ต้องระวัง”ก้างปลา” โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

ก้าวสู่ปีลิง…2559 ได้เกือบ 1 เดือน หากรวมเวลาแล้วนับจาก 22 พฤษภาคม 2557 ซึ่ง “คสช.” ยึดอำนาจจากรัฐบาลประชาธิปไตยมาเป็น “รัฏฐาธิปัตย์” ภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่บริหารประเทศมา 1 ปี 7 เดือน และนับจากนี้จนถึงระยะเวลาตามโรดแมป ประมาณกลางปี 2560 ซึ่งเป็นห้วงเวลาที่กำหนดให้มีการเลือกตั้ง เพื่อก้าวสู่ประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ ตามการเรียกร้องของประเทศในโลกตะวันตก รวมถึงพรรคการเมืองใหญ่ๆ ที่โหยหาประชาธิปไตย ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย รวมทั้งคนไทยหัวใจประชาธิปไตย รัฐบาลก็จะเหลือเวลาอีก 1 ปี 6 เดือน

ประเด็นสำคัญ ก่อนจะก้าวไปถึงจุดนั้น รัฐบาลจะต้องก้าวข้ามเงื่อนไขหรือ “ก้าง” ที่ติดคอ ฟันฝ่าแรงกดดันที่ถาโถมจากทั้งสองทางคือ 1.แรงกดดันตัวเอง 2.แรงกดดันจากต่างประเทศ

“ก้างปลา” หรือ “แรงกดดัน” มีผลมากที่สุด คือ แรงกดดันตัวเอง เพราะการปฏิบัติการยึดอำนาจจากระบบประชาธิปไตยมาสู่ “รัฏฐาธิปัตย์” ของ “คสช.” เป็นการ “วางเดิมพัน” ด้วยประเทศรวมทั้งยังวางเดิมพันกองทัพอีกด้วย ดังที่กำลังเผชิญ 4-5 ประเด็น คือ

1.ปฏิวัติเพื่อยุติความขัดแย้งและสร้างความปรองดอง 2.ปฏิวัติเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าของประเทศ โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจ 3.ปฏิวัติเพื่อสะสางปัญหาหมักหมมของประเทศและปฏิรูปประเทศ ปฏิรูปการเมือง 4.ปฏิวัติเพื่อขจัดปัญหาคอร์รัปชั่นทาง

Advertisement

การเมืองข้าราชการ เอกชน พ่อค้า ให้ความเป็นธรรมอย่างเสมอภาค 5.การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ (ฉบับที่ 2) ให้เป็น “ประชาธิปไตย” ที่แท้จริง ให้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศยอมรับ

ขณะที่กองทัพวางเดิมพันไว้ด้วยการปฏิวัติ จาก 2549 ถึง 2557 นับเป็นครั้งสุดท้าย เพราะหากการปฏิวัติครั้งนี้ไม่ปรากฏผลสัมฤทธิ์เป็นที่น่า “พอใจ” การปฏิวัติก็จะไม่ใช่หนทางแก้ไข “ปัญหา” ของประเทศ การเดิมพันครั้งนี้จึงมี “ค่าสูงลิบลิ่ว” และ “เสี่ยงสูง” เคียงคู่กันไป…ความรับผิดชอบต่อการเดิมพัน จึงกลายเป็น “ก้าง” ชิ้นโตหรือ “แรงกดดัน” ที่มีต่อท่าน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่อ คสช. รัฐบาล และกองทัพ แต่ด้วยเป็นเพราะสภาพการของประเทศก่อน 22 พฤษภาคม 2557 รัฐบาลก่อนหน้านั้น จากพรรคประชาธิปัตย์ สู่รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ระส่ำระสาย เสื่อมทรุดอย่างหนักจนทหารต้องเข้ายึดอำนาจ

“ผลสัมฤทธิ์” ของงานที่ปรากฏต่อสายตาของประชาชนให้เกิดการยอมรับและ “ศรัทธา” โดยการเดิมพันครั้งนี้ทั้งหมด สุดท้ายจะถูกประเมินด้วย “วลีสั้นๆ” แต่มีความหมายอย่างยิ่งว่า “เสียของ” หรือไม่

Advertisement

เพราะพอเริ่มต้นปีศักราชใหม่ในปีลิง การประชุม “ครม.” นัดแรกเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2559 พลเอกประยุทธ์ จึงกระตุ้นบรรดา “รัฐมนตรี” ให้เร่งเครื่องการทำงานอย่าง “เต็มสูบ” โดยนายกฯกล่าวย้ำแก่ “คณะรัฐมนตรี” ส่งผ่านไปถึง “ข้าราชการระดับสูง” ทุกกระทรวง ว่าด้วยแผนงานบริหารราชการแผ่นดินในปี 2559 ให้ทุกกระทรวง ทุกกลุ่มงาน ดำเนินงาน 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ การบริหารราชการแผ่นดินในภาวะปกติ การปฏิรูปทั้งการดำเนินการเสร็จแล้ว และบางส่วน รวมทั้งการส่งต่อให้รัฐบาลต่อไปดำเนินการ : การแก้ไขปัญหาเร่งด่วน เช่น มาตรการสร้างความปลอดภัยด้านการบินพลเรือน…การแก้ไขปัญหาประมง ตลอดจนการขับเคลื่อนงานเร่งด่วนหลายๆ ด้าน

เช่น โครงการเศรษฐกิจ การเงินการคลังและการทวงคืนผืนป่า…โดยแปลงนโยบายจาก “รัฐบาลสู่การปฏิบัติ” ให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายและทุกภาคส่วนให้มีผลสัมฤทธิ์ มีดัชนีตัวชี้วัดที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาประเทศจาก “ฐานราก” ด้วยมาตรฐานสากล สามารถเพิ่มขีดการแข่งขันกับนานาชาติได้

ปัญหา “เศรษฐกิจ” เป็นเรื่อง “หลัก” เรื่อง “ใหญ่โต” ที่มีผลต่อ “คนไทยรากหญ้า” และผลจากเศรษฐกิจโลก มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ผลแห่งความตกต่ำและความเสียหายของเศรษฐกิจปี 2558 ส่งผลให้กองทุนทั่วโลกไม่มั่นใจความเสียหายเหล่านั้นจะแสดงออกและจะเห็นภาพชัดในปี 2559 หรือไม่ ดังนั้นเริ่มต้นวันแรกของการซื้อขายในตลาดทุนปีใหม่ 2559 จึงเกิดคลื่นความเสี่ยงออกมาอย่างรุนแรงใน “ทุกตลาด” การลงทุนทั่วโลกเพียงแค่ “จีน” สะกิดด้วยข้อมูลเศรษฐกิจ “ตกต่ำ” และค่าเงิน “หยวน” ที่อ่อนค่า รวมทั้งปัญหาการเมือง “ชาวซาอุดีอาระเบีย” ประกาศระงับความสัมพันธ์กับ “อิหร่าน” ก็เขย่าโลกได้ไม่น้อยทีเดียว

ปัญหาใหญ่ภายในประเทศโดยเฉพาะของกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์ นับตั้งแต่ยางพารา 3-4 โลร้อย ราคาข้าวตกต่ำ ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง อ้อย ราคาตก รวมถึงเรื่องสำคัญ คือ “ภัยแล้ง” ที่ส่งผลกระทบในทุกระบบการผลิตของประเทศ น่าห่วงอีก 2 ตัว คือ อ้อย และมันสำปะหลัง ที่นำเอาไปผลิตเอทานอล จะเป็นอย่างไร เพราะ “ราคาน้ำมันโลก” ดิ่งลงเหวต่อเนื่องฉุดให้ราคา “พลังงาน” ร่วงตามลงไปด้วย

ปัญหาพืชเกษตรกรณี “ยางพารา” เป็นกรณีต้นแบบที่คลาสสิก ซึ่งรัฐบาลจะอุ้มเหมือนเดิม ท่านนายกรัฐมนตรีบอกแล้วว่าอุ้มไม่ไหว คงต้องช่วยๆ กัน ทางออกผลสรุปตอนจบเป็นอย่างไร ต้องติดตาม

“ก้างปลา” ชิ้นใหญ่ที่ร้อนไม่แพ้กันกับข้อเสนอหลักที่มีการเสนอหลายครั้งซ้ำๆ ว่าด้วยประเด็น “ปรองดอง” แก้วิกฤตชาติไม่ว่าจะเป็นต้นซอย กลางซอย สุดซอย ล่าสุดหลังจากท่านมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ชงให้ “บิ๊กตู่” ใช้อำนาจพิเศษ ม.44 ตั้งทีมศึกษาปม “ปรองดอง” เรื่องถูกโยนต่อให้ฝ่ายกฎหมาย รัฐบาล และทีมออกกฎหมาย ก็เป็นนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. โดดรับลูก เตรียมตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาเสริมสร้างสันติสุข (ชื่อใหม่) ดึงทุกขั้วฝ่ายขัดแย้งมาร่วมวง แม้ว่าล่าสุดมีชื่อ พลเอกอกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ สนช. (ด้านทหาร) มีโอกาสลุ้นเป็น “ประธาน กมธ.” โดยท่านเองระบุว่า การทำงานของคณะนี้จะมีกรรมาธิการ 24 คน เป็น สนช. 14 คน ส่วนอีก 10 คน เป็นผู้ที่มีแนวคิดสันติ และกลุ่มผู้เห็นต่าง 10 (น้อยกว่า 4 เสียง) ทำหน้าที่ศึกษาพิมพ์เขียวส่ง คสช. และรัฐบาล…ไคลแมกซ์ชี้ปมร้อน “นิรโทษกรรม” ที่ยังเห็นต่างกับการล้างผิดอยู่ที่ “สุดซอย – กลางซอย”

หากติดตามดูหนังนี้ฉายซ้ำมาหลายรอบแล้วว่าด้วย ดร.คณิต ณ นคร นายดิเรก ถึงฝั่ง ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ จนได้ผลสรุปเสนอ “นายกฯ” ไปแล้ว แต่ถูก “แช่” ก็บ่มิไก๊ เกิดขึ้นต้องดูว่ารอบสุดท้ายที่ 4 นี้จะเป็นอย่างไร?…หรือเหมือนเดิม

เมื่อพูดถึงท่านประธานมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. มีความเข้มข้นทุกขณะในการพิจารณาร่าง “รัฐธรรมนูญ” ปี”59 รายมาตราที่ชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ฝ่ายสภาขับเคลื่อนประเทศไทย ประธาน ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ก็เร่งประชุมให้ กมธ. ส่งการบ้านจาก สปท. ถึง “กรธ.” ว่าด้วยทิศทางปฏิรูป ซึ่งต้องจับตาเป็นพิเศษ ซึ่งมีผลต่อ “โครงสร้างทางการเมือง” ไม่ว่าจะเป็นที่มาของนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร และการกำหนดที่มาสมาชิก รวมถึงการกำหนด “วุฒิสภา” และที่มา เป็นต้น ทั้งนี้การยกร่างครั้งที่ 2 นี้ใช้เวลา 180 วัน หรือประมาณ 6 เดือน ประธานมีชัยในฐานะเป็น “มือกฎหมาย” ที่คนทั่วไปยอมรับว่าเป็น “คนดี” มือดี มือสะอาด แม่นกฎหมาย และเป็น “ธรรม” ในฐานะเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงต้องทำหน้าที่วางโครงร่างฯให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย และที่สำคัญคือ “ประชาชน” ส่วนใหญ่ของประเทศ เมื่อถึงคราวต้องทำประชามติต้องได้รับการยอมรับเสียงส่วนใหญ่ตามระบอบประชาธิปไตย ส่วนหนึ่งเค้าโครงการยกร่างรัฐธรรมนูญในส่วน “โครงสร้างทางการเมือง” ที่ได้เปิดเผยต่อสาธารณชนอยู่บ้าง พอทำให้เห็นความแตกต่างความเหมือน ตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ และฉบับปี 2550 อยู่บ้าง เช่น

“คณะรัฐมนตรี” : ประเด็นที่มาของ “นายกรัฐมนตรี ยังคงกำหนดให้ “นายกรัฐมนตรี” มาจากมติของสภาผู้แทนราษฎร และจะเป็นหรือไม่เป็น ส.ส. ก็ได้ โดยกำหนดให้พรรคการเมืองจะต้องนำเสนอบัญชีรายชื่อผู้ที่มาเป็น “นายกรัฐมนตรี” จำนวน 3 คน ให้ลงสมัครรับเลือกตั้ง… ซึ่งต่างไปจากร่างเดิมของนายบวรศักดิ์ ในกรณี “นายกฯ” คนนอก ที่ให้สภาต้องมีมติไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวน ส.ส. ที่มีอยู่ในสภา…นอกจากนี้คนที่จะมาเป็น “รัฐมนตรี” จะใช้อำนาจนายกฯตามอำเภอใจ 100% ไม่ได้ เพราะในร่างรัฐธรรมนูญของ กรธ. บังคับให้นายกฯ ต้องเลือกคนที่มี…ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ทางจริยธรรมอันเป็นแบบอย่างสังคม อันนี้ต่างจากฉบับนายบวรศักดิ์และรัฐธรรมนูญปี 2550 อย่างสิ้นเชิง

“สภาผู้แทนราษฎร” ได้กำหนดให้ ส.ส.ระบบเขตเลือกตั้ง มีจำนวน 350 คน และ ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อจำนวน 150 คน รวมเป็น 500 คน ในการเลือกตั้ง ส.ส.ระบบเลือกตั้งจะใช้การลงคะแนนในบัตรเลือกตั้ง ส.ส. ระบบเขตเพียงใบเดียว เพื่อคำนวณหา ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อไปพร้อมกัน ซึ่งในประเด็น ส.ส.ระบบเขต จะใช้ระบบที่เรียกว่า… “การจัดสรรปันส่วนผสม” ซึ่งในส่วนนี้แตกต่างจากฉบับนายบวรศักดิ์ทั้งจำนวน ส.ส. และวิธีที่ได้มาของการเลือก ส.ส.เขต 1 ใบ และเลือก ส.ส.บัญชีรายชื่ออีก 1 ใบ ส่วนการคำนวณจำนวน ส.ส.ตามแนวทาง กรธ. จะกำหนดให้นับคะแนน ส.ส. ระบบเขตทั้งประเทศของแต่ละพรรคมารวมกันจากนั้นนำคะแนนมาแยกเป็นสัดส่วนว่าพรรคการเมืองจะได้จำนวน ส.ส.เท่าใด

“วุฒิสภา” … ประเด็นนี้มีข้อถกเถียงวิพากษ์กันหลากหลายทั้งที่ผ่านมาและกำลังร่างฯอยู่ของ กรธ. ซึ่ง “วุฒิสภา” เป็นหนึ่งในสถาบันการเมืองที่ถูกปรับเปลี่ยนมาหลายครั้ง ตั้งแต่ในอดีตจนกระทั่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ได้มีการกำหนดให้มี ส.ว. เลือกตั้งจำนวน 200 คน และให้กระจายจำนวน ส.ว. คำนวณจากประชากรในแต่ละจังหวัด ส่วนร่างฯปี พ.ศ.2550 ได้เปลี่ยนวิธีการซึ่งการได้มาของ ส.ว.อีกครั้ง ให้มี ส.ว. 150 คนแบ่งเป็น ส.ว. สรรหา 74 คน ซึ่งเลือกโดยที่ประชุมของตัวแทนองค์กรอิสระ และอีกจำนวน 76 คน ให้เลือกตั้งมาจากจังหวัดละ 1 คน… กรธ.ชุดปัจจุบันได้เปลี่ยนระบบที่มาของ ส.ว.ใหม่เป็นการเลือกตั้งทางอ้อมจำนวน 200 คน โดยให้เลือกจากบุคคลตามความเชี่ยวชาญจำนวน 20 กลุ่ม เช่น กลุ่มการบริหาร กลุ่มสาขาวิชาชีพ กลุ่มประชาสังคม เป็นต้น ส่วนขั้นตอนการเลือกตั้ง เลือกกันตั้งแต่ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และส่วนกลาง ซึ่งจะให้ “ผู้สมัคร” ทำการเลือกกันเองในแต่ละระดับว่าจะให้ใครเป็นผู้เหมาะสมที่จะเป็น…ส.ว. แต่ผู้สมัครคนนั้นจะไม่สามารถเลือกผู้สมัครที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันได้…

ซึ่งประเด็นนี้แตกต่างจากของนายบวรศักดิ์ ส.ว.สรรหามี 123 คน และมาจากการเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คน (77 คน) รวมเป็น 200 คน ส่วนการสรรหานั้น กำหนดให้มีคณะกรรมการสรรหาและต้องสรรหาตามองค์ประกอบที่กำหนดไว้

“3ประเด็น” โครงสร้างทางการเมืองเป็น “ก้างปลา” ชิ้นโตไม่ยิ่งหย่อนและเป็นปมร้อน เมื่อถึงคราวทำประชามติจะผ่านไม่ผ่าน ต้องคำนึงถึงว่าเหตุการณ์ในอดีตสอนประชาชนให้รู้ฉลาดขึ้นตามลำดับ…ภาคประชาชน และภาคประชาสังคมยุคใหม่นี้ จะผ่านหรือไม่ผ่าน ชาวบ้านโดนหลอกลวงมาเยอะ น่าจะมีความคิด มีสติปัญญาอยู่พอสมควร ที่จะรู้ว่าใครควรเลือกหรือไม่เลือก…แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ยังเห็นว่าทุกวิธีที่ผ่านมาก็ยังมีปัญหากันทั้งนั้น…ว่าด้วย “แทคติก” ความเป็น “ศรีธนญชัย” ของขบวนการทางการเมือง

และต้อง “ระวังภัยนอกบ้าน” ไม่ว่าเรื่องการบินพลเรือน เรื่องประมง การค้ามนุษย์ จะซ้ำเติม และที่สำคัญกรณี “จีเอสพี” และที่สำคัญเศรษฐกิจของคน “รากหญ้า” ต้องระวังไม่ให้เกิดภาวะวิกฤต “ข้าวยากหมากแพง”…และท้ายสุดเร่งคืน “ประชาธิปไตย” ให้กับ “ประชาชน” คนไทยทั้ง 65 ล้านคน ด้วย “ประชาธิปไตยที่เป็นสากล” คนทั้งชาติส่วนใหญ่ยอมรับ

ผู้เขียนรวมทั้งคนไทยทุกคน ขออำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ “องค์พระสยามเทวาธิราช” และดวงวิญญาณของบูรพกษัตริย์ไทยในอดีต รวมทั้งบุญญาธิการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ประทานพรขอให้การบริหารงานบ้านเมืองของ “ผู้นำ” ก้าวข้าม “อุปสรรค” ต่างๆ ดังกล่าวไปได้ด้วยดี…นะครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image