กรอบ’เลือกตั้ง’ ในกุมภาพันธ์ 2562 มีความ แจ่มชัด

แม้ภายใต้ “ปฏิญญา ทำเนียบรัฐบาล” เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม จะยังไม่สามารถกำหนดวันและเวลาของการเลือกตั้งได้อย่างแน่นอน ตายตัว

แต่ “กรอบ” ก็เริ่ม “สัมผัส” ได้

เป็นการสัมผัสได้ในเบื้องต้นว่าในเดือนมิถุนายน 2561 จะสามารถกำหนดได้ว่าเป็นวันที่เท่าใดและเป็นความรับรู้ในเบื้องต้นว่าน่าจะเป็นวันใดวันหนึ่งในเดือนพฤศจิกายน 2561

นั่นคือ ข้อกำหนดอันเป็นที่รับรู้กัน

Advertisement

กระนั้น ท่ามกลางการถกแถลงอภิปรายในประเด็นว่าด้วย “การเลือกตั้ง” ก็มีการเสนอปัญหาและอุปสรรคที่อาจจะเกิดตลอด 2 รายทาง

เนื่องแต่กระบวนการ “ผ่าน” กฎหมายลูก

ไม่ว่าจะเสนอขึ้นโดย สนช.ซึ่งใกล้ชิดกับฐานแห่งอำนาจ ไม่ว่าจะขานรับโดยสมาชิกคนสำคัญของ คสช.ทำให้เกิดสภาวะไม่แน่นอนขึ้น

Advertisement

เป็นความไม่แน่นอนว่าจะปี 2561 หรือจะปี 2562

ท่างกลางความสับสน นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านการเลือกตั้ง ได้ออกมาวางกรอบกว้างๆ และสร้างความแจ่มชัดให้บังเกิด

เป็นการพูดจากมุมมอง “ส่วนตัว” แน่นอน

แต่ก็เป็นความเป็นส่วนตัวอันวางอยู่กับ 1 รัฐธรรมนูญ 1 กระบวนการทำงานของ สนช.และ 1 กระบวนการทำงานของ กกต.

ยิ่งกว่านั้น ยังเป็นการพูดโดยมี “พยาน”

พยานที่สำคัญเป็นอย่างมากคือ คณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งราชอาณาจักรภูฏาน ซึ่งเดินทางมาดูงานการเลือกตั้งของ กกต.ไทย

“การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นช่วงเดือนสิงหาคม 2561 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2562”

หากพูดตามภาษาแห่งการปรองดอง สมานฉันท์ บทสรุปนี้ของ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ดำเนินไปในท่วงทำนอง “พบกันครึ่งทาง”

เป็นไปอย่าง “ยืดหยุ่น” แต่ก็มีความตายตัว

ต้องยอมรับว่าบทสรุปของ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร มาจากหลักการของรัฐธรรมนูญที่กฎหมายลูกจะเรียบร้อยภายในกำหนด 240 วัน

และจะจัดการเลือกตั้งภายใน 150 วัน

นั่นก็คือ หากมองอย่าง “เร่ง” การเลือกตั้งสามารถเกิดขึ้นได้ภายในเดือนสิงหาคม 2561 ขณะเดียวกัน หากมองอย่าง “ถ่าง” การเลือกตั้งสามารถยืดไปได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562

ไม่เร็ว และก็ไม่ช้าจนเกินไป

ที่เคยประเมินและคาดหมายกันว่าจะยังไม่มีการเลือกตั้งภายในปี 2561 จึงอาจจะถูกต้องตามความเป็นจริงภายในกระบวนการกฎหมายโดย สนช.

ทุกอย่างจึงขึ้นอยู่กับ “สนช.” มากกว่า “กรธ.”

แนวโน้มและความเป็นไปได้ที่จะมีความเด่นชัดยิ่งขึ้นเป็นลำดับก็คือ การเลือกตั้งน่าจะมีขึ้นในต้นปี 2562

เป็นไปตามคำทำนายของ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ

คาดหมายกันว่า ไม่ว่าพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าพรรคชาติไทยพัฒนา ไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์ คงสามารถรับได้

ทำไมจึงคาดหมายว่า ไม่ว่าพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าพรรคชาติไทยพัฒนา ไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์ สามารถรับได้กับกำหนดเวลาของ “การเลือกตั้ง” ใหม่

เพราะพรรคการเมืองเหล่านี้ “คาด” อยู่แล้ว

ความจัดเจนทางการเมืองเตือนให้พรรคการเมืองเหล่านี้ตระหนักในลักษณะ “ยื้อ” ของเหล่า “นักเลือกตั้ง” อันเป็นฐานแห่งอำนาจของ คสช.

จึงอ่านแตก แทงทะลุ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image