ท่วมแน่-ท่วมนาน โดย นฤตย์ เสกธีระ

หลังจากเกิดวิวาทะเรื่องน้ำท่วมกรุงเทพฯ ฝ่ายบริหารของ กทม.ได้มาชี้แจง

นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯกทม. ชี้แจงกรณีน้ำท่วมขังเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ว่าเกิดจากฝนตกปริมาณมาก และตกเต็มพื้นที่

การบริหารจัดการรับน้ำฝนของ กทม. ดำเนินการดังนี้

หนึ่ง “พร่องน้ำในคลอง” ให้อยู่ในระดับติดลบ 1.7-1.8 ม.รทก. ซึ่งต่ำกว่าระดับทะเลปานกลาง

Advertisement

หนึ่ง การระบายน้ำทางท่อ ซึ่งท่อระบายน้ำของ กทม. สามารถรองรับปริมาณฝนตกสะสมในเวลา 3 ชั่วโมง ได้ไม่เกิน 80 มิลลิเมตร

หนึ่ง การสูบน้ำผ่านอุโมงค์ระบายน้ำลงไปสู่แม่น้ำเจ้าพระยา

นายจักกพันธุ์ชี้แจงว่า คืนวันที่ 13 ตุลาคม ฝนตกหนักสุดในรอบ 30 ปี มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 200 มม.

Advertisement

คลองที่พร่องน้ำมีน้ำเต็ม ท่อระบายน้ำไม่สามารถรองรับปริมาณน้ำมากๆ เช่นนี้ได้ทัน

การสูบน้ำต้องไล่ระบายน้ำจากริมฝั่งเจ้าพระยาก่อนแล้วค่อยทยอยระบายน้ำในพื้นที่อื่นๆ ตามลำดับ

น้ำจึงท่วมและรอการระบาย

นายจักกพันธุ์ยกตัวอย่างฝนตกหนักในพื้นที่เขตพระนคร มีฝนตกมากที่สุด คือ 203 มม. แต่กลับแห้งเร็วกว่าบริเวณอื่น

ทำให้น้ำท่วมขังบริเวณถนนหน้าพระลาน ระดับ 15-20 ซม. และถนนสนามไชย ระดับ 30 ซม. ตั้งแต่เวลา 01.35 น. แห้งลงในเวลา 05.30 น.

หรือประมาณ 4 ชั่วโมงก็แห้งลง

ทั้งนี้ เพราะระบบสูบน้ำในพื้นที่เขตพระนครซึ่งอยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยาพัฒนาจนมีประสิทธิภาพ

ขณะที่แม่น้ำเจ้าพระยาในตอนนั้นเป็นช่วงน้ำไหลออกสู่ทะเล

จึงเร่งระบายน้ำได้เร็ว

นอกจากนี้ นายจักกพันธุ์ยังบอกว่า ในวันนั้นมีงูเขียวเลื้อยพันสายไฟแรงสูง เกิดไฟฟ้าลัดวงจร ทำให้เครื่องสูบที่สถานีสูบน้ำริมบึงมักกะสันทำงานไม่ได้

ต้องใช้เวลาซ่อม กว่าจะแล้วเสร็จก็ประมาณ 14.00 น. วันที่ 14 ตุลาคม

หลังจากเครื่องสูบน้ำทำงานได้ ก็สามารถดึงน้ำในพื้นที่ท่วมขังให้แห้งได้ภายใน 40 นาที

ฟังๆ แล้วพอสรุปได้ว่า ถ้าภายใน 3 ชั่วโมงปริมาณน้ำสะสมมีมากกว่า 80 มม. แล้วล่ะก็ … ท่วมแน่

ฟังๆ แล้วสรุปได้อีกว่า ถ้าน้ำท่วมแล้วเกิดปัญหาที่สถานีสูบน้ำจนทำงานไม่ได้แล้วล่ะก็ … ท่วมนาน

ดังนั้น หากประชาชนสนใจว่า ฝนที่กำลังเทกระหน่ำลงมาที่กรุงเทพฯนั้นจะท่วมถนนหรือไม่ คงต้องเปิดข้อมูลดูปริมาณน้ำฝนสะสม

ถ้าพื้นที่ใดมีมากกว่า 80 มม. ต้องตรวจสอบทางเว็บไซต์ว่า พื้นที่ใดน้ำท่วมขังบ้าง

และหากอยากทราบว่า น้ำที่ท่วมจะแห้งเมื่อใด ต้องเช็กประสิทธิภาพการทำงานของสถานีสูบน้ำ

ถ้าสถานีสูบน้ำสมบูรณ์ คาดการณ์ว่าไม่น่าเกิน 4 ชั่วโมง น้ำก็แห้ง

แต่หากเสีย คงต้องเริ่มนับเวลาน้ำแห้งหลังจากสถานีสูบน้ำทำงานได้

ส่วนประเด็นว่า สถานีสูบน้ำควรจะเริ่มเดินเครื่องเมื่อใด

ขอตอบแทนชาว กทม.ว่า เร็วที่สุด

สิ่งที่ยังอยากรู้อยู่ก็คือ ชาวกรุงจะรู้ล่วงหน้าได้ไหมว่าปริมาณฝนที่จะตกนั้นมากน้อยแค่ไหน

จะได้เตรียมตัว “ยกของขึ้นที่สูง” ก่อนท่วม

……………

นฤตย์ เสกธีระ [email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image