จาก พฤศจิกา 60 สู่ พฤศจิกา 61 “การเมือง”เดินหน้า

ระหว่างวันที่ 25-29 ตุลาคม หัวใจไทยทุกดวงมุ่งเน้นไปยังภารกิจเดียวกัน

ร่วมด้วยช่วยเหลือในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9

พสกนิกรจากทั่วประเทศหลั่งไหลเข้ามายังท้องสนามหลวงจนล้น โดยมีพสกนิกรเดินทางมารอร่วมพระราชพิธีตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม

ค้างคืน พักแรม รอคอยร่วมพระราชพิธี

Advertisement

ขณะที่่พสกนิกรที่ไม่สามารถเดินทางไปยังท้องสนามหลวงได้ก็กระจายไปยังพระเมรุมาศจำลอง ซึ่งทางราชการจัดไว้ให้

ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด รวม 88 แห่ง

บรรยากาศที่พระเมรุมาศจำลองเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันประกอบพระราชพิธีถวายพระเพลิง รัชกาลที่ 9 นั้นเนืองแน่น

Advertisement

ประชาชนทุกเพศทุกวัยต่างยืนคอยเพื่อวางดอกไม้จันทน์

แม้แดดจะร้อน แม้ฝนจะตก ก็ยังคงยืนรอคอย

กราบบังคมลารัชกาลที่ 9

นอกจากพสกนิกรที่เข้าร่วมในพระราชพิธีแล้ว ยังมีประชาชนอีกส่วนหนึ่งสวมชุดจิตอาสา คอยออกปฏิบัติหน้าที่ตลอดเวลา

จิตอาสาดังกล่าว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงโปรดเกล้าฯให้รับสมัครเป็นจิตอาสาเฉพาะกิจ

ทำหน้าที่ 8 งาน ประกอบด้วย งานดอกไม้จันทน์ งานประชาสัมพันธ์ งานโยธา งานขนส่งเพื่อความปลอดภัยของประชาชน งานบริการประชาชน งานแพทย์ งานรักษาความปลอดภัย และงานจราจร

จิตอาสาเฉพาะกิจเหล่านี้มีจำนวนทั่วประเทศ 4 ล้านคน เป็นกำลังสำคัญให้แก่ทางการในการช่วยงานครั้งนี้

ดังนั้น ตลอดระยะเวลางานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ รัชกาลที่ 9 จึงพบเห็นบุคคลสวมหมวกสีฟ้า ผูกผ้าพันคอสีเหลือง ทำหน้าที่จิตอาสาอย่างแข็งขัน

ยังไม่รวมถึงภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนอื่นๆ ที่เข้ามาช่วยอย่างเต็มกำลัง

ทั้งน้ำ อาหาร ยา และอื่นๆ ที่พอจะหามาช่วยเหลือได้

ทุกอย่างที่ปรากฏล้วนยืนยันความจงรักภักดีของพสกนิกรชาวไทย

พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ รัชกาลที่ 9 เริ่มอย่างเป็นทางการตามราชกิจจานุเบกษา ระบุวันที่ 25 ตุลาคม มีพระราชพิธีออกพระเมรุฯ

วันที่ 26 ตุลาคม มีขบวนพระบรมราชอิสริยยศเคลื่อนไปยังพระเมรุมาศ ณ ท้องสนามหลวง ในช่วงเช้า

และพระราชพิธีถวายพระเพลิงในช่วงเย็น กระทั่งเวลา 22.00 น. ถวายพระเพลิง (จริง)

วันที่ 27 ตุลาคม มีพระราชพิธีเก็บพระบรมอัฐิ วันที่ 28 ตุลาคม มีพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลพระบรมอัฐิ

และวันที่ 29 ตุลาคม มีพระราชพิธีอัญเชิญพระโกศพระบรมอัฐิขึ้นประดิษฐาน ณ พระวิมาน บนพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

และบรรจุพระบรมราชสรีรางคาร

สำหรับวัดที่บรรจุพระบรมราชสรีรางคารของรัชกาลที่ 9 นั้น กำหนดให้มี 2 วัด คือ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และวัดบวรนิเวศวิหาร

วัดที่บรรจุพระบรมราชสรีรางคาร ถือเป็นวัดประจำรัชกาล

พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ รัชกาลที่ 9 มีพระประมุข ประมุข และพระราชวงศ์ รวม 24 ประเทศ มีรองประมุข หัวหน้ารัฐบาล และผู้แทนพิเศษ รวม 18 ประเทศเข้าร่วม

สำหรับพระประมุข และพระราชวงศ์ มีอาทิ สมเด็จพระราชาธิบดีและสมเด็จพระราชินีแห่งเลโซโท สมเด็จพระราชาธิบดีและสมเด็จพระราชินีแห่งภูฏาน สมเด็จพระราชาธิบดีและสมเด็จพระราชินีแห่งตองกา

นายทิน จอ ประธานาธิบดีเมียนมา และภริยา นายบุนยัง วอละจิด ประธานประเทศแห่ง สปป.ลาว และภริยา นางฮะลีมะฮ์ ยาคอบ ประธานาธิบดีสิงคโปร์ และคู่สมรส สมเด็จพระราชินีซิลเวีย แห่งสวีเดน สมเด็จพระราชินีแมกซิมา แห่งเนเธอร์แลนด์ สมเด็จพระราชินีมาทิลเดอ แห่งเบลเยียม สมเด็จพระราชินีโซเฟีย แห่งสเปน

เจ้าชายคอลิฟะห์ บิน ซัลมาน อัล คอลิฟะห์ นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรบาห์เรน มกุฎราชกุมารเฟรเดอริก แห่งเดนมาร์ก มกุฎราชกุมารฮากอน แม็กนุส แห่งนอร์เวย์ แกรนด์ดยุก กีโยม ฌอง โจเซฟ มารี รัชทายาทแห่งลักเซมเบิร์ก รองสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งมาเลเซียและสุลต่านแห่งรัฐเประ และพระชายา

เจ้าชายแอนดรูว์ ดยุกแห่งยอร์ก แห่งสหราชอาณาจักร เจ้าชายอะกิชิโนะ และพระชายา แห่งญี่ปุ่น เจ้าชายธานี บิน ฮาหมัด บิน คาลิฟา อัล-ธานี พระอนุชาของเจ้าผู้ครองรัฐแห่งกาตาร์ เจ้าหญิงมาร์กาเรตาแห่งลิกเตนสไตน์ เป็นต้น

สำหรับรองประมุข หัวหน้ารัฐบาล และผู้แทนพิเศษ ประกอบด้วย นางดัง ธิ ง็อก ธินห์ รองประธานาธิบดีเวียดนาม สมเด็จฯฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา นายจาง เกาลี่ รองนายกรัฐมนตรีจีน เป็นต้น

และยังมีทูตานุทูตประเทศต่างๆ เข้าร่วมในพระราชพิธี สำนักข่าวต่างประเทศได้เผยแพร่ข่าวพระราชพิธี

เผยแพร่พระเกียรติรัชกาลที่ 9 ไปทั่วโลก

ภายหลังเสร็จสิ้นพระราชพิธีอันเศร้าโศก ทุกคนในประเทศไทยต้องเดินหน้าต่อไป

รวมทั้งการเมืองไทยด้วย

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ได้กำหนดเวลาการขับเคลื่อนประเทศ รวมถึงการวางกรอบเวลาสำหรับการเลือกตั้งทั่วไปไว้แล้ว

ขณะเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ได้ประกาศชัดแจ้งก่อนหน้านี้ว่า เดือนมิถุนายน 2561 จะประกาศวันเลือกตั้ง

เดือนพฤศจิกายน 2561 จะเลือกตั้งทั่วไป

ดังนั้น นับจากวันนี้ไปจนถึงวันนั้น การเมืองไทยมีเวลาเตรียมตัว 12 เดือน

ตามเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้งจะกำหนดได้ สนช.ต้องผ่านร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) 4 ฉบับ ประกอบด้วย พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการที่มาซึ่ง ส.ว.

ขณะนี้ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง และ พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. ประกาศใช้แล้ว โดยอยู่ระหว่างการสรรหา กตต.ชุดใหม่ และเปิดทางให้พรรคการเมืองปรับเปลี่ยนตามข้อกำหนดของกฎหมายใหม่

ส่วน พ.ร.ป.อีก 2 ฉบับ กรธ.ในฐานะผู้ร่างยืนยันว่าจะเสร็จสิ้นและเสนอให้ สนช.พิจารณาได้ภายในเดือนพฤศจิกายน 2561 นี้

แต่จะประกาศใช้ได้เมื่อใด ต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ สนช. ที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้เสร็จสิ้นภายใน 60 วัน

หรือประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2561

หากทุกอย่างเป็นไปตามกำหนด ไม่มีอุปสรรค์ขวางหน้า การเมืองไทยจะเดินเข้าสู่การเลือกตั้งภายใน 150 วันหลังจาก พ.ร.ป. 4 ฉบับประกาศใช้

ทั้งหมดคือการบ้านทางการเมืองที่ทุกฝ่ายจะต้องขับเคลื่อน

นำประเทศเดินหน้าต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image