อดีต แห่ง วันนี้ อ่านผ่าน ‘รัฐธรรมนูญ’ ปัจจัย กำหนด

จะทำความเข้าใจสถานการณ์หลังเดือนตุลาคมได้กระจ่าง สว่างแจ้งมากยิ่งขึ้นต้องย้อนกลับไปศึกษาจากสถานการณ์หลังรัฐประหารเมื่อเดือนตุลาคม 2501

เป็นรัฐประหาร “ซ้ำ”

นั่นก็คือ เป็นรัฐประหารอันเป็นความต่อเนื่องจากรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2500 และภายหลังจากการเลือกตั้งเมื่อเดือนธันวาคม 2500

เพียง 1 ปีก็เกิดขึ้น

Advertisement

ที่เรียกว่ารัฐประหาร “ซ้ำ” ไม่เพียงมาจากคณะเดียวกัน หากแต่มาจากความยินยอมพร้อมใจของ พล.อ.ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี

นายกรัฐมนตรีอันเป็น “ลูกน้อง” ของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

จากนั้น รัฐบาลก็อยู่กระทั่ง จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ถึงแก่อนิจจกรรมในเดือนธันวาคม 2506 และจอมพลถนอม กิตติขจร ดำรงตำแหน่งต่อเนื่องมา

Advertisement

กระทั่งถึงเดือนมิถุนายน 2511 ก็เป็นเรื่อง

คําว่า “เป็นเรื่อง” ในที่นี้ก็คือ การดำรงอำนาจและสืบทอดอำนาจจากรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2500 ก็เริ่มเกิดอาการสะดุด

สะดุดเพราะจำเป็นต้องมี “รัฐธรรมนูญ”

ที่จำเป็นเพราะมีการร่างรัฐธรรมนูญอย่างยาวนานตั้งแต่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2502 โดยแทบไม่มีอะไรคืบหน้าเลย แต่เมื่อ จอมพลถนอม กิตติขจร สืบทอดอำนาจมาถึงปี 2510 ก็เริ่มเกิดแรงกดดัน

เป็นการกดดันจากกลุ่มการเมืองหลายกลุ่ม

ประกอบกับ นายทวี บุณยเกตุ ซึ่งเป็นสมาชิก “คณะราษฎร” ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ จึงร่วมส่วนในการเร่งในเรื่อง “รัฐธรรมนูญ”

กระทั่ง สามารถประกาศและบังคับใช้ได้ในเดือนมิถุนายน 2511

การมีรัฐธรรมนูญเท่ากับเป็น “การปลดล็อก” สร้างบรรยากาศทางการเมืองให้คึกคักและนำไปสู่การกำหนดวันเลือกตั้งขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2512

ถึงแม้ว่าหลังการเลือกตั้งพรรคสหประชาไทยจะได้จัดตั้งรัฐบาล และจอมพลถนอม กิตติขจร จะดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีพร้อมกับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

พร้อมกับดำรงตำแหน่งเป็น “ผู้บัญชาการทหารสูงสุด”

แต่รัฐบาล จอมพลถนอม กิตติขจร ก็บริหารงานได้เพียงเดือนพฤศจิกายน 2514 ก็หมดความอดทนหวนกลับมาใช้กระบวนการรัฐประหารอีก

โดย จอมพลถนอม กิตติขจร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ยึดอำนาจจาก จอมพลถนอม กิตติขจร ที่เป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประภาส จารุเสถียร ที่เป็นรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และผู้บัญชาการทหารบก

แต่อยู่ได้ถึงเดือนตุลาคม 2516 ก็เป็นเรื่อง

ครานี้ไม่ได้เป็นเรื่องเพราะการเลือกตั้ง หากแต่เป็นเรื่องเพราะประชาชนมิอาจทนอยู่ภายใต้อำนาจของระบอบ “ถนอม-ประภาส” ต่อไปได้อีก

เริ่มต้นจากการเรียกร้อง “รัฐธรรมนูญ” แล้วถูก “จับ”

สร้างความไม่พอใจให้แผ่ขยายกลายเป็นเชื้อไฟในทางการเมืองร้อนแรงจนนำไปสู่การชุมนุมและขับไล่ จอมพลถนอม กิตติขจร

ถามว่ารัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 มีพิมพ์เขียวมาจากประวัติศาสตร์ช่วงใด เป็นรัฐประหารเมื่อเดือนตุลาคม 2519 หรือรัฐประหารเมื่อเดือนตุลาคม 2501

ไม่ว่าจะเป็นเมื่อปี 2501 หรือปี 2519

แต่หากถือเอา “รัฐธรรมนูญ” เป็นบรรทัดฐาน หลังมีรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2511 ต้นปี 2512 ก็มีการเลือกตั้ง หลังมีรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2521 ต้นปี 2522 ก็มีการเลือกตั้ง

“รัฐธรรมนูญ” ต่างหากคือปัจจัย “กำหนด”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image