หากยกเลิกประกันคุณภาพการศึกษา เด็ก-นักศึกษา ได้หรือเสียอะไร : โดย นพดล ปกรณ์นิมิตดี

ในทุกครั้งและในทุกปี ที่มีการทำ SAR หรือการทำประกันคุณภาพการศึกษาภายใน มักจะเกิดคำถามในใจอยู่เสมอว่าสิ่งที่ครู หรือคณาจารย์ในระดับมหาวิทยาลัย ที่ต้องทำงานเอกสาร ทำงานกระดาษ paper เพื่อให้สถาบันการศึกษาที่ตนสังกัดมีคุณภาพตามเกณฑ์ที่เขากำหนด มีคะแนนที่สูงๆ ทั้งหลายทั้งหมดที่ทำอยู่กัน SAR นี้มันสามารถทำให้เด็กหรือนักศึกษาซึ่งกำลังจะโตไปเป็นเยาวชน หรือกำลังของชาติ ได้คุณภาพทางการศึกษาที่ดีขึ้นจริงหรือไม่ จากสิ่งที่ครูบาอาจารย์ทำเพื่อตอบโจทย์ของตัวบ่งชี้สารพัดที่จะคิดได้ในระบบ SAR

ข่าวจากเว็บหนังสือพิมพ์ไทยรัฐเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2560 หัวข้อเรื่อง คลอดเกณฑ์ประกันคุณภาพการศึกษาข้อความตอนหนึ่งจากหน้าเว็บระบุว่า ครม.มีมติอนุมัติร่างกฎกระทรวงว่าด้วยระบบหลักเกณฑ์และวิธีการประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ. … สาระสำคัญคือ ให้ยกเลิกกฎกระทรวงเก่าและปรับวิธีการประเมินสถานศึกษา ที่ไม่ใช่การตัดสินว่าผ่านไม่ผ่านแต่เป็นการประเมินเพื่อพัฒนา ขั้นตอนต่อไปจะตั้งคณะกรรมการร่วม ประกอบด้วยสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ผู้แทนจากหน่วยงานที่มีสถานศึกษาในสังกัดทั้งในและนอก ศธ. เพื่อร่างระเบียบ ศธ. และประกาศ ศธ.ที่เกี่ยวข้อง อ่านข่าวต่อได้ที่ : https://www.thairath.co.th/content/1033325

ข่าวดังกล่าวในตอนแรกที่ได้รับทราบทางโลกออนไลน์ก็สร้างความตกใจได้ไม่น้อย เพราะคนที่ส่งทำให้เข้าใจผิดไปในทำนองว่า ยกเลิกประกันคุณภาพแล้ว และความรู้สึกก็เป็นเช่นนั้นจริง จากการพาดหัวข้อของโลกออนไลน์ในขณะนั้น แต่ความรู้สึกร่วมของผู้คนส่วนหนึ่งที่เป็นนักวิชาการในบางสถาบันการศึกษา ที่อาจไม่ได้มีจำนวนเจ้าหน้าที่ที่ช่วยทำงานธุรการให้อาจารย์ได้มากมายอะไรนัก มั่นใจว่าส่วนหนึ่งของคนเหล่านั้นอาจอยากให้เลิกหรือพูดอีกอย่างก็คือยกเลิกครับ ยกเลิกได้ไหมคะ ซึ่งในสถาบันอุดมศึกษาขนาดใหญ่อาจมิได้มีประเด็นปัญหาที่กำลังจะกล่าวต่อไปนี้

คำถามว่า ประกันคุณภาพคืออะไร

Advertisement

ประกันคุณภาพ คือ การวางแผนและการปฏิบัติของหน่วยผลิตที่มุ่งจะผลิตสิ่งที่มีคุณภาพตรงกับความต้องการของผู้ใช้ผลผลิต ดังนั้น การประกันคุณภาพทางการศึกษาจึงเป็นกระบวนการวางแผน และกระบวนการจัดการของผู้ที่รับผิดชอบจัดการศึกษาที่จะรับประกันให้สังคมเชื่อมั่นว่าจะพัฒนาให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ให้ครบถ้วนตามมาตรฐานคุณภาพที่ระบุไว้ในหลักสูตรและตรงกับความมุ่งหวังของสังคม อ้างอิงจาก http://www.moe.go.th/main2/article/article1.htm#r.1

อันที่จริงต้องกล่าวว่า การประกันคุณภาพการศึกษาคือการกำหนดมาตรฐานของการจัดการศึกษา ไม่ว่าจะระดับมัธยม หรือระดับอุดมศึกษา ให้ทุกสถานศึกษามีมาตรฐานตามที่กำหนด ซึ่งหากทุกสถานศึกษาทำได้ตามตัวบ่งชี้ ย่อมเป็นหลักประกัน ย่อมเป็นความเชื่อมั่นต่อผู้เรียน หรือต่อผู้ปกครอง แต่สิ่งสำคัญของการทำประกันคุณภาพการศึกษาที่สถานศึกษาหลายแห่งต้องคำนึงถึงก็คือต้องไม่ผลักภาระจนเกินไปให้ครู อาจารย์ เป็นผู้ทำทุกอย่างครับ

อาจารย์บางคนอาจคิดและมองว่า งานสอนคืองานหลัก อย่างอื่นไม่ใช่หน้าที่ คำกล่าวลักษณะเช่นนี้ก็อาจดูแรงไปในทางความคิด ซึ่งอันที่จริงเกณฑ์การประกันคุณภาพทางการศึกษา อาจารย์คือหนึ่งในสิ่งที่ต้องถูกประเมิน อาจารย์ปฏิเสธไม่ยอมรับรู้ระบบการประเมินไม่ได้หรอกครับ บางคนจะบอกว่า “ขี้เกียจเรียนรู้ เอาเวลาเรียนรู้ SAR ไปหาเงิน ไปบรรยายข้างนอกดีกว่า” อาจารย์บางคนอาจบอกว่า เราไม่ทำ เดี๋ยวก็มีคนทำแทนเรา

Advertisement

ฟังแล้วก็ตกใจได้ไม่น้อยนะครับกับคำกล่าวเช่นนี้ ทำให้อดคิดไม่ได้เหมือนกันว่า SAR ก็มีคุณประโยชน์ในแง่ ที่ทำให้บางคนสามารถแสดงออกซึ่งความไม่สนใจต่อความรู้สึกของเพื่อนร่วมวิชาชีพคนอื่นๆ ที่ต้องมารับภาระดูแลทำเอกสาร ตามองค์ประกอบที่ตนรับผิดชอบ และต้องมาทำแทนคนที่ไม่ยอมทำ

ความเป็นจริงของคนทำงานอาจารย์ในปัจจุบันต้องมีหน้าที่ที่มากกว่าการสอนหนังสือครับ เห็นด้วย 100% สถาบันอุดมศึกษาบางแห่งกำหนดลักษณะงานของอาจารย์มากมายหลายข้อ โดยส่วนตัวยังไม่เคยเห็นสถานศึกษาใด กำหนดหน้าที่ข้อเดียวคือ สอนหนังสือนะครับ

ฉะนั้นเรื่องของการประกันคุณภาพทางการศึกษา ทำให้น่าคิดว่าปัญหาอยู่ที่ตัวบทกฎหมาย หรืออยู่ที่บุคคลที่ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ ตั้งแต่สถานศึกษา จนถึงตัวบุคลากรเพียงบางคน ที่เป็นปัญหา อาจารย์ควรมีหน้าที่สร้างผลงานทางวิชาการ และพัฒนาความรู้ความสามารถของตนทางวิชาชีพในวิชาการของตนให้ใหม่และทันสมัยเสมอ ซึ่งส่วนหนึ่งก็ได้จากการทำวิจัยนั่นเอง ดูแลนักศึกษา ทำงานที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษา ทำได้เพียงเท่านี้ก็สอดคล้องกับเกณฑ์การประกันคุณภาพหลายข้อแล้วครับ

งานวิชาการและงานกิจการนักศึกษา คือสิ่งที่ต้องทำควบคู่กัน จะให้ความสำคัญกับสิ่งใดมากกว่าอีกสิ่งไม่ได้

สมัยก่อนจำได้ในมหาวิทยาลัยจะมีแบ่งบุคลากรเป็น สาย ก สาย ข สาย ค มหาวิทยาลัยก็มีคณะกับฝ่ายสนับสนุน แต่ในปัจจุบัน บางสถานศึกษา บางคน มีการคิดใหม่ทำใหม่ บอกทุกอย่างให้คณะทำ เริ่มต้นก่อน หรือสมมุติ ผอ.ก็มอบให้ครูระดับล่างทำ และเสนอขึ้นมาก่อน เช่นนี้การศึกษาไทยบนบริบทของการประกันคุณภาพก็คงยากที่จะบรรลุผลจริงตามที่วาดฝันไว้ล่ะครับ หากใช้คนไม่ถูกงาน หรือผลักภาระกันเสียเอง จะได้งานดีอะไรล่ะครับ

ตอนนี้ต้องเอาความเป็นจริงมาพูดกันแล้วล่ะครับ เพื่อให้เด็กและนักศึกษาได้อะไรที่ดีขึ้นจริงๆ จากการศึกษาไทย ที่มีระบบประกันคุณภาพทางการศึกษาในบริบทของสภาพที่เป็นอยู่ แม้จะมีกฎหมายใหม่ออกมาก็ตามที โดยยังคงไม่เสียความเป็นครู ความเป็นอาจารย์ที่ดีจากระบบ SAR นี้ไปแล้วกระมังครับ

นพดล ปกรณ์นิมิตดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image