ผลึก”ความคิด” อำนาจ ทางการเมือง หลัง”รัฐประหาร”

ถามว่าเหตุใดจึงมีการ “เลื่อน” โรดแมปการเลือกตั้ง ตั้งแต่ “ปฏิญญา โตเกียว” มายัง “ปฏิญญา นิวยอร์ก” มายัง “ปฏิญญา ทำเนียบขาว” กระทั่ง “ปฏิญญา ทำเนียบรัฐบาล” ในปี 2561 ทั้งๆ ที่กระหึ่มด้วยเสียงเพลง

“เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน”

คำตอบโดยอัตโนมัติอาจย้อนกลับไปยังบทเรียนจากการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เมื่อเดือนกันยายน 2558 ที่ว่า

“เขาอยากอยู่ยาว”

Advertisement

ความปรารถนาที่จะอยู่ในอำนาจยาวมิได้มาจากความตั้งใจและความปรารถนาดีเพียงประการเดียว หากที่สำคัญเป็นอย่างมากยังอยู่ที่ความไม่พร้อม

เพราะต้องการ “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง”

เพราะตระหนักในสภาพความเป็นจริงทางการเมืองที่ว่า พลันที่ “การเลือกตั้ง” มาเยือนหมายถึงการนับถอยหลัง

Advertisement

นี่คือ ความเป็นจริงอันร้ายกาจ

ขอให้ศึกษาบทเรียนจากยุคของ จอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งสืบทอดอำนาจต่อจาก จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จากรัฐประหารเมื่อเดือนตุลาคม 2501

เห็นได้จากการยื้อเวลาในการร่างรัฐธรรมนูญ

ร่างผ่านสภาร่างรัฐธรรมนูญยาวนานตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2502 กระทั่งถึงเดือนมิถุนายน 2511 จึงได้ประกาศและบังคับใช้

จึงได้มีการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2512

แต่ในที่สุด รัฐบาล จอมพลถนอม กิตติขจร ก็จำเป็นต้องทำรัฐประหารตัวเอง ฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งในเดือนพฤศจิกายน 2514

รัฐประหารสามารถต่ออายุไปได้อีกไม่ถึง 2 ปี

สถานการณ์เดือนตุลาคม 2516 ก็ปะทุ และจอมพลถนอม กิตติขจร ก็ต้องออกจากอำนาจและไปอยู่ต่างประเทศ

จากยุค จอมพลถนอม กิตติขจร มายังยุคหลังรัฐประหารอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นรัฐประหารเดือนตุลาคม 2520 หลังรัฐประหารเดือนกุมภาพันธ์ 2534 หลังรัฐประหารเดือนกันยายน 2549

ล้วนแล้วแต่อยู่ในอำนาจไม่นาน

รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2521 ออกมารัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ก็จัดการเลือกตั้งในเดือนเมษายน 2522

เดือนกุมภาพันธ์ 2523 ก็ต้องถูกบีบให้ลาออก

รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2534 ออกมา รสช.ก็จัดการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2535 เพียง 40 กว่าวันที่อยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พล.อ.สุจินดา คราประยูร ก็ต้องลาออก

บทเรียนเช่นนี้ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ รู้ดีอย่างที่สุด

เมื่อเข้าดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐนตรีในเดือนตุลาคม 2549 หลังรัฐประหารก็รอกระทั่งประกาศและบังคับใช้รัฐธรรมนูญ

เมื่อมีการเลือกตั้งเดือนธันวาคม 2550 ก็อำลา

เพราะชัยชนะจากการเลือกตั้งมิได้เป็นไปตามแผนบันได 4 ขั้นของ คมช. เป็นพรรคพลังประชาชนต่างหากที่ได้ชัยชนะ

ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจึงเป็นของ นายสมัคร สุนทรเวช

การรุกคืบเข้ามาของ “การเลือกตั้ง” จึงเท่ากับเป็นการนับถอยหลัง ไม่ว่าอำนาจอันมาจากการรัฐประหาร ไม่ว่าอำนาจอันมาจาก “การลากตั้ง”

นี่จึงเป็นเรื่องน่าใจหาย

ยิ่งแกนนำ กปปส.ออกมาแสดงความเป็นห่วงว่ายังไม่มีรูปธรรมแห่ง “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” อะไรปรากฏอย่างเด่นชัด

ยิ่งเป็นเรื่องน่าเสียดาย ยิ่งเป็นเรื่องสูญเสีญโอกาส

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image