ระยะเปลี่ยนผ่าน โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

จากที่พูดกันแบบเบลอๆ จากหลายฝ่าย ในที่สุดคำว่า “ระยะเปลี่ยนผ่าน” ก็กลายเป็นคำที่ถูกเน้นย้ำขึ้นมาเองจากฝ่ายรัฐบาล โดยเฉพาะตัวนายกรัฐมนตรี แต่ทั้งนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนใดๆ ว่า ทำไมจะต้องมีระยะเปลี่ยนผ่าน

การเปลี่ยนผ่านหมายถึงอะไร และอะไรคือความสำเร็จของการเปลี่ยนผ่าน?

วกมาสู่จุดเริ่มต้นที่น่าสนใจว่า หลายปีที่ผ่านมานี้เรามีคำมากมายที่ถูกจุดกระแสขึ้นมาในสังคมไทย แต่เป็นคำที่มีความหมายไม่ตรงกัน

อาทิ คำว่า ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน การปฏิรูป ประชารัฐ ก่อนจะมาถึงคำว่า การเปลี่ยนผ่าน

Advertisement

ที่เว้นคำว่าประชาธิปไตยเอาไว้ ก็เพราะ ประชาธิปไตยมีความหมายที่ตรงกัน เพียงแต่ว่าการให้คุณค่ากับมันนั้นไม่เท่ากันมากกว่า รวมทั้งคุณภาพของมันยังไม่ดีพอ ไม่ใช่ความหมายไม่ตรงกันซะทีเดียว

ผมอยากจะขอนำเอาเรื่องการเปลี่ยนผ่านเท่าที่ผมเข้าใจมาอภิปรายสักนิด คือเรื่องของความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน และเรื่องของการเปลี่ยนประชาธิปไตย ซึ่งผมก็ไม่แน่ใจว่ามันเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนผ่านที่รัฐบาลมีอยู่ในใจหรือไม่

ในประการแรก คำว่า ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน หรือ transitional justice นั้น ถูกจุดประเด็นขึ้นมาในช่วงหลังเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง และการสลายการชุมนุมที่มีคนตายมากมายที่แยกราชประสงค์เมื่อหลายปีก่อน ในตอนนั้นคำว่าความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน กับความจริงเพื่อความปรองดอง เป็นคำยอดฮิต มีการพูดถึง และตั้งคณะกรรมการขึ้นมาค้นหา รวมทั้งมีการเชิญคนสำคัญของโลกและนักวิชาการมากมายมาพูดถึงเรื่องนี้ แต่สุดท้าย ในวันนี้ตกลงผมก็ยังไม่แน่ใจว่าสังคมเข้าใจกันหรือยังว่ามันคืออะไรกันแน่ ไอ้เจ้าความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน

Advertisement

อันที่จริงในความเข้าใจของผมจากการติดตามเรื่องนี้ คำอธิบายง่ายๆ มันก็มี แต่ทำไมคนไม่เข้าใจกัน โดยเฉพาะคนที่คิดว่าน่าจะต้องรับผิดชอบเรื่องทำให้คนอื่นเข้าใจ กลับไม่ได้สนใจเรื่องเหล่านี้มากนัก

พูดง่ายๆ ว่า ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านมันมีอยู่สองประเด็น ประเด็นแรกคือหลักการของมัน และประการที่สองคือสาระสำคัญของแต่ละกรณี

ในแง่หลักการ ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน มันคือการได้มาซึ่งความจริงที่จะนำไปดำเนินคดีเพื่อได้มาซึ่งความยุติธรรมและความปรองดอง ความยุติธรรมมีสองขั้นตอน ขั้นตอนสุดท้ายคือการลงโทษคนผิดและชดใช้ชดเชย และทำให้มันไม่มีปัญหาอีก ส่วนในระยะเปลี่ยนผ่านนั้น ความยุติธรรมอาจจะต้องแลกมาด้วยการยกเว้นบางเรื่องตามที่ได้ตกลงกัน เพื่อให้ได้ความจริงและความยุติธรรมในขั้นสุดท้าย

ตัวอย่างเช่น การกันนายทหารระดับล่างที่รับคำสั่งให้จัดการประชาชนไว้เป็นพยานหรือนิรโทษผู้ร่วมชุมนุม เพื่อให้พวกเขาให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการค้นหาผู้สั่งการเพื่อเอาผู้สั่งการมารับผิด

พูดง่ายๆ มันไม่ใช่การนิรโทษกรรมทุกฝ่ายแบบไม่สามารถระบุความผิด และจะต้องมีการดำเนินคดีให้ได้เสียก่อน เพราะไม่เช่นนั้นความยุติธรรมกับทุกฝ่ายก็จะไม่เกิด

ส่วนในแต่ละประเทศ สาระสำคัญของที่มาของความไม่ยุติธรรมคืออะไรก็ว่ากันไป แต่หลักการต้องมีต้องชัดเจน ซึ่งพูดง่ายๆ ก็คือ ระยะเปลี่ยนผ่านนั้นจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อฝ่ายที่ไม่ได้รับความยุติธรรมนั้นได้รับชัยชนะทางการเมือง ในแง่การได้มาซึ่งอำนาจรัฐ หรือมีการแทรกแซงจากองค์กรหรือกองกำลังอื่นๆ ที่มีความเป็นกลาง ในความหมายที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย และได้รับการสนับสนุนจากประชาชนให้เข้ามาจัดการค้นหาความจริง

พูดง่ายๆ ก็คือ ฝ่ายที่เข้ามาเป็นคนกลางนั้นมุ่งหมายที่จะค้นหาความจริงและสร้างความยุติธรรมให้กับประเทศ รวมทั้งอาจจะต้องมีกระบวนการทางตุลาการพิเศษที่ทำงานได้จริงๆ

คำถามก็คือ สิ่งที่เกิดขึ้นที่ผ่านมา และเกิดขึ้นในตอนนี้ที่บ้านเรา มันใช่เรื่องระยะเปลี่ยนผ่านและความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านแบบที่เป็นอยู่ไหม อะไรคือกระบวนการที่จะนำไปสู่ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านที่รับได้กันทุกฝ่าย

มาสู่ประเด็นถัดมาก็คือ การเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตย (democratic transition) ซึ่งอาจจะสรุปสาระสำคัญง่ายๆ ได้ว่า เป็นเรื่องแนวคิดที่ศึกษาสองเรื่องใหญ่ๆ นั่นคือ การพังทลายลงของระบอบเผด็จการ และสองคือการสถาปนาประชาธิปไตยขึ้นให้ลงหลักปักฐาน และกลายเป็นกฎกติกาเดียวในสังคม

การทำให้ประชาธิปไตยเป็นกฎกติกาเดียวในสังคม ไม่ได้หมายความว่าพวกมากลากไป เพราะประชาธิปไตยมันต้องมีเงื่อนไขขั้นต่ำมากมาย กล่าวคือ ต้องทำให้ประชาธิปไตยเป็นประชาธิปไตยที่มีคุณภาพ ไม่งั้นมันจะเป็นกฎกติกาเดียวของสังคมไม่ได้

การศึกษาเรื่องประชาธิปไตยในระยะเปลี่ยนผ่านนั้น มันทำให้เราไม่ด่วนสรุปว่าเรื่องทุกเรื่องเกิดขึ้นอย่างฉับพลันทันทีและหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่นมองว่าประชาธิปไตยจะเกิดขึ้นทันทีที่ล้มเผด็จการได้ มาสู่การทำความเข้าใจก่อนว่า อะไรคือเงื่อนไขที่เผด็จการนั้นเข้าสู่อำนาจได้แต่เริ่มแรก ซึ่งส่วนหนึ่งคือการย้อนกลับไปสนใจว่า ประชาธิปไตยที่เคยมีมามันมีปัญหาอะไร ทำไมระบอบประชาธิปไตยเดิมมันถึงพังทลายลง หรือไม่เข้มแข็งพอ

จากนั้นก็มาศึกษาว่า ระบอบเผด็จการนั้นอยู่ในอำนาจได้อย่างไร และพังลงได้อย่างไร ซึ่งจากการศึกษาก็มีความซับซ้อนมากกว่าที่ว่าประชาชนจะโค่นล้มเผด็จการลงได้เสมอไป

ไม่นับว่าในหลายกรณีการโค่นล้มเผด็จการอาจจะเกิดจากเผด็จการอีกกลุ่มหนึ่ง หรือการมีประชาธิปไตยที่ขาดคุณภาพ

ในบางกรณีนั้น การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยจึงเริ่มจากกระบวนการเจรจาที่ยาวนานของแต่ละฝ่ายที่เริ่มพูดคุยกัน และร่วมกำหนดการกลับสู่ประชาธิปไตย ร่วมกันสร้างประชาธิปไตยไปด้วยกัน ไม่ใช่เรื่องของการประกาศง่ายๆ ว่าเมื่อไหร่จะมีการเลือกตั้งจากฝ่ายเดียว

บางกรณี ความคลาสสิกอยู่ที่ว่า ในระยะเปลี่ยนผ่านนั้น ฝ่ายเผด็จการเดิมจะวางรากฐานการสืบทอดอำนาจแบบเนียนๆ ต่อไปได้อย่างไร แต่ในหลายกรณีก็พบว่าประชาชนเองก็รู้ทัน และพยายามที่จะปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางอำนาจนั้นสำเร็จ ซึ่งหมายถึงทั้งการสร้างประชาธิปไตยและการสร้างประชาธิปไตยที่มีคุณภาพให้ได้

ทั้งนี้ เรื่องการเปลี่ยนผ่านไม่ใช่เรื่องง่าย บางทีต้องเข้าใจว่าเผด็จการเองอาจจะไม่ได้อยากอยู่ในอำนาจ แต่พันธมิตรเผด็จการอยากอยู่ในอำนาจมากกว่าเผด็จการเสียอีก และประชาชนที่อยากได้ประชาธิปไตยก็ยังไม่สามารถพัฒนากลไกที่จะทำให้ประชาธิปไตยยั่งยืนได้

ในบางที การคงอยู่ในอำนาจทางอ้อมคือจุดสำคัญที่เผด็จการยอมลงได้เช่นกัน แทนที่จะต้องไล่ แต่ในระยะยาวเรื่องราวก็จะดีขึ้น ถ้าช่วยกันพัฒนาคุณภาพประชาธิปไตย เพราะเผด็จการมีต้นทุนในการอยู่ในอำนาจมากเช่นกัน บางกลุ่มก็ตัดใจและตัดสินใจถอยออกไปได้ บางกลุ่มก็อยู่จนพัง

ดังที่เคยอธิบายไว้บ่อยๆ ว่า เผด็จการทหารเป็นกลุ่มที่ถอยได้ง่ายที่สุด เพราะเขามีงานทำหลังจากที่กลับกรมกอง และเขาอยากเป็นทหารอาชีพมากกว่าเผด็จการแบบอื่นๆ ที่มีผลประโยชน์ในการเกี่ยวข้องทางการเมืองมากกว่า

ทั้งหมดที่เล่ามานี้ก็เพื่อให้เห็นว่า ระยะเปลี่ยนผ่านนั้นกินเวลายาวนาน มีความหมายนัยยะซ่อนเร้นอยู่มากมาย ทั้งที่เกี่ยวกับความยุติธรรมที่เป็นเป้าหมายใหญ่ มาจนถึงเรื่องการได้มาซึ่งประชาธิปไตยที่มีคุณภาพ

แต่สำหรับการเปลี่ยนผ่านที่ขอกันห้าปีตอนนี้ หรือการวางแผนยุทธศาสตร์ยี่สิบปีนี้จะหมายถึงอะไร ผมก็ตอบได้ยากมากครับว่าเป้าหมายมันคืออะไร มันคือการเปลี่ยนผ่าาน หรือแค่การประกาศเจตจำนงเฉยๆ ว่าจะอยู่ในอำนาจจนกว่าจะลงไป หรือจนกว่าจะมีเป้าหมายใหม่ก็ไม่ทราบได้ เพราะยังไม่เห็นตัวชี้วัดหรือเป้าหมายอะไรว่าในห้าปีปัญหาเก่ามันจะหายไป ความยุติธรรมมันจะกลับมา หรือประชาธิปไตยมันจะมีคุณภาพขึ้น

ถ้ารัฐบาลตอบไม่ได้ ก็ต้องถามกองเชียร์รัฐบาล

แล้วก็ถามประชาชนด้วยครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image