บทเรียน ล้ำค่า จาก ตูน บอดี้สแลม บริหาร จัดการ

การออกมาให้ “กำลังใจ” ต่อกิจกรรม “ก้าวคนละก้าว” ของ ตูน บอดี้ สแลม โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีความจำเป็นและมีความสำคัญ

จำเป็นเพราะการวิ่งของตูน เป็นการช่วยรัฐ

สำคัญเพราะกรณีของตูนได้กลายเป็นประเด็นในทางสังคม และนำไปสู่การเปรียบเทียบระหว่างงบประมาณ “สาธารณสุข” กับงบประมาณ “กลาโหม”

สะเทือนไปถึง “รถถัง” สะเทือนไปถึง “เรือดำน้ำ”

Advertisement

หาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่รีบออกมาเบรกด้วยการแสดงความเห็นด้วยและให้กำลังใจต่อกิจกรรม “ก้าวคนละก้าว” ของ ตูน บอดี้สแลม

ตูน บอดี้สแลม ก็อาจจะโดดเดี่ยว หมดกำลังใจ

เพราะกระแสที่ออกมา “ต้าน” มิได้เป็นการต้าน ตูน บอดี้สแลม หากแต่ปลายหอกพุ่งเข้าใส่ คสช. พุ่งเข้าใส่รัฐบาล

ในเรื่อง “บริหาร” ในเรื่อง “จัดการ”

น่าสังเกตว่า การวิพากษ์วิจารณ์ต่อกิจกรรมวิ่งมาราธอนจากเบตงถึงแม่สาย ของ ตูน บอดี้สแลม มิได้มาจากนักการเมือง

มิได้มาจาก “กลุ่ม” ในทางการเมือง

คล้ายกับมีความพยายามจะขยายและทำให้เรื่องคัดค้าน ต่อต้านครั้งนี้เป็นของพรรคเพื่อไทย เป็นของ นปช. คนเสื้อแดง

ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง ไม่ใช่

คนที่ออกโรงเสนอความเห็นต่อ ตูน บอดี้สแลม หากตรวจสอบอย่างละเอียดและตามความเป็นจริง กลับเป็น “นักวิชาการ”

หรือถึงจะเป็นนักวิเคราะห์ ก็มีพื้นฐานมาจาก “นักวิชาการ”

หากเข้าไปสำรวจและศึกษากระบวนการเคลื่อนไหว ก็จะประจักษ์ว่าท่าทีดำเนินไปอย่างมีการจำแนกแยกแยะ

ชมเชยจิตใจ “ตูน” แต่ไม่เห็นด้วยกับ “วิธีการ”

กรณีของ ตูน บอดี้สแลม หากมองผ่านนักการเมือง มองผ่านกลุ่มการเมือง กลับระมัดระวังและประเมินว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อน

ตรงกันข้าม บรรดา “นักวิชาการ” มิได้คิดอย่างนั้น

คนอย่าง ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ที่ออกมาท้วงติงก็มิได้มีอะไรรังเกียจหรือไม่ชอบ ตูน บอดี้สแลม เพียงแต่ไม่เห็นด้วยกับ “วิธีการ” เท่านั้น

เขามองว่า กิจกรรมอย่างนี้เป็นแบบ “สังคมสงเคราะห์”

เปรียบเทียบแล้วก็ไม่แตกต่างไปจากการให้ยา “แก้ปวด” ระงับอาการได้เพียงชั่วครั้งชั่วคราว แต่มิได้เป็นการขจัดโรคาพยาธิสภาพอย่างแท้จริง

ยิ่งทำก็ยิ่งทำให้เกิดการแก้ปัญหาไม่ถูกจุด

กระนั้น ข้อดีเป็นอย่างมากจากกิจกรรมวิ่งทางไกลของ ตูน บอดี้สแลม ก็คือ การจุดประกายให้สังคมสนใจต่อกระบวนการจัดทำ “งบประมาณ” มากยิ่งขึ้น

การวิ่งของตูนอาจ “จบ” ลงในเดือนธันวาคม

แต่ “ความคิด” อันเนื่องจากกระแสวิพากษ์วิจารณ์จะยังดำรงคงอยู่ไปอีกนานเท่านาน กระทั่งนำไปสู่การชำแหละ “งบประมาณ” อย่างจริงจัง

ไม่ว่าการแสดงออกของ “นักวิชาการ” ที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา ไม่ว่าการแสดงออกของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

เกิดขึ้นตามความจำเป็น ตามความเป็นจริง

เมื่อนำความคิดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาวางเรียงเคียงกับความคิดของ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ก็จะทำให้เกิดความกระจ่าง

กระจ่างในเรื่อง “บริหาร” งบประมาณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image