ประเทศไทย…ต้องไม่ให้แทคติคมาล้มยุทธศาสตร์ : โดย บุญเกียรติ ชีวะตระกูลกิจ

ในศาสตร์ด้านการจัดการเชิงกลยุทธ์ แทคติค (Tactic) มีศักดิ์เป็นลูกน้องของกลยุทธ์ (Strategy) กล่าวคือ เมื่อกลยุทธ์ถูกวางไว้ชัดเจนว่าจะดำเนินไปในทิศทางใดแล้ว แทคติคมีหน้าที่ถอดความกลยุทธ์ออกมาเป็นแผนปฏิบัติการ (Operating Plan) เพื่อให้ฝ่ายปฏิบัตินำไปดำเนินการต่อไป โดยนัยเช่นนี้ กลยุทธ์หรือยุทธศาสตร์จึงมีอำนาจเหนือแทคติค มีศักดิ์ที่สูงกว่าชัดเจน

ในองค์กรเอกชน เมื่อคณะกรรมการบริษัท หรือบอร์ดแต่งตั้งซีอีโอ อันหมายถึงการผ่องถ่ายอำนาจจากบอร์ดซึ่งเป็นตัวแทนของผู้ถือหุ้นลงมายังซีอีโอนั้น ซีอีโอจึงมีอำนาจเต็มในการวาง “ยุทธศาสตร์” เพื่อให้บรรลุภารกิจตามที่มีพันธสัญญาไว้กับบอร์ดและผู้ถือหุ้น ยุทธศาสตร์นี้จะเป็นทิศทางที่ทุกฟังก์ชั่นในองค์กรต้องให้การสนับสนุน และดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรม

หากดำเนินการแล้วไม่บรรลุพันธกิจ ผู้ที่ต้องรับผิดชอบก็คือซีอีโอ เพราะถือว่าคิดยุทธศาสตร์ไม่เข้าท่า กรณีเช่นนี้ บอร์ดมีสิทธิที่จะถอดถอนซีอีโอออกจากตำแหน่ง แล้วแต่งตั้งซีอีโอคนใหม่เข้ามารับผิดชอบแทน

ในการบริหารประเทศตามระบอบประชาธิปไตยก็เช่นกัน ผู้ถือหุ้นคือประชาชน เลือกตัวแทนเข้าไปนั่งในสภาซึ่งเทียบเท่าบอร์ด และสภาก็มีหน้าที่เลือกนายกรัฐมนตรีเข้าไปวางนโยบาย (Policy) หรือยุทธศาสตร์ในการบริหารประเทศ ถ้าบริหารแล้วไม่เป็นโล้เป็นพาย สภาก็มีสิทธิถอดถอนและเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ตามระบบระเบียบที่วางไว้

Advertisement

(หมายเหตุ-หลักการข้างต้นใช้อธิบายการจัดการทั่วไปในองค์กร หรือรัฐบาลอันเป็นยูนิเวอร์แซล ไม่ใช่เรื่องเฉพาะสำหรับประเทศไทย)

ตัดภาพมายังโลกแห่งความจริงบ้าง ในการตั้งซีอีโอของภาคเอกชน จะมีคณะกรรมการสรรหาซึ่งแนบติดอยู่กับบอร์ดคอยสรรหาผู้ที่เหมาะสมให้มาดำรงตำแหน่งซีอีโอ การคัดสรรต้องเป็นไปอย่างพิถีพิถัน เพราะตำแหน่งดังกล่าวมีผลต่อความเป็นความตายขององค์กรในระยะยาว ด้วยว่าต้องเข้ามาช่วยวางวิสัยทัศน์ พันธกิจ และกำหนดยุทธศาสตร์ให้องค์กรเติบโตต่อไปอย่างยั่งยืน ซีอีโอจึงไม่อาจเป็นคนที่มีโลกทัศน์คับแคบ มองเห็นแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงอันจะมีผลตกกระทบต่อองค์กรทั้งในทางบวกและลบชัดเจน มีความคิดที่ล้ำสมัยหรืออย่างน้อยก็ทันสมัย สามารถเป็นที่หวังของปวงสมาชิกทั่วทั้งองค์กรได้

ความพิถีพิถันที่มีสูงก็เพราะซีอีโอต้องเข้ามาวางนโยบายให้ลูกน้องทำตาม ต้องเข้ามานำทีมเดินรุดหน้าไปยังเป้าหมาย หากมีความรู้และประสบการณ์จำกัด มองการณ์ใดๆ คับแคบ ไม่รอบคอบรอบด้าน ย่อมสัมฤทธิผลได้ยาก

Advertisement

ลองนึกดูว่าถ้าซีอีโอคิดได้น้อยกว่าลูกน้อง อะไรจะเกิดขึ้น หากลูกน้องมองยุทธศาสตร์ออกทะลุปรุโปร่ง แต่ซีอีโอยังมะงุมมะงาหราอยู่แถวๆ แทคติค มิหนำซ้ำยังมีอำนาจมากกว่า กรณีเช่นนี้เองที่ผู้เขียนเรียกว่า “ปรากฏการณ์แทคติคล้มยุทธศาสตร์” เพราะความคิดระดับแทคติคมีอำนาจมากกว่าความคิดระดับยุทธศาสตร์ (องค์กรตั้งซีอีโอโง่กว่าลูกน้อง) ซึ่งนอกจากจะเดินไม่ถึงฝั่งฝันแล้ว ยังอาจเกิดวิกฤตการณ์ภาวะผู้นำขึ้นในองค์กรได้อีกด้วย

ในระดับประเทศ ผู้นำยิ่งมีความสำคัญกว่าเป็นทบเท่าทวีคูณ ประธานาธิบดี ลี กวนยู แห่งสิงคโปร์ เป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้ ท่านผู้นี้เป็นผู้นำสิงคโปร์ที่เปลี่ยนประเทศจากเกาะเล็กๆ ที่ไม่มีทรัพยากรใดๆ ให้กลายเป็นเมืองท่าสำคัญของโลก เป็นศูนย์กลางทางการเงิน (Financial Hub) ในแถบเอเชียแปซิฟิก ทะยานขึ้นเป็นเสือเอเชียด้วยจีดีพีกว่า 90,000 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี

ลี กวนยู เป็นผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ภาพประเทศสิงคโปร์ที่เขาอยากจะให้เป็นนั้นชัดเจน แล้ววางยุทธศาสตร์ให้สิงคโปร์เดินทางไปยังจุดนั้น สิ่งที่ ลี กวนยู เน้นประการหนึ่งก็คือการพัฒนาคน เช่น การกำหนดให้คนสิงคโปร์ต้องพูดได้ 2 ภาษา คือภาษาอังกฤษและภาษาจีนกลาง ซึ่งก็ได้ทำให้พวกเขาสามารถโบยบินออกไปทำธุรกิจได้ทั่วโลก ในปี 1980 ผู้เขียนคุยกับไกด์สิงคโปร์บนถนนออร์เฉิร์ด เขาบอกว่าฟันทุกซี่ของพวกเขา รัฐบาลจ่ายสตางค์ให้หมด หากต้องเข้าร้านทำฟัน

ในระดับลีดเดอร์ชิปทีมของประเทศ ความคิดอ่านด้านยุทธศาสตร์จึงสำคัญมาก ยิ่งมีอำนาจ ยิ่งต้องฉลาดพอที่จะนำคนอื่นไปได้อย่างถูกต้อง อย่างน้อย “ความคิดเชิงยุทธศาสตร์” ต้องไม่บกพร่อง โครงการระดับยุทธศาสตร์ของประเทศที่ถูกล้มไปเมื่อไม่นานมานี้ คือโครงการแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืน และโครงการโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งทั่วประเทศ หากดึงปัจจัยทางการเมืองออก เหตุผลในการล้มเลิกโครงการมีน้ำหนักค่อนข้างน้อย เข้าทำนอง “เอาแทคติคมาล้มยุทธศาสตร์”

ระบบการบริหารประเทศจากนี้ไป (ตามรัฐธรรมนูญใหม่) องค์กรอิสระที่มีอำนาจยังมีอยู่มาก และมีอำนาจมากขึ้นด้วย การคัดสรรคนเข้าสู่ตำแหน่งในแต่ละองค์กร จึงอยากให้คณะกรรมการสรรหาเลือกผู้ที่สามารถคิดเชิงยุทธศาสตร์เป็น มากกว่าที่จะเป็นคนดีเพียงอย่างเดียว แต่มีความคิดคับแคบ

บุญเกียรติ ชีวะตระกูลกิจ
Email: [email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image