรกิจนายทุนแต่ละรายเรียกร้องทักษะเพื่องานเฉพาะของตนเองจากบัณฑิต ก็จะมีทักษะที่แตกต่างกันเป็นพันเป็นหมื่นชนิด ซึ่งไม่มีมหาวิทยาลัยอะไรตอบสนองให้ได้

ในประเทศมั่งคั่ง ตลาดใหญ่ของมหาวิทยาลัยก็คือกิจการของนักธุรกิจนายทุนเหมือนกัน แต่ไม่มีใครเรียกร้องทักษะเฉพาะงานจากบัณฑิต กลับปล่อยให้พลังตลาดทำงานของมันเอง พูดง่ายๆ คือจ่ายเงินเดือนและความมั่นคงให้แก่คนที่คุณอยากได้สูงๆ คนประเภทนั้นก็จะหลั่งไหลเข้ามาสมัครงานกับคุณเอง เลือกเอาหัวกะทิไปตามใจชอบ

พลังตลาดทำให้นักศึกษาแต่ละคนเร่งสะสมทักษะที่ตลาดต้องการเอง โดยนักธุรกิจนายทุนไม่ต้องเรียกร้องอะไรจากมหาวิทยาลัยโดยตรงเลย แต่พลังตลาดก็อาจมีโทษแก่สังคมได้ด้วย เช่นในช่วงที่ธุรกิจการเงินกำลังขยายตัวและทำกำไรสูง ใครที่มีทักษะในการสร้างแบบจำลอง (model) ทางคณิตศาสตร์ ก็จะหลั่งไหลเข้าสู่ธุรกิจการเงิน เพื่อคำนวณความน่าจะเป็นของค่าเงินบ้าง หรือผลกำไรของตราสารอนุพันธ์ต่างๆ บ้าง ในช่วงนั้นเราเสียวิศวกร, แพทย์ และนักฟิสิกส์ไปให้แก่ธุรกิจการเงินจำนวนมาก

แต่ธุรกิจและทุนในประเทศมั่งคั่งให้การสนับสนุนแก่มหาวิทยาลัยมากกว่าธุรกิจและทุนไทยหลายเท่า (ไม่ได้นับจากตัวเงิน แต่นับจากสัดส่วนในจีดีพี) เขาจะบริจาคเพราะความใจดีหรือเพราะเหตุอื่น ขอไม่พูดถึง แต่ขอพูดถึงสิ่งที่เขาได้เป็นการตอบแทน ไม่นับเกียรติยศทางสังคมแล้ว สิ่งที่เขาได้คืนมาก็คือความรู้ที่มหาวิทยาลัยมอบกลับคืนมา

ความรู้ดังกล่าวนั้นมีสองอย่าง หนึ่งคือความรู้ที่เป็นการลงทุนด้าน R&D (วิจัยและพัฒนา) ของบรรษัทโดยตรง เงินจำนวนมาก-ที่ไหลเข้ามหาวิทยาลัย มาจากเงินประเภทนี้ของบรรษัท (ซึ่งก็อาจมีข้อเสียแก่สังคมด้วย เพราะมักจะปิดลับ ไม่ใช่ความรู้ที่เป็นสาธารณะจริง) นอกจากลงทุนกับมหาวิทยาลัยแล้ว บริษัทห้างร้านยังลงทุนมีห้องแล็บของตนเอง มีนักวิจัยของตนเอง รวมทั้งอาศัยทุนด้านการวิจัยและพัฒนาซึ่งรัฐสนับสนุนอยู่ทางตรงหรือทางอ้อม ทำให้ตลาดงานจ้างต้องการทักษะที่มีความหลากหลายมากขึ้น

ประโยชน์ทางตรงที่บรรษัทขนาดใหญ่ได้รับจากการสร้างสรรค์ความรู้ ทั้งผ่านมหาวิทยาลัยและทำเอง คือกำไรที่เพิ่มขึ้น แต่ก็มีประโยชน์ทางอ้อมแก่สังคมด้วย เพราะมีการไหลถ่ายเทของนักวิชาการและความรู้ใหม่ระหว่างห้องแล็บของบรรษัทกับมหาวิทยาลัยอยู่ตลอดเวลา ทำให้มหาวิทยาลัยมีความฉับไวต่อความรู้ใหม่ที่เกิดภายนอก นำไปสู่ความก้าวหน้าในการสร้างสรรค์ความรู้ของมหาวิทยาลัยเอง ซึ่งก็จะมีผลย้อนกลับไปสู่ความก้าวหน้าในการผลิตของสังคม

บริษัทห้างร้านในเมืองไทยไม่บริจาคแก่มหาวิทยาลัยในแง่นี้เอาเลย ยกเว้นการวิจัยผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งทั้งนายทุนและมหาวิทยาลัยต่างไม่ต้องการความรู้มากไปกว่าการอนุมัติของราชการ (น่าประหลาดไหม เราทำวิจัยประเภทนี้มาหลายสิบปีแล้ว แต่นักวิจัยไทยไม่เคยพบอะไรใหม่จากงานวิจัย ไม่ว่าจะเป็นมิติใหม่ของผลกระทบ, ดรรชนีวัดใหม่, วิธีเก็บข้อมูลใหม่ ฯลฯ เลย) ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะธุรกิจและทุนในประเทศไทยยังอยู่ในระดับรับจ้างทำของ จึงไม่ต้องการความรู้ใหม่ทางด้านใด

แตกต่างจากการขายขนมครก ซึ่งเป็นการผลิตป้อนตลาดโดยตรง ในระยะหลายทศวรรษที่ผ่านมา ปฏิเสธไม่ได้ว่าเกิดนวัตกรรมใหม่ในกิจการขายขนมครกสูงมาก นับตั้งแต่การผลิต, การบรรจุกล่อง ไปจนถึงการตลาด

ไม่มีการผลิตอะไรในระบบทุนนิยมที่ไม่ต้องการความรู้ใหม่หรอก เพียงแต่นักธุรกิจนายทุนไทยมี “กึ๋น” พอหรือไม่ต่างหาก พูดอย่างนี้อาจไม่เป็นธรรมแก่นักธุรกิจนายทุนไทยนัก เพราะที่จริงแล้ว นโยบายส่งเสริมธุรกิจและทุนของไทยนับตั้งแต่เริ่มการพัฒนามาจนถึงปัจจุบัน ล้วนสร้างเงื่อนไขให้ธุรกิจและทุนไม่ต้องแสวงหาความรู้ใหม่ ต่างได้รับการสนับสนุนปกป้องทั้งทางเปิดเผยและทางลับจากรัฐตลอดมา จึงไม่มีเงื่อนไขให้ต้องใช้ “กึ๋น” มากไปกว่าที่ใช้อยู่ ดังนั้น ไม่ว่าใครเป็นนักธุรกิจนายทุนไทย ก็ล้วนไม่จำเป็นต้องมี “กึ๋น” ทั้งสิ้น แต่ทุ่มเท “กึ๋น” ที่ยังไม่พัฒนาของตน ไปชักใยการเมืองเบื้องหลัง อันจะทำกำไรได้มากกว่ากันแยะ

เรื่องนี้อาจเกี่ยวข้องโดยตรงกับคติการสร้างสรรค์ความรู้ ที่นักธุรกิจนายทุนไทย, รัฐบาลไทย และแม้แต่มหาวิทยาลัยไทยชอบพูดถึงอยู่เสมอ นั่นคืองานวิจัยที่มหาวิทยาลัยควรทำคืองานวิจัยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ไม่ใช่งานวิจัยไว้เพื่อขึ้นหิ้ง

ความรู้ที่นำไปใช้ประโยชน์ด้านการผลิตเกือบทั้งหมด นับตั้งแต่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรมจนถึงปัจจุบัน ล้วนงอกออกมาจากความรู้ขึ้นหิ้ง ซึ่งผู้ศึกษาวิจัยไม่ได้คิดว่าจะนำไปใช้ทำอะไรทั้งสิ้น นักวิทยาศาสตร์ฝรั่งเศสสามารถคำนวณหาแรงดันของไอน้ำได้ ตั้งแต่ก่อนที่จะมีเครื่องจักรไอน้ำใช้ในฝรั่งเศส อังกฤษคิดเครื่องจักรไอน้ำขึ้นโดยไม่มีความรู้เรื่องนี้ จึงเกิดการระเบิดในเหมืองถ่านหินและเหมืองเหล็กอยู่เสมอ จนเมื่ออังกฤษได้พบความรู้เรื่องแรงดันของไอน้ำที่ฝรั่งเศสค้นพบมาก่อน จึงสามารถสร้างเครื่องจักรไอน้ำที่ปลอดภัยได้

ญี่ปุ่นเป็นเจ้าแรกที่ผลิตวิทยุทรานซิสเตอร์ซึ่งราคาถูกพอที่คนจำนวนมากอาจซื้อไปครอบครองได้ แต่ญี่ปุ่นไม่ได้เป็นผู้ค้นพบทรานซิสเตอร์ ฝรั่งในมหาวิทยาลัยอเมริกันเป็นคนคิดขึ้นก่อน เป็นความรู้บนหิ้งที่ไม่อาจเอาไปใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวางได้ แต่ในปัจจุบัน เราจะมีชีวิตอยู่โดยไม่มีทรานซิสเตอร์ได้หรือ

ผมอยากจะพูดว่า ไม่มีใครในโลกนี้ ไม่ว่าจะฉลาดล้ำลึกสักเพียงใด (อย่าพูดถึงผู้นำเผด็จการทหารของไทยเช่นจอมพลถนอม กิตติขจร เลย) จะสามารถบอกได้ว่าความรู้บนหิ้งใดที่ไม่มีประโยชน์ใช้สอยเลย การคิดความรู้ขึ้นหิ้งก็เป็นการสร้างสรรค์ความรู้อย่างหนึ่ง การคิดหาประโยชน์ใช้สอยจากความรู้ขึ้นหิ้งก็เป็นการสร้างสรรค์ความรู้อีกอย่างหนึ่ง และทั้งสองอย่างล้วนอาศัยภูมิปัญญาของมวลมนุษยชาติ ซึ่งล้ำลึกเสียยิ่งกว่ามนุษย์คนหนึ่งคนใดจะหยั่งถึง

ถ้าเรารู้จักวัฒนธรรมของคนอีสานดีกว่านี้ การจัดการด้านแรงงานของเราก็น่าจะมีประสิทธิภาพกว่านี้ด้วย

ปัญหาจึงกลับมาอยู่ที่ “กึ๋น” อีก นักธุรกิจนายทุนไทย, รัฐบาลไทย และมหาวิทยาลัยไทย มีกึ๋นพอจะใช้ประโยชน์จากความรู้บนหิ้งหรือไม่ต่างหาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image