มาตรการป้องกันและควบคุมอาชญากรรม ในเชิงปรัชญาอาชญาวิทยา : โดย ดร.อุทิศ สุภาพ

1.ความเป็นมาเกี่ยวกับการป้องกันในเชิงปรัชญาอาชญาวิทยา

ปรัชญาอาชญาวิทยาเป็นองค์ความรู้ที่กล่าวถึงเรื่องอาชญากรรม สาเหตุของการเกิดอาชญากรรม การป้องกันอาชญากรรม และการปฏิบัติต่อผู้กระทำความผิด รวมถึงการลงโทษด้วย โดยอาศัยหลักวิชาในสาขาต่างๆ มาผสมผสานในการวิเคราะห์สังเคราะห์อธิบายปัญหาต่างๆ อย่างมีเหตุผลและเป็นระบบเชื่อมโยงกัน

สำหรับการเกิดอาชญากรรมนั้น นักอาชญาวิทยาเชื่อกันว่าอาชญากรรมเป็นปรากฏการณ์ตามธรรมชาติอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นในสังคม ดังนั้นจึงห้ามไม่ให้เกิดขึ้นเสียเลยไม่ได้ แต่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดมากจนเกินไปได้ และเชื่อว่าการเกิดอาชญากรรมจะต้องมีสาเหตุที่ทำให้เกิดอาชญากรรมโดยเชื่อกันว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนกระทำผิดได้แก่ Free will (เจตจำนงอิสระที่มีติดตัวมาทุกคน) และสาเหตุเกี่ยวกับร่างกายและจิตใจบกพร่อง

รวมทั้งปัจจัยเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม สังคมชักนำ ซึ่งถ้าหากกำจัดสาเหตุดังกล่าวออกไปแล้ว ก็จะไม่ทำให้อาชญากรรมเกิดขึ้น

Advertisement

ดังนั้นในทางอาชญาวิทยาจึงทำการวิเคราะห์สังเคราะห์หามาตรการป้องกันอาชญากรรมโดยอาศัยสาเหตุเป็นตัวกำหนด และเชื่อว่าคนเราจะไม่แสดง Free will ออกมาก็ต่อเมื่อมีความรู้สึกว่าเกิดผลเสียหรือเกิดความเจ็บปวดมากกว่าประโยชน์ที่ได้รับ เพราะธรรมชาติของมนุษย์ทุกคนจะชอบความสนุกเพลิดเพลินและหนีความเจ็บปวดทุกข์ทรมาน

ดังนั้นสิ่งที่จะทำให้เกิดความเจ็บปวดทุกข์ทรมานได้ก็คือกฎหมายอาญา เพราะกฎหมายอาญามีโทษทางอาญาที่ทำให้เกิดความทุกข์ทรมานซึ่งอาจทำให้เกรงกลัวได้ จึงเกิดแนวความคิดทางอาชญาวิทยาว่า มาตรการทางกฎหมายนั้นสามารถป้องกันอาชญากรรมได้ และประเทศต่างๆ ทั่วโลกยอมรับแนวคิดดังกล่าว โดยออกกฎหมายมาใช้ในการป้องกันอาชญากรรมกันโดยทั่วไปและเรียกกันว่า การป้องกันอาชญากรรมแบบเป็นทางการ (Formal)

ส่วนปัจจัยที่ทำให้เกิดอาชญากรรมที่เกี่ยวกับสาเหตุทางร่างกายและจิตใจบกพร่องนั้น แนวคิดทางอาชญาวิทยาเชื่อว่าจะต้องบำบัดฟื้นฟูให้สาเหตุที่บกพร่องนั้นหมดไป จึงจะทำให้คนเป็นปกติ ไม่ทำผิดขึ้น ดังนั้นการป้องกันก็จะต้องมีการรักษาเยียวยาให้สภาพร่างกายและจิตใจเป็นปกติ หายจากความบกพร่อง เช่น กรณีคนติดยาเสพติดให้โทษถือว่าเป็นผู้ป่วย ดังนั้นก็จะต้องบำบัดรักษาให้สารที่อยู่ในร่างกายหมดไปจึงจะทำให้ไม่หวนกลับไปเสพยาเสพติดให้โทษขึ้นอีก หรือถ้าสภาพร่างกายมีฮอร์โมนมากหรือน้อยเกินไป ซึ่งจะทำให้อารมณ์แปรปรวนและทำผิดได้ การรักษาก็ควรจะต้องหาแพทย์เพื่อปรับฮอร์โมนให้เกิดความสมดุล อารมณ์ก็จะไม่แปรปรวน กลับคืนปกติได้ หรือถ้ามีสภาพจิตไม่ปกติก็ควรปรึกษาจิตแพทย์เพื่อบำบัดรักษาให้เป็นปกติเช่นกัน เมื่อสภาพร่างกายและจิตใจปกติ คนเราก็จะไม่ทำความผิดต่อไป

Advertisement

สำหรับปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมสังคมที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดอาชญากรรมนั้น ในทางอาชญาวิทยามีทฤษฎีที่อธิบายไว้มากมายโดยเชื่อกันว่า สังคมสิ่งแวดล้อมเป็นสาเหตุที่ทำให้คนกระทำความผิด เช่น การเลียนแบบ การตราหน้า หรือการคบค้าสมาคม เป็นต้น การป้องกันอาชญากรรมก็ต้องกำจัดสาเหตุให้หมดไป โดยอาศัยกระบวนการหรือมาตรการทางสังคม (Social Control) มาเป็นเครื่องมือในการป้องกันอาชญากรรม ซึ่งเรียกกันว่า การป้องกันอาชญากรรมแบบไม่เป็นทางการ (Informal)

ด้วยเหตุดังกล่าว ในทางอาชญาวิทยาจึงได้สังเคราะห์ (Systhesis) หามาตรการป้องกันอาชญากรรมโดยได้อาศัยการวิเคราะห์จากสาเหตุการเกิดอาชญากรรมดังที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งได้มาตรการป้องกันอาชญากรรมเป็น 2 รูปแบบด้วยกัน ได้แก่ รูปแบบไม่เป็นทางการและรูปแบบเป็นทางการ โดยจะกล่าวรายละเอียดเป็นลำดับไปในหัวข้อต่อไปนี้

2.มาตรการในการป้องกันและควบคุมอาชญากรรมที่สำคัญ มี 2 แบบ 1 คือ

(1) มาตรการป้องกันและควบคุมอาชญากรรมอย่างไม่เป็นทางการ : เป็นมาตรการทางสังคม โดยอาศัย

กระบวนการและปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในสังคมเป็นเครื่องมือในการป้องกันและควบคุมอาชญากรรม เช่น การใช้ขนบธรรมเนียม ประเพณี ศีลธรรม วัฒนธรรม จารีตประเพณี หรือระเบียบแบบแผนที่ยึดถือติดต่อกันมาช้านานเป็นแนวปฏิบัติ หากฝ่าฝืนก็จะถูกสังคมตำหนิติเตียนนินทาหรือถูกสังคมลงโทษ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังใช้สถาบันทางสังคมมาช่วยในการขัดเกลาจิตใจและพฤติกรรม รวมทั้งปลูกจิตสำนึกให้อยู่ในกรอบและกฎเกณฑ์ทางสังคมอีกด้วย เช่น สถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา สถาบันศาสนา เป็นต้น ซึ่งมาตรการทางสังคมนี้จะต้องอาศัยปัจจัยต่างๆ หลายๆ แนวทางมาผสมผสานซึ่งกันและกัน เพื่อปรับสภาพสิ่งแวดล้อมในสังคมให้เหมาะสมเกิดความสมดุลมีความสงบเรียบร้อย โดยทั้งนี้ต้องอาศัยมาตรการต่างๆ ในด้านอื่นมาเสริมอีก เช่น มาตรการป้องกันและควบคุมอาชญากรรมโดยใช้การนันทนาการหรือมาตรการป้องกันและควบคุมอาชญากรรมโดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือช่วยเสริม เช่น การใช้กล้องวงจรปิด หรือใช้นิติวิทยาศาสตร์มาช่วยเสริม หรืออาจใช้มาตรการป้องกันและควบคุมอาชญากรรมไม่ให้ตกเป็นเหยื่อโดยการตัดช่องโอกาสมาช่วยเสริมอีก เป็นต้น

เมื่อสภาพสิ่งแวดล้อมในสังคมดี สมาชิกในสังคมส่วนใหญ่ก็จะประพฤติดีไปด้วย อันจะทำให้ลดอาชญากรรมลงได้

(2) มาตรการป้องกันและควบคุมอาชญากรรมอย่างเป็นทางการ : เป็นมาตรการที่อาศัยกฎหมายเป็นเครื่องมือในการป้องกันและควบคุมอาชญากรรม โดยใช้ระบบงานยุติธรรม อันประกอบด้วยหน่วยงานหลักที่สำคัญ คือ ตำรวจ อัยการ ศาล ราชทัณฑ์ กรมคุมประพฤติ เป็นผู้บังคับใช้กฎหมายให้เกิดประสิทธิภาพ โดยมีแนวคิดปรัชญาในการทำงานมุ่งต่อการลงโทษ มุ่งต่อการปรับปรุงแก้ไข และมุ่งต่อการให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขผู้กระทำผิดในชุมชน ทั้งนี้โดยคำนึงถึงหลัก Crime Control และหลัก Due Process มาประกอบกันด้วย

สำหรับแนวทางในการบังคับใช้กฎหมายให้เกิดประสิทธิภาพนั้น ประกอบด้วยปัจจัยหลายแนวทางประกอบกัน ดังนี้

1.เนื้อหาของกฎหมายต้องมีความรัดกุม ชัดเจน ทันสมัย และมีบทกำหนดโทษที่สูงเพียงพอ ไม่ต่ำเกินไปด้วย กล่าวคือ กฎหมายจะต้องมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปตามสังคมและมีเนื้อหาองค์ประกอบที่สมบูรณ์และชัดเจน หากมีเนื้อหาคลุมเครือก็อาจทำให้เกิดช่องว่างทำให้ผู้กระทำผิดนำมาเป็นข้ออ้างในการต่อสู้คดีได้ ศาลอาจจำต้องปล่อยผู้กระทำผิดไป ทำให้กฎหมายขาดความศักดิ์สิทธิ์ไปด้วย เช่น ปัจจุบันมีอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์เกิดขึ้น กฎหมายก็จะต้องมีการพัฒนาตามโดยออกพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์มาควบคุมโดยเฉพาะ ทั้งนี้เนื่องจากประมวลกฎหมายอาญาไม่อาจนำมาบังคับใช้ได้โดยตรง ดังเช่นกรณีการลักกระแสไฟฟ้า เป็นต้น นอกจากนี้โทษทางอาญาก็ต้องมีการปรับปรุงให้ทันสมัย สอดคล้องกับภาวะการณ์ในปัจจุบันด้วย เช่นโทษปรับควรจะมีการแก้ไข ปรับปรุงให้สูงขึ้นเพื่อให้เหมาะสมกับเศรษฐกิจสังคมที่เปลี่ยนไปด้วย

2.หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ได้แก่ ตำรวจ อัยการ ศาล ราชทัณฑ์ จะต้องประสานงานกันในการที่จะทำให้การบังคับใช้ตามกฎหมายเป็นไปด้วยความแน่นอน รวดเร็ว เสมอภาค และมีการลงโทษที่เหมาะสมด้วย ซึ่งจะทำให้ผู้กระทำผิดเกรงกลัวไม่กล้าเสี่ยงที่จะกระทำผิดขึ้นอีก หรือทำให้ผู้อื่นไม่กล้าเอาเยี่ยงอย่างด้วย

สำหรับการบังคับใช้กฎหมายมีความแน่นอนนั้น คือการจับกุมผู้กระทำผิดให้ได้มากที่สุด โดยให้มีการหลุดรอดไปน้อยที่สุด ส่วนความรวดเร็วก็คือ การจับกุมผู้กระทำผิดมาลงโทษให้เร็วที่สุดเพื่อจะได้ไม่ให้คนลืม และสำหรับความเสมอภาค ก็คือผู้กระทำผิดจะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายทุกคน โดยไม่มีข้อยกเว้นใดๆ ทั้งสิ้น ส่วนการได้รับโทษที่เหมาะสมนั้นก็คือโทษที่ได้รับนั้นจะต้องไม่หนักหรือเบาเกินไปด้วย

3.ทำให้ประชาชนเคารพกฎหมาย (Respect for Law) โดยการเผยแพร่ให้ความรู้แก่ประชาชนและการปลูกจิตสำนึก สำหรับการเผยแพร่ความรู้นั้น เช่น การใช้สื่อวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ หรือการจัดโครงการเผยแพร่ความรู้ในโรงเรียน วัด ชุมชน เป็นต้น

ส่วนการปลูกจิตสำนึกนั้นทำโดยขัดเกลาจิตใจให้คนมีระเบียบวินัย เคารพกฎกติกาสังคมและกฎหมาย โดยอาศัยขนบธรรมเนียมประเพณี ศีลธรรม สถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา และสถาบันศาสนา เป็นเครื่องมือช่วยในการขัดเกลาจิตใจและปลูกจิตสำนึก

3.บทสรุป

การป้องกันอาชญากรรมนั้นสามารถทำได้ทั้งล่วงหน้าก่อนมีการกระทำความผิดเกิดขึ้นและกระทำภายหลังเมื่อมีการกระทำความผิดเกิดขึ้นแล้ว สำหรับการป้องกันล่วงหน้านั้น มีวิธีการหลายอย่าง เช่น การปลูกจิตสำนึก เป็นต้น ส่วนการป้องกันภายหลังการกระทำผิดความนั้น เช่นการปรับปรุงแก้ไขฟื้นฟูให้ผู้กระทำความผิดเป็นคนดี โดยใช้มาตรการทางกฎหมายเป็นเครื่องมือ ได้แก่ การใช้วิธีการคุมความประพฤติ หรือการใช้วิธีการเพื่อความปลอดภัยมาป้องกันอาชญากรรมในอนาคต เป็นต้น

ข้อเสนอแนะ

1.มาตรการในการป้องกันและควบคุมอาชญากรรม ควรนำมาใช้ผสมผสานกันทั้ง 2 รูปแบบ โดยจะต้องมีการวางแผนและมีการการพัฒนากลไกต่างๆ ให้เกิดประสิทธิภาพ กล่าวคือ ในรูปแบบไม่เป็นทางการนั้น รัฐต้องมีนโยบายในการส่งเสริมให้ชุมชนมีความเข้มแข็งโดยมีการประยุกต์ใช้มาตรการทางสังคมมาเป็นเครื่องมือในการขัดเกลาจิตใจและปลูกจิตสำนึกให้ชุมชนเคารพต่อศีลธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณีให้มากขึ้น ส่วนในรูปแบบเป็นทางการนั้น รัฐต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญาทั้งระบบ ให้เกิดประสิทธิภาพและเป็นที่เคารพศรัทธาของประชาชนโดยชักจูงให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมให้มากขึ้น ผลลัพธ์สุดท้ายก็จะทำให้อาชญากรรมลดน้อยลง

2.การป้องกันอาชญากรรมในรูปแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการนั้นถือได้ว่าเป็นรูปแบบที่ใช้กับการป้องกันอาชญากรรมโดยทั่วไป แต่ถ้าแบ่งอาชญากรรมออกเป็นประเภทตามลักษณะของการเกิดแล้ว เช่น อาชญากรรมอาชีพ อาชญากรรมติดนิสัย อาชญากรรมครั้งคราว เป็นต้น

การป้องกันและควบคุมอาชญากรรมอาจจะต้องมีการหาสาเหตุ และมีการเพิ่มเครื่องมือ เครื่องใช้ รวมทั้งรายละเอียดต่างๆ แตกต่างกันไปตามแต่ละประเภทของอาชญากรรมเพื่อให้มาตรการป้องกันและควบคุมอาชญากรรมมีลักษณะเฉพาะอันก่อให้เกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่น กรณีตัวอย่างอาชญากรรมอาชีพ มีสาเหตุเกิดจากปัจจัยทางด้านสังคม เช่นเกิดจากสังคมไม่ยอมรับโดยถูกตราหน้าว่าเป็นคนขี้คุก ทำให้ไม่มีงานทำ จึงจำเป็นต้องไปประกอบอาชญากรรมเป็นอาชีพเลี้ยงตัว การป้องกันแบบไม่เป็นทางการก็ควรต้องมีการหาอาชีพให้ทำ ส่วนรูปแบบเป็นทางการโดยใช้กฎหมายนั้น กรณีที่ความผิดร้ายแรงก็ควรลงโทษสูงเพื่อให้ผู้กระทำความผิดเข็ดหลาบและเกรงกลัวต่อกฎหมาย เกิดความยับยั้งไม่กล้าที่จะกระทำความผิดขึ้นอีก เป็นต้น

หรือถ้าเป็นกรณีอาชญากรรมประเภทครั้งคราวคือมีสาเหตุการกระทำผิดเกิดจากความกดดัน เช่น การบันดาลโทสะ หรือการกระทำโดยประมาท เป็นต้น การป้องกันแบบไม่เป็นทางการก็ควรต้องขัดเกลาจิตใจให้มีการยับยั้งชั่งใจให้มากขึ้น หรือมีการลดช่องโอกาสโดยไม่ประมาทก็จะทำให้ไม่เกิดอาชญากรรมขึ้นได้ ส่วนรูปแบบเป็นทางการโดยใช้กฎหมายนั้นก็ควรลงโทษไม่ต้องสูงมากเนื่องจากผู้กระทำความผิดไม่มีจิตใจชั่วร้าย แก้ไขได้ไม่ยากนัก

ดังนั้นการใช้มาตรการด้านกฎหมายจึงไม่จำเป็นต้องลงโทษหนักผู้กระทำความผิดก็เกรงกลัวแล้ว ด้วยเหตุดังกล่าวรูปแบบการป้องกันอาชญากรรมแต่ละประเภทจึงขึ้นอยู่กับกฎหมายและปัจจัยที่ทำให้สาเหตุนั้นๆ หมดไปเป็นสำคัญ

ดร.อุทิศ สุภาพ
รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image