ออกทุกข์ โดย ปราปต์ บุนปาน

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

วันนี้เป็นวันแรกของการ “ออกทุกข์” ภายหลังงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในหลวง รัชกาลที่ 9

นอกจากเรื่องแนวทางการแต่งกายที่ดูเหมือนจะอยู่ในความสนใจของผู้คนทั่วไปแล้ว

อีกข้อหนึ่งซึ่งน่าคิดใคร่ครวญอย่างสำคัญ ก็คือ พสกนิกรชาวไทยจะสามารถแปรเปลี่ยนพลัง-ความอาลัยรักอันก่อตัวขึ้นตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา ไปสู่สิ่งใดได้บ้างในอนาคตข้างหน้า

ในหนังสือ “ธรรมของพระราชา” โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ที่จัดพิมพ์เป็นธรรมทานบุญกิริยาบรมราชูทิศ เนื่องในวันพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ มีเนื้อหาส่วนหนึ่งซึ่งระบุเอาไว้ว่า

Advertisement

“…พวกเราควรจะระลึกถึงพระราชประสงค์ ที่เป็นพระราชปรารถนาของพระองค์ เพื่อประโยชน์สุขของบ้านเมือง ของประชาชน ซึ่งโยงมาที่ตัวเราถึงเรื่องที่จะต้องทำ คือชาวบ้านต้องนึกต้องคิดว่าเราจะต้องทำอะไรบ้าง ควรจะนึกถึงตรงนี้เป็นข้อสำคัญที่สุด 

“ไม่ใช่ว่าได้แค่เศร้าโศกแล้ว ก็เศร้าโศกไป ผ่านไปเลยหาย แล้วก็จบ จุดสำคัญที่จะได้ ก็คือ เมื่อระลึกนึกถึงพระองค์ ก็มาคิดว่า แล้วเราจะต้องทำอะไร

“เหมือนอย่างลูกที่กตัญญูรู้จักกตเวทีต่อพ่อแม่ ก็จะระลึกถึงว่าพ่อแม่ทำอะไรต่างๆ มา ท่านมีความประสงค์ต่อเรา มีความปรารถนาต่างๆ อยู่ในใจ ที่เป็นเรื่องดีงาม เราควรรู้เข้าใจ แล้วพยายามสนอง อะไรทำได้ ก็พยายามทำ 

Advertisement

“ในเรื่องนี้ก็เช่นเดียวกัน จุดสำคัญก็อยู่ตรงนี้แหละ คือ ต้องช่วยกันทำให้ประชาชน ตั้งแต่ในเมืองไปจนถึงชนบทห่างไกลปลายแดน ให้มาตั้งใจระลึกถึงพระราชกรณียกิจ พระราชประสงค์ และพระราชดำริต่างๆ 

“ยกขึ้นมาเป็นเครื่องเตือนสำนึกว่า ถ้าเราจะกตัญญูจริง ตัวเรานี้จะต้องทำอะไร ไม่ใช่อยู่แค่ระลึกถึง แล้วก็ร้องไห้อาลัย แต่พอน้ำตาแห้งทุกอย่างก็ลับหาย ไม่ใช่แค่นั้น แต่ต้องทำการที่จะสนองพระราชประสงค์ จึงจะเป็นความกตัญญูที่แท้จริง…”

สอดคล้องกับหนังสืออีกเล่มชื่อ “ทำอย่างไร จะพูดได้เต็มปากว่า ‘เรารักในหลวง’ ที่เขียนโดยสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์เช่นกัน ซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่ภายหลังวันที่ 13 ตุลาคม 2559

ส่วนหนึ่งของหนังสือเล่มนั้นชี้ว่าคนไทยสามารถรักในหลวง รัชกาลที่ 9 ผ่านการแสดงออก 4 ประการ อันเรียงไปตามลำดับ ได้แก่

1.กตัญญู สำนึกรู้เข้าใจมองเห็นซาบซึ้งในพระคุณนานัปการที่ได้ทรงบำเพ็ญ อันสมดังพระราชปณิธานว่าจะทรงครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม

2.อัตถัญญู มีปัญญารู้คุณค่า ความหมาย เหตุผล ตระหนักในความมุ่งหมาย และวัตถุประสงค์ ทั้งที่เป็นพระราชปณิธานอันเป็นข้อหลักใหญ่ และพระราชประสงค์จำเพาะของโครงการพระราชดำริ หรือกิจการงานที่เกี่ยวข้องมาถึงตน

3.ปฏิบัติบูชา เมื่อรักพระองค์ จะยกย่องเทิดทูน ก็ทำอย่างที่พระสอนว่า ให้บูชาพระองค์ด้วยการปฏิบัติ โดยร่วมมือร่วมแรง ทำกิจหน้าที่ของตน เพื่อให้สำเร็จบรรลุผลที่มุ่งหมาย จนได้ถวายความสำเร็จนั้นเป็นเครื่องบูชาพระคุณ

4.ภาวนาปธาน สุดท้าย เพื่อให้ทำได้ ปฏิบัติได้อย่างนั้น จึงจะต้องไม่อยู่อย่างเรื่อยเปื่อยเฉื่อยชา แต่พยายามพัฒนาตนเองให้มีคุณสมบัติดีงาม มีศีล มีวินัย มีความเพียรพยายาม มีสติปัญญาความสามารถ ให้เป็นประชาชนที่มีคุณภาพ ผู้ได้พัฒนาแล้วอย่างดี

“เมื่อทำดังว่ามานี้ ความอาลัยรักภักดี ที่แสดงกันต่างๆ มากมาย จึงจะเป็นของจริงจังมีความหมาย มิใช่เป็นของเสียหายหรือสูญเปล่า”

นี่คือข้อคิดจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์

…………..

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image