การจัดการขยะตามแนวพระราชดำริ : โดย ดร.พิรียุตม์ วรรณพฤกษ์

กว่า 20 ปีของการทำงานในแวดวงขยะต้องเกี่ยวข้องกับผู้คนและหน่วยงานหลากหลาย ตั้งแต่ชาวบ้าน เจ้าหน้าที่รัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นักวิชาการ นักธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีทั้งความสำเร็จ ความล้มเหลว พบกับการมีส่วนร่วมและการต่อต้านคัดค้านแม้กระทั่งการข่มขู่นานารูปแบบ ปัญหาขยะจึงไม่ใช่แค่ปัญหาทางวิชาการหรือปัญหาทางเทคนิค มันรวมเอาปัญหาเงินๆ ทองๆ ผลประโยชน์ ปัญหาสังคม จนถึงปัญหาการเมือง

ย้อนกลับไปพิจารณาพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ในงานนิทรรศการอุทยานวิจัยและงานเกษตรแห่งชาติประจำปี 2538 ที่มีเนื้อหาเรื่องการจัดการขยะที่สมบูรณ์ที่สุด

“ดูดแก๊สมาทำไฟฟ้าเราเห็นด้วย แต่ว่าขออีกขั้นหนึ่ง มีเวลาอีกประมาณสัก 5 ปี ที่จะมาทำไฟฟ้าด้วยขยะที่สลายไบโอแก๊ส ออกไปแล้ว เอาออกไปและก็มาเผาด้วยเครื่องสำหรับกรองมลพิษที่ออกมาจากการเผาตั้งแต่ต้นก็มาฝัง แล้วเราก็ดูดแก๊สออกมาใช้ แล้วขุดหลังจากนั้นนำมาเผา ได้ขี้เถ้าแล้วนำไปอัด หมดจากหลุมนี้ก็เอาขยะมากลบ ก็ผลิต 10 ปี ครบวงจรแล้ว”

ระหว่างปี 2528-2530 กระทรวงมหาดไทยดำเนินการก่อสร้างระบบฝังกลบให้กับเมืองหลักตามภูมิภาคต่างๆ เป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยมีระบบกำจัดขยะแบบฝังกลบที่ถูกหลักสุขาภิบาล และมีข้อสรุปว่าการฝังกลบเป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุดสำหรับประเทศเพราะมีต้นทุนการลงทุนและดำเนินการต่ำ ไม่ซับซ้อน ท้องถิ่นสามารถดำเนินการได้เอง

Advertisement

ปัจจัยสำคัญของระบบฝังกลบได้แก่ 1) การป้องกันน้ำเสียที่เกิดจากขยะหรือที่ทางวิชาการเรียกว่าน้ำชะขยะไหลปนเปื้อนน้ำผิวพื้นและซึมปนเปื้อนน้ำใต้ดิน จึงต้องมีการบดอัดพื้นล่างของหลุมฝังกลบด้วยดินเหนียวเพื่อป้องกันการซึมผ่าน หรืออาจใช้วัสดุสังเคราะห์ประเภท High Density Polyethylene (HDPE) เหมือนแผ่นพลาสติกหนาๆ ปูกันการซึมผ่าน 2) การป้องกันกลิ่น แมลง ด้วยการกลบดินรายวันหลังการนำขยะมาเททิ้ง และ 3) การติดตั้งท่อระบายก๊าซที่เกิดจากการย่อยสลายของขยะอินทรีย์ ก๊าซที่เกิดขึ้นมีสัดส่วนของก๊าซมีเทน (Methane) กว่าครึ่ง เป็นก๊าซติดไฟซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดไฟไหม้กองขยะ ก๊าซนี้สามารถนำมาใช้เป็นก๊าซเชื้อเพลิงผลิตพลังงานได้

จากกระแสพระราชดำรัส ศูนย์ปฏิบัติการวิศวกรรมพลังงานและสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เริ่มดำเนินโครงการบำบัดและใช้ประโยชน์จากขยะ เพื่อนำเอาก๊าซจากหลุมฝังกลบกำแพงแสนมาผลิตกระแสไฟฟ้าขนาด 650 กิโลวัตต์ นับเป็นการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากขยะครั้งแรกของประเทศ

ปัจจุบันในพื้นที่ฝังกลบกำแพงแสน ซึ่งรองรับขยะจากกรุงเทพมหานครวันละไม่น้อยกว่า 5,000 ตัน ได้ขยายกำลังการผลิตพลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้น กลายเป็นรายได้สำคัญของเอกชนเจ้าของสถานที่ฝังกลบแห่งนี้

Advertisement

ปัจจุบันที่การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากก๊าซหลุมฝังกลบที่สถานที่ฝังกลบบ้านตาล อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นสถานที่ฝังกลบขนาดใหญ่รองรับปริมาณขยะจากเทศบาลนครเชียงใหม่และท้องถิ่นอื่นๆ วันละมากกว่า 700 ตัน สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้กว่า 2 เมกะวัตต์

แล้วพระราชดำรัสที่ว่า “มีเวลาอีกประมาณสัก 5 ปี ที่จะมาทำไฟฟ้าด้วยขยะที่สลายไบโอแก๊ส ออกไปแล้ว เอาออกไป” หมายความว่าอย่างไร

พระราชดำรัสในส่วนนี้หมายถึงการนำเอาก๊าซจากหลุมฝังกลบมาใช้เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า ปริมาณก๊าซในหลุมฝังกลบจะมีปริมาณเพียงพออีกประมาณ 5 ปี นับเป็นพระอัจฉริยภาพที่ทรงรอบรู้แม้แต่ทฤษฎีด้านการจัดการขยะ

ก๊าซมีเทนหรือก๊าซผสมระหว่างคาร์บอนไดออกไซด์กับมีเทนในสัดส่วนประมาณ 40 ต่อ 60 เรียกว่าไบโอแก๊ส (Biogas) เกิดจากการย่อยอินทรียสารของจุลินทรีย์แบบไม่ใช้อากาศ โดยทั่วไปไบโอก๊าซในหลุมฝังกลบจะเริ่มเกิดมากขึ้นในช่วงระยะ 1-3 ปีหลังการกลบ สำหรับประเทศไทยที่ร้อนชื้น หลุมฝังกลบที่ดำเนินการอย่างถูกหลักสุขาภิบาลจะให้ผลผลิตไบโอก๊าซมากที่สุดสำหรับในช่วง 5-7 ปีหลังการกลบ หลังจากนั้นผลผลิตไบโอแก๊สจะค่อยๆ ลดลง เพราะขยะอินทรีย์ซึ่งเป็นอาหารของจุลินทรีย์ถูกย่อยไปแล้วเป็นส่วนใหญ่ อีกทั้งความชื้นในหลุมฝังกลบขยะก็ลดลงด้วย

หลังจากการใช้ประโยชน์ในการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากไบโอแก๊สแล้ว ขยะที่ยังคงเหลือในหลุมฝังกลบส่วนใหญ่ก็คือขยะที่ไม่ย่อยสลายนั่นเอง ขั้นตอนต่อไปตามพระราชดำรัส คือ “และก็มาเผาด้วยเครื่องสำหรับกรองมลพิษที่ออกมาจากการเผา” ขยะที่ไม่ย่อยสลายจะถูกแยกออกเป็นส่วนที่เผาไหม้ได้กับส่วนที่เผาไหม้ไม่ได้

การเผาขยะส่วนที่เผาไหม้ได้สามารถต่อยอดด้วยการนำเอาความร้อนจากการเผาไปผลิตพลังงานไฟฟ้า ซึ่งเป็นการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากขยะอีกรูปแบบหนึ่ง แตกต่างจากการเผาขยะสดหรือขยะใหม่ๆ เพื่อผลิตพลังงาน โดยหลักการแล้ว การเผาเฉพาะขยะที่เผาไหม้ได้ย่อมมีประสิทธิภาพดีกว่าให้ผลผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้ามากกว่า เพราะขยะที่เผาไหม้ได้ที่ถูกแยกออกมาแล้วจะมีค่าความร้อนมากกว่าขยะสดที่มีทั้งขยะอินทรีย์และความชื้นที่สูงกว่า แต่ทั้งนี้ขึ้นกับวิธีการแยกขยะที่ถูกขุดหรือรื้อออกจากหลุมฝังกลบ

ดังนั้น เครื่องมือและขั้นตอนในการแยกขยะส่วนนี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เรื่องการรื้อขยะจากหลุมฝังกลบหรือจากกองขยะจะนำมาเล่าในตอนต่อๆ ไป

ในครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มีพระราชดำรัสถึงการเผาที่ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิต “…เผาด้วยเครื่องสำหรับกรองมลพิษที่ออกมาจากการเผา”

เป็นที่เข้าใจกันดีว่าขยะประกอบด้วยวัสดุหลากหลายประเภท รวมถึงวัสดุที่อันตรายปะปนอยู่ หรือแม้ขยะบางส่วนที่ดูเหมือนเป็นขยะธรรมดา แต่เมื่อนำไปเผาก็เกิดเป็นมลพิษได้ กรมควบคุมมลพิษได้กำหนดมาตรฐานการปล่อยทิ้งอากาศเสียจากเตาเผาขยะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2553 เตาเผาขยะจะต้องมีระบบบำบัดอากาศเสียโดยควบคุมไม่ให้ปริมาณฝุ่นละออง ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน ก๊าซไฮโดรเจนคลอไรด์ สารปรอท สารตะกั่ว สารแคดเมียม และสารประกอบไดออกซิน ไม่เกินมาตรฐานที่กำหนดไว้ การเผาขยะที่ถูกต้องจึงมีต้นทุนที่สูงกว่าวิธีการกำจัดแบบอื่นๆ แต่ก็ช่วยลดปริมาณขยะที่จะต้องนำไปกำจัดอีกครั้งด้วยวิธีฝังกลบ

เตาเผาขยะคือการเผาขยะที่เผาไหม้ได้ แม้กระทั่งขยะรวมที่ยังคงมีขยะอินทรีย์ปะปนอยู่ เมื่อเผาแล้วก็จะเหลือเศษที่เผาไหม้ไม่ได้ เช่น ขวดแก้ว กระป๋องโลหะ และเถ้าจากการเผามีสัดส่วนตั้งแต่ 10-25% โดยน้ำหนักของขยะที่ป้อนเข้าเตา ขึ้นกับคุณภาพของขยะที่นำไปเผา สำหรับเถ้า จะมีทั้งเถ้าหนัก (Bottom Ash) คือเถ้าที่ตกลงที่ก้นเตาและเถ้าลอย (Fly Ash) เป็นเถ้าขนาดเล็กที่ถูกถุงกรองอากาศดักจับไว้

สำหรับเถ้าลอยถูกจัดเป็นสารอันตราย (Hazardous waste) ถูกควบคุมโดยกฎหมายกรมโรงงานอุตสาหกรรม ส่วนเถ้าหนักถือเป็นของเหลือจากระบบกำจัดที่สามารถนำไปทำอิฐหรือใช้ในงานก่อสร้างได้ ตรงกับพระราชดำรัสในส่วนท้าย “ได้ขี้เถ้าแล้วนำไปอัด” นั่นเอง

ดร.พิรียุตม์ วรรณพฤกษ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image