ตามหา‘หมาน้อย’ลอยฟ้า : โดย บัญชา ธนบุญสมบัติ

บัญชา ธนบุญสมบัติ
www.facebook.com/buncha2509
[email protected]

ในบรรดาการทรงกลดทั้งหมดหลายสิบแบบ วงกลมขนาด 22 องศา เป็นแบบที่เกิดบ่อยที่สุด ส่วนการทรงกลดที่ขอแนะนำครั้งนี้น่ารู้จักไว้เพราะเกิดบ่อยเป็นอันดับที่ 2
ดูภาพที่ 1 ครับ แถบแสงสีรุ้งทางซ้ายและขวาของดวงอาทิตย์คือการทรงกลดที่กล่าวถึง ถ้าพูดถึงแถบแสงข้างใดข้างหนึ่ง ก็เรียกว่า ซันด็อก (sundog) แต่ถ้าเรียกรวมทั้ง 2 ข้าง ก็เติม s เข้าไปเป็น sundogs

ภาพที่ 1 : ซันด็อก
22 สิงหาคม 2560 6:58 น. ถนนวงแหวนตะวันตก
ภาพ : บัญชา ธนบุญสมบัติ

ชื่ออย่างเป็นทางการของซันด็อก คือ พาร์ฮีเลียน (parhelion) มาจากคำว่า par คือ อยู่ข้างๆ + helios คือ ดวงอาทิตย์ ดังนั้น parhelion จึงหมายถึง (แถบแสง) ที่อยู่ข้างๆ ดวงอาทิตย์นั่นเอง พหูพจน์คือ พาร์ฮีเลีย (parhelia)

คำว่า sundog บางครั้งก็สะกดว่า sun dog มีคำอธิบายที่มาแบบหนึ่งคือ แถบแสงเปรียบเสมือนสุนัขที่คอยติดตามเจ้านาย (คือ ดวงอาทิตย์) ด้วยเหตุนี้เอง เพื่อนๆ สมาชิกชมรมคนรักมวลเมฆจึงพากันเรียกซันด็อก
ด้วยความเอ็นดูว่า “หมาน้อย” น่าสนใจว่าเจ้าหมาน้อยอาจปรากฏแค่ตัวใดตัวหนึ่ง หรือพร้อมกันทั้งสองตัวก็ได้

หากซันด็อกสว่างจ้าจนดูราวกับว่ามีดวงอาทิตย์เพิ่มขึ้นบนท้องฟ้า ฝรั่งเรียกว่า mock sun แปลว่า ดวงอาทิตย์เลียนแบบ

Advertisement

ผมเคยอ่านหนังสือ “การศึกษาประวัติศาสตร์ไทอาหม” เขียนโดย ศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา และรองศาสตราจารย์เรณู วิชาศิลป์ ในหน้า 118 พบคำศัพท์ที่ใช้เรียกปรากฏการณ์ธรรมชาติคำหนึ่งคือ “วันออกสองลูกสามลูก” แปลว่า ตะวันออกพร้อมกันสองดวงสามดวง อ่านเจอครั้งแรกนี่รู้สึกปลื้มปีติเลยครับ เพราะเชื่อว่านี่คือชื่อเรียก mock sun(s) หรือ sundog(s) ที่สว่างมากๆ นั่นเอง
กล่าวคือ หากเห็นข้างเดียว บนฟ้าก็จะมีดวงอาทิตย์จริง + ดวงอาทิตย์เลียนแบบอีกหนึ่ง รวมเป็น “วันออกสองลูก” แต่ถ้าเห็นสองข้าง บนฟ้าก็จะมีดวงอาทิตย์จริง + ดวงอาทิตย์เลียนแบบอีกสอง รวมเป็น “วันออกสามลูก”

เจ้า “หมาน้อย” ของเรายังมีแง่มุมน่าสนใจอีกมากมายครับ เช่น

☐ ซันด็อกหันด้านสีแดงเข้าหาดวงอาทิตย์เสมอ (ดูภาพที่ 1)

☐ ซันด็อกอาจมีเส้นสีขาวยื่นออกไป เปรียบคล้ายๆ กับ “หาง” ของหมาน้อย เส้นสีขาวนี้เป็นส่วนหนึ่งของวงกลมพาร์ฮีลิก (parhelic circle) ที่เคยเล่าไว้คราวก่อนครับ (ดูภาพที่ 2 และ 3)

☐ ซันด็อกเกิดได้ทั้งในช่วงเช้าและช่วงเย็น โดยลักษณะของซันด็อกขึ้นกับมุมเงยของดวงอาทิตย์ (ดูภาพที่ 3)

☐ หากดวงอาทิตย์อยู่ที่ขอบฟ้า ซันด็อกจะอยู่บนเส้นทรงกลดวงกลม 22 องศาพอดี แต่ยิ่งดวงอาทิตย์อยู่สูงจากของฟ้าเท่าไหร่ ซันด็อกก็จะหนีห่างจากวงกลม 22 องศา ไปมากเท่านั้น แถมจางลงอย่างมาก (ดูภาพที่ 3 และ 4)

ภาพที่ 2 : “หมาน้อย” และ “หาง” (เส้นขาวๆ พุ่งไปทางซ้าย)
8 มิถุนายน 2560 17:59 น. จ.เชียงใหม่
ภาพ : กัญญากานต์ แสงแก้ว
ภาพที่ 3 : ลักษณะของซันด็อกขึ้นกับมุมเงยของดวงอาทิตย์
ที่มาของภาพ > http://atoptics.co.uk/halo/dogalt.htm
ภาพที่ 4 : ซันด็อกอยู่นอกทรงกลดวงกลม 22 องศา
(มุมเงย 34 องศาในภาพ)
10 กรกฎาคม 2560 16:16 น. จ.ชลบุรี
ภาพ : กานดา ตีรสิตานนท์

อาจมีคำถามว่า ดวงจันทร์อาจเกิดการทรงกลดคล้ายๆ กับซันด็อกได้ไหม? ภาพที่ 5 คือคำตอบครับ ชื่อแถบแสงแต่ละข้างก็เดาได้ง่ายด้วย เพราะแต่ละข้างเรียกว่า moondog (มูนด็อก) ถ้าเรียกรวมสองข้างก็เติม s เข้าไปเท่านั้นเอง!

ภาพที่ 5 : มูนด็อก
9 กรกฎาคม 2560 (วันแรม 1 ค่ำ) 21:37 น. จ.ลพบุรี
ภาพ : ศุภรัตน์ เพชรรุ่ง

ขุมทรัพย์ทางปัญญา
ขอแนะนำ Sundog & Moondog Gallery
ที่ http://atoptics.co.uk/halo/dogim0.htm


 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image