ภาษีพหุระบบ โดย : ผาสุก พงษ์ไพจิตร

ท่านผู้อ่านเคยสงสัยไหมว่า ทำไมนะ ในบ้านเราการเสียภาษีจึงแยกเป็นส่วนๆ กล่าวคือรายได้ประเภทต่างๆ ที่เราหามาได้ เสียภาษีในอัตราที่ไม่เท่ากัน เช่น รายได้จากดอกเบี้ย เสียร้อยละ 15 จากเงินปันผลร้อยละ 10 จากค่าเช่า ระหว่างร้อยละ 5 ถึง 12.5 สำหรับรายได้จากเงินเดือน อัตราการเก็บมีตั้งแต่ 0 ถึงร้อยละ 35 ทั้งๆ ที่ว่ารายได้ทั้งหลายนี้ไม่ว่าจะมาจากแหล่งไหนก็ตาม ต่างใช้ซื้อของ จ่ายหนี้หรือทำการอะไรที่ใช้เงินได้เหมือนกันทั้งสิ้น

แล้วท่านผู้อ่านคิดว่าภาษีพหุระบบนี้แฟร์ไหม? ที่อื่นเขาทำยังไง ดีกว่าเราไหม?

เพื่อที่จะตอบคำถามเหล่านี้ เราต้องคุยกันในเรื่องหลักการกันก่อนเพราะว่าภาษีนอกจากแสดงส่วนร่วมของประชาชนในการเงินของประเทศ ยังเป็นเรื่องที่จำเป็นมากเพื่อให้รัฐบาลมีรายได้ทำนุบำรุงเศรษฐกิจ สร้างสินค้าบริการสาธารณะและระบบสวัสดิการที่ให้ประโยชน์กับประชาชนจริงๆ เช่น ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ดังนั้น ภาษีต้องเป็นธรรม คือทุกคนต้องรู้สึกว่าเป็นระบบที่แฟร์ จึงจะร่วมมือเสียภาษีอย่างถูกต้องและไม่พยายามหลีกเลี่ยง

จากมุมมองที่ว่า รายได้ก็คือรายได้ ไม่ว่าจะมาจากแหล่งไหนใช้ได้เหมือนกันหมด ทุกรายได้ก็ควรจะถูกเก็บภาษี อันนี้เป็นหลักการทั่วๆ ไป ซึ่งเข้าใจได้ง่าย

Advertisement

แต่ยังมีหลักความเป็นธรรมในการเก็บภาษีอีกสองหลักในทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ที่ต้องทำความเข้าใจ อันดับแรกคือ ปัจเจกบุคคลมีรายได้ท่ากัน ควรเสียภาษีเงินได้เท่ากัน เช่นนาย ก และนาย ข มีรายได้คนละ 400,000 ต่อปี ทั้งสองควรเสียภาษีเท่ากัน (ความเท่าเทียมแนวนอน horizontal equity) หลักการนี้ให้ความเสมอภาคกับทุกคนและป้องกันไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติในเรื่องการจ่ายภาษี
ไม่ว่าเพศอะไร ถือศาสนาอะไร หรือมีรายได้ประเภทไหน

อันที่สองคือ หลักการจ่ายตามความสามารถ (capacity to pay) คือ มีมากจ่ายภาษีมาก มีน้อยจ่ายน้อย (ความเท่าเทียมแนวดิ่ง vertical equity) เกิดเป็นระบบภาษีอัตราก้าวหน้า (progressive tax) อัตราภาษีเป็นขั้นบันไดตามระดับรายได้จากน้อยไปมาก ผู้มีรายได้มากที่สุดเสียภาษีในอัตราสูงสุด หลักที่สองนี้สำคัญมาก เพื่อให้สังคมมีการกระจายรายได้ที่เป็นธรรม ลดช่องว่างของรายได้ เพื่อให้เกิดความเชื่อมแน่นในสังคม (social cohesion)

หลักการมีเท่ากันจ่ายเท่ากัน เป็นหลักการเบื้องต้นเพื่อจรรโลงความเท่าเทียมแต่ไม่พอเพียง เพราะคนในสังคมมีไม่เท่ากัน จึงต้องมีหลักการจ่ายตามความสามารถด้วย ตัวอย่างเช่น นางแทตเชอร์ อดีตนายกฯอังกฤษ เก็บภาษีรายหัว 500 ปอนด์/ปี ภายใต้หลักที่ว่าทุกคนเข้าถึงบริการสาธารณะ เช่น น้ำประปา บริการเก็บขยะกันทุกคน ดังนั้นทุกคนควรเสียภาษีเท่ากัน

Advertisement

แต่ภาษีรายหัวนี้ขัดกับหลักมีมากจ่ายมาก มีน้อยจ่ายน้อย เพราะ 500 ปอนด์กินเข้าไปในรายได้ทั้งหมดของผู้ที่มีรายได้น้อย ในสัดส่วนสูงกว่าในกรณีคนร่ำรวยมาก ภาษีรายหัวนี้จึงไม่สอดคล้องกับหลักความสามารถในการจ่ายแบบมีมากจ่ายมาก มีน้อยจ่ายน้อย ดังนั้นจึงไม่แฟร์

หลังจากทำความเข้าใจกับหลักการความเท่าเทียมดังที่ได้อธิบายมานี้ เราก็จะตอบคำถามที่ว่า พหุระบบภาษีแฟร์ไหมได้แล้ว สรุปก็คือ ไม่แฟร์ในกรณีของการเก็บภาษีรายได้จากดอกเบี้ย เงินปันผลและค่าเช่า ในอัตราต่างๆ กันตามแหล่งรายได้ โดยไม่ได้คิดถึงหลักการ มีเท่ากันจ่ายเท่ากัน หรือความสามารถในการจ่ายแต่อย่างใด

สําหรับรายได้จากการทำงานของมนุษย์เงินเดือน โครงการวิจัยที่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่องการปฏิรูประบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่มีผู้เขียนเป็นหัวหน้าโครงการ และ สกว.สนับสนุน พบว่าการเก็บภาษีจากรายได้เนื่องจากการทำงาน (เงินเดือน) ได้ใช้หลักความสามารถในการจ่ายด้วย โดยภาษีมีลักษณะก้าวหน้าเล็กน้อยตรงที่ผู้มีเงินเดือนต่ำมากๆ ไม่ต้องเสียหรือจ่ายในอัตราต่ำ ผู้ที่มีรายได้มากจ่ายในอัตราสูงกว่า

แต่ที่ยังก้าวหน้าเพียงเล็กน้อยนั้น เพราะรัฐบาลมีมาตรการบรรเทาภาษีเป็นจำนวนมาก และหลายมาตรการส่งผลเอื้อประโยชน์แก่คนมีรายได้สูง จนทำให้ผู้มีรายได้มากมีช่องทางหักค่าใช้จ่าย หักลดหย่อนได้มากกว่ากลุ่มที่มีรายได้น้อย (นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า รายจ่ายภาษีหรือ tax expenditure) ทำให้ความก้าวหน้าในอัตราภาษีที่กำหนดตามขั้นบันไดชั้นรายได้ลดความเข้มข้นลงไปอย่างมาก ตัวอย่างเช่นมาตรการบรรเทาภาษีเมื่อเร็วๆ นี้ในรูปของ ‘ช้อป-เที่ยว’ ช่วยชาติ ให้ประโยชน์กับคนรายได้มาก แต่ผู้มีรายได้น้อยแทบไม่ได้ประโยชน์เลย หรือมาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ให้แก่ผู้ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือ LTF ให้ประโยชน์แก่คนรวยจำนวนหยิบมือหนึ่งเท่านั้น ในขณะที่มาตรการนี้ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ถึงกว่า 8 พันกว่าล้านบาทในปี 2555 ซึ่งในเรื่องนี้คณะวิจัยเสนอให้ยกเลิกทันที และข้อเสนอนี้สอดคล้องกับทางกรมสรรพากรเองที่กำหนดยกเลิกในปีภาษี 2562

มาถึงคำถามสุดท้าย แล้วประเทศอื่นๆ เขาทำอย่างไรกัน ดีกว่าไทยไหม?

หลายประเทศที่ให้ความสำคัญกับหลักความเป็นธรรม จะใช้ระบบภาษีแบบบูรณาการ คือไม่แยกส่วน ระบบภาษีแบบบูรณาการกำหนดให้ผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดารายงานเงินได้ทุกประเภทที่ได้รับไม่ว่าจะเป็น เงินเดือน ดอกเบี้ย เงินปันผล ค่าเช่า รายได้จากรับเหมา กิจการธุรกิจแบบปัจเจกบุคคลหรือคณะบุคคล รวมทั้งรายได้จากต่างประเทศ ลงไปในแบบภาษีคราวเดียวกันเลย มีระบบภาษีหัก ณ ที่จ่ายและเครดิตภาษี ทุกคนคำนวณและชำระจ่ายภาษีตามชั้นเงินได้และอัตราภาษีแบบก้าวหน้าที่กำหนด ในระบบเดียวกัน การหักค่าใช้จ่ายมีกฎเกณฑ์ที่ตกลงร่วมกัน มีหลักฐานชัดเจน ลดหย่อนยกเว้นมีไม่มาก มาตรการบรรเทาภาษีมักใช้สำหรับผู้มีรายได้น้อยเป็นหลัก โดยมุ่งไปที่การกำหนดระดับรายได้ต่ำสุดที่จะต้องเสียภาษีให้เหมาะสม การกรอกแบบภาษีไม่ยุ่งยาก ในบางประเทศ สรรพากรเก็บข้อมูลละเอียดใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ทันสมัย จนสามารถกรอกแบบภาษีแทนประชาชนได้เลย ผู้เสียเพียงแต่ตรวจดูแล้วชำระภาษีเท่านั้น

ในประเทศเหล่านี้ (ส่วนมากคือประเทศพัฒนาแล้วในโออีซีดี แต่ก็มีประเทศกำลังพัฒนาด้วย เช่น ตุรกีและประเทศแถบยุโรปตะวันออก) ระบบภาษีดังกล่าวมีประสิทธิภาพสูง เก็บภาษีได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย แฟร์ โปร่งใส ตรวจสอบได้ มีการเปิดเผยข้อมูลแก่สาธารณชน โดยไม่ขัดกับกฎหมาย และได้รับความร่วมมือจากประชาชนสูง

ถ้าจะให้ระบบของไทยแฟร์ ควรจะพิจารณาปรับสู่ระบบบูรณาการ ซึ่งไม่เหลือบ่ากว่าแรงที่จะทำ ถ้าทำแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ที่ยากจริงๆ อยู่ตรงที่ผู้ได้ประโยชน์จากระบบในปัจจุบันจะคัดค้านและล็อบบี้ไม่ให้เปลี่ยน และพวกเขามักเป็นกลุ่มผู้ทรงอิทธิพลนั่นแล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image