การปฏิรูปการสอบสวน กระบวนการยุติธรรมทางอาญาไทย ในช่วงเปลี่ยนผ่าน : โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธานี วรภัทร์

1.ความนำ

หลักการดำเนินคดีอาญา การดำเนินคดีอาญาใช้ “หลักการตรวจสอบค้นหาความจริง” (Examination Principle) ซึ่งเป็นสิ่งเดียวที่คนในทุกสังคมเรียกร้องและคาดหวังที่จะได้รับจากกระบวนการยุติธรรมทางอาญา การค้นหาความจริงที่ได้ “ความจริงแท้” ที่ถูกต้องตรงไปตรงมาเพื่อนำไปสู่การพิสูจน์ “ความผิดหรือบริสุทธิ์” ของบุคคลในการกระทำความผิดอาญาและนำไปสู่การใช้ดุลพินิจของผู้พิพากษาในการกำหนดโทษเพื่อให้ได้ผล “การลงโทษที่เหมาะสมกับบุคคล” นี่คือ “หัวใจ” หรือ “เป้าหมาย” ของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา

ในเรื่องของ “ความจริง” นั้น พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ได้อธิบายความไว้อย่างดีมากว่า

“ความจริง เป็นหลักยืนตัว ความดีงาม เป็นคุณค่าที่มนุษย์ต้องการ ความถูกต้อง เป็นความสัมพันธ์ที่น่าพอใจระหว่างคุณค่าที่มนุษย์ต้องการ กับความจริงที่เป็นหลักยืนตัวนั้น” และ

Advertisement

“ถ้าไม่มีความจริง ไม่มีความถูกต้อง ความดีงามก็ไม่แท้ไม่จริงเหมือนอย่างที่คนหลอกลวงก็สามารถทำให้คนรู้สึกว่าเขาเป็นคนดีได้ แต่แล้ว ในเมื่อไม่ถูกต้อง ไม่ตรงความจริง พอขาดความจริงเท่านั้น ที่ว่าดีก็หมดความหมายไป กลายเป็นไม่ดี ดังนั้น ความจริงและความถูกต้องจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก”

หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม ได้แก่ ตำรวจ อัยการ ศาล ราชทัณฑ์ และหน่วยงานอื่นๆ หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง จึงต้องร่วมมือกันในการทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายที่แท้จริงของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ซึ่งเป็นหลักสำคัญของกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพื่อได้ข้อเท็จจริงที่เป็นการกระทำของผู้ต้องหาหรือจำเลยที่เป็นจริงและถูกต้อง และนำพาความจริงนั้นขึ้นไปสู่การพิจารณาพิพากษาลงโทษโดยผู้พิพากษา ให้ได้รับข้อมูลต่างๆ อย่างตรงไปตรงมาและครบถ้วนสมบูรณ์ ปราศจากการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมาย เช่น การตัดทอนเพิ่มเติมข้อเท็จจริง ปรุงแต่ง บิดเบือนข้อเท็จจริง ยัดเยียดหรือเพิ่มข้อหา ฯลฯ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้กระบวนการยุติธรรมทางอาญาล้มเหลว

การปฏิรูปการสอบสวนในกระบวนการยุติธรรมที่สำคัญอันหนึ่งจึงเป็นเรื่องของ การทำอย่างไรให้ข้อมูลในชั้นสอบสวน (ชั้นเจ้าพนักงาน) ได้ถูกส่งผ่านไปอยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ซึ่งได้แก่

Advertisement

1) ข้อมูลหรือข้อเท็จจริงที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดนั้น
2) ข้อมูลหรือข้อเท็จจริงบุคคลที่ตกเป็นผู้ต้องหาคดีนั้นอย่างเพียงพอ

2.ระบบและกลไกการดำเนินคดีอาญา

ระบบกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ระบบใหญ่ๆ ในโลกนี้มี 2 ระบบในการดำเนินคดีอาญา คือ ระบบไต่สวนและระบบกล่าวหา ดังนี้

1) ระบบไต่สวน (Inquisitorial System) มีลักษณะที่ไม่มีการแยก “หน้าที่สอบสวนฟ้องร้อง” กับ “หน้าที่พิจารณาพิพากษา” ออกจากกัน โดยให้องค์กรเดียวกันเป็นผู้ทำหน้าที่ทั้งสองประการ กรณีจึงมีแต่ “ผู้ไต่สวน” และ “ผู้ถูกไต่สวน” เท่านั้น ผู้ถูกกล่าวหาจะตกอยู่ในฐานะเป็น “กรรมในคดี” ซึ่งปัจจุบันไม่มีการนำมาใช้แล้ว

2) ระบบกล่าวหา (Accusatorial System) เป็นระบบที่แยกหน้าที่แยกอำนาจ “สอบสวนฟ้องร้อง” และอำนาจหน้าที่ “พิจารณาพิพากษา” ออกจากกัน ให้องค์กรที่ต่างหากจากกันคนละองค์กรเป็นผู้ทำหน้าที่ และยกฐานะของผู้ถูกกล่าวหาขึ้นเป็น “ประธานในคดี” ระบบกล่าวหาจึงเป็นระบบการพิจารณาคดีสมัยใหม่เพราะสอดรับกับหลักมาตรฐานสากลในการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม จึงเป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลาย ปัจจุบันประเทศต่างๆ ในโลกได้เปลี่ยนระบบการดำเนินคดีอาญาจากระบบไต่สวนมาเป็นระบบกล่าวหาแล้ว ประเทศไทยก็เป็นประเทศหนึ่งที่เปลี่ยนมาใช้ “ระบบกล่าวหา” ระบบกล่าวหา ปรากฏตามแผนภาพดังนี้

 

 

 

 

 

ข้อสังเกตจากแผนภาพข้างต้นระบบจะถูกแยกเป็น 2 ส่วน และผู้ที่ทำหน้าที่เป็น “ผู้บริหารงานยุติธรรม” คนสำคัญที่ต้องเกี่ยวข้องทั้งในส่วนแรกและส่วนที่ 2 คือ “พนักงานอัยการ” กล่าวคือเป็นผู้รับผิดชอบสำนวนการสอบสวนคดีมาตั้งแต่ต้น และดำเนินคดีในชั้นพิจารณาร่วมกับศาล บทบาทของอัยการจึงมีส่วนสำคัญมากในการส่งผ่าน “ข้อมูลข้อเท็จจริงของข้อหาและข้อมูลอันเป็นข้อเท็จจริงของบุคคลผู้กระทำความผิด” ไปยังศาลได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ เพื่อการพิจารณาพิพากษาด้วยความถูกต้องสมบูรณ์ตรงตาม “ความเป็นจริง” อันเป็นการสนับสนุนส่งเสริมให้กับผู้พิพากษาในการพิจารณาพิพากษาคดีได้อย่างถูกต้องยุติธรรม ตลอดทั้งการใช้ดุลพินิจในการใช้ “มาตรการบังคับทางอาญา” กับบุคคลนั้นได้อย่างเหมาะสม (Individualization of Punishment) และนำไปสู่การใช้โทษทางเลือกให้เหมาะสมกับบุคคลผู้กระทำความผิดในแต่ละรูปเรื่องข้อเท็จจริงของคดี

การที่พนักงานอัยการเป็นผู้รับผิดชอบการสอบสวนในคดี โดยตำรวจทำหน้าที่สืบสวนและช่วยเหลือการสอบสวน ทำให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ มีการตรวจสอบถ่วงดุลกันในการสอบสวนฟ้องร้อง ช่วยคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้เป็นอย่างดีจากความรู้ความสามารถทางกฎหมายของพนักงานอัยการ และยังป้องกันการทุจริตในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาต้นทางได้อีกระดับหนึ่งด้วย ลดปัญหาการใช้ความรุนแรง การซ้อมทรมาน ที่ทำให้กระบวนการในชั้นนี้ล้มเหลว เกิดความผิดพลาด (Miscarriage of Justice)

แต่สำหรับประเทศไทยเราได้นำ “ระบบกล่าวหา” มาใช้ แต่ของเราแยกเป็น 3 ส่วน ปรากฏตามแผนภาพดังนี้

ข้อสังเกตคือ พนักงานอัยการผู้ฟ้องคดีมิได้เข้าไปรับทราบเรื่องราวต่างๆ อย่างละเอียดมาแต่ต้น ต้องรอรายงานการสอบสวนที่ส่งมาจากเจ้าพนักงานตำรวจ แต่พนักงานอัยการมีหน้าที่ต้องเขียนคำฟ้องและดำเนินกระบวนพิจารณาคดีในชั้นศาล จึงเป็นอุปสรรคในการรับรู้เรื่องราวต่างๆ ของพนักงานอัยการใน “ข้อมูลข้อเท็จจริงของข้อหาและข้อมูลอันเป็นข้อเท็จจริงของบุคคลผู้กระทำความผิด” และการดำเนินการสอบสวนได้เสร็จสิ้นไปแล้วในชั้นตำรวจที่ผูกขาดเพียงหน่วยงานเดียว

ตัวอย่าง “ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด” มีลักษณะเป็นองค์กรอาชญากรรม มีความซับซ้อน ตามหลักกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาจึงควรต้องให้พนักงานอัยการลงมาทำหน้าที่สอบสวนคดีด้วยตนเองดังเช่นที่ปรากฏในนานาอารยประเทศและตามรูปแบบของระบบ “กล่าวหา” ที่มีประสิทธิภาพตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้นจะทำให้ “อำนาจสอบสวนฟ้องร้องเป็นอำนาจเดียวกัน” และการที่พนักงานอัยการมีข้อมูลของบุคคลผู้กระทำความผิดและรู้สาเหตุการกระทำความผิดอย่างชัดแจ้ง จะสามารถใช้ดุลพินิจสั่งใช้มาตรการต่างๆ ได้อย่างมีภาวะวิสัย เช่น สั่งไม่ฟ้อง สั่งชะลอการฟ้อง หรือเสนอศาลเพื่อใช้มาตรการทางเลือกอื่นๆ แทนได้หากเข้าเงื่อนไข

ในประเด็นนี้อาจกล่าวได้ว่ามีการกล่าวถึงกันมากและถกเถียงกันมานานแล้ว เป็นสิ่งท้าทายผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมทางอาญาไทยอีกประการหนึ่งที่จะเปลี่ยนแปลงระบบและกลไกการสอบสวนเสียใหม่หรือไม่ ผลจากการศึกษาวิจัยและการปฏิบัติในต่างประเทศหลายประเทศยืนยันชัดเจนว่า “อำนาจสอบสวนฟ้องร้องเป็นอำนาจเดียวกัน” และพนักงานอัยการต้องเป็นผู้สอบสวนคดีเองในฐานะผู้รับผิดชอบสำนวนคดี และอาจจะมอบหมายให้เจ้าพนักงานตำรวจได้บ้างในคดีเล็กๆ น้อยๆ ทั่วไป จะทำให้กระบวนการยุติธรรมมีประสิทธิภาพได้

การทุจริตคอร์รัปชั่นในกระบวนการยุติธรรมไม่ว่าขั้นตอนใดๆ การแทรงแซงจากอำนาจใดๆ จากภายนอกจะเป็นสิ่งทำลายความถูกต้องจริงแท้ในกระบวนการยุติธรรม เป็นการทำลายความเชื่อถือศรัทธาของประชาชน และคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างชั่วร้าย

ความร่วมมือกันของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในการตรวจสอบค้นหาความจริงให้เป็นที่ประจักษ์ ทุกหน่วยงานจึงมีความสำคัญด้วยกันทั้งสิ้นเพียงแต่ทำบทบาทที่แตกต่างกัน ไม่ว่าในชั้นเจ้าพนักงานหรือในชั้นพิจารณาพิพากษาก็ตาม เพื่อร่วมสร้างความยุติธรรมอย่างแท้จริง

3.ประเด็นการปฏิรูปการสอบสวนในประเทศไทยในยุคนี้

เมื่อพิจารณาจากระบบและกลไกการดำเนินคดีอาญาไทยดังได้กล่าวมาแล้ว การทำให้เกิดความร่วมมือของอัยการกับตำรวจในการใช้ดุลพินิจในการสอบสวน ยังเป็นจุดอ่อนที่ต้องทำให้ดีขึ้น

การกระทำที่สำคัญและส่งผลกระทบต่อประชาชนในสังคมในชั้นสอบสวน คือการตั้ง “ข้อหา” และการปรับบทว่าการกระทำนั้นผิด “ฐานความผิด” ใด จากการสืบสวนและสอบสวนคดีอาญา หลักสากลทางวิธีพิจารณาคือ “การสอบสวนฟ้องร้องเป็นเรื่องเดียวกัน” เป็นหลักที่นำมาใช้สากลเพื่ออันเป็นประกันการดำเนินคดีที่ถูกต้อง ดังกล่าวมาแล้ว

ข้อสังเกต ประเทศไทยเราแยกกันทำ อัยการจะทราบเรื่องราวต่างๆ และข้อเท็จจริงมีการปรับบทกฎหมายมาจากตำรวจ เมื่อทุกอย่างได้ทำมาเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว ที่ผ่านมาจึงมักเกิดความผิดพลาดบกพร่องและก่อความเสียหายแก่ประชาชน

แนวทางที่ต้องปฏิรูป อัยการ-ตำรวจต้องทำคดีร่วมกัน เพราะอัยการเป็นคนทำสำนวนเสนอคดีขึ้นสู่ศาล ในการสอบสวนต้องให้การทำงานของตำรวจและอัยการชิดกันมากขึ้น อัยการต้องเข้ามาสอบสวนคดีตั้งแต่ต้น ซึ่งต้องวางหลักเกณฑ์ในรายละเอียดทางปฏิบัติ โดยเฉพาะเรื่องการให้อัยการช่วยรับรองการตั้งข้อหา และดุลพินิจการปรับบทฐานความผิดอาญา ตั้งแต่ก่อนสรุปสำนวนการสอบสวนแล้วเสร็จ เพื่อยืนยันความถูกต้องของการปรับใช้กฎหมายและชอบธรรมตามกฎหมาย

กรณีเมื่อมีการจับในความผิดซึ่งหน้า ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จับต้องแจ้งข้อหาต่อผู้ถูกจับในเบื้องต้นในขณะจับแล้ว (ยังไม่เป็นข้อหาในชั้นสอบสวน) ภายหลังนำตัวมายังสถานีตำรวจเพื่อทำการสอบสวน การแจ้งข้อหาและปรับฐานความผิดในชั้นสอบสวนต้องได้รับการปรึกษาข้อกฎหมายและอนุญาตจากอัยการก่อน (ยกเว้นความผิดเล็กๆ น้อยๆ หรือที่มีความตกลงกันไว้ก่อน) จึงจะแจ้งข้อหาและปรับฐานความผิดที่มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นคดีความต่อไปในชั้นศาลได้ วิธีนี้จะทำให้อัยการเข้ามาทำหน้าที่ตามความรู้ความสามารถในการรักษากฎหมาย คุ้มครองสิทธิประชาชนตั้งแต่แรกเริ่มของคดีร่วมกับตำรวจ ตามที่ปรากฏในประเทศต่างๆ ที่ใช้ระบบกฎหมายเดียวกันกับประเทศไทย เช่น ญี่ปุ่น สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี สาธารณรัฐฝรั่งเศส ฯลฯ

กรณีที่เป็นการจะออกหมายจับ ซึ่งมีการแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานมาบ้างแล้ว การขออำนาจศาล ต้องผ่านอัยการให้ความเห็นชอบในการใช้ดุลพินิจตั้งข้อหาและปรับฐานความผิด ก่อนจะเสนอขอหมายจับไปยังศาล มีการนำวิธีนี้มาใช้ เช่น ญี่ปุ่น สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี สาธารณรัฐฝรั่งเศส ฯลฯ

ผลที่ได้จากการที่อัยการมาร่วมงานตั้งแต่เริ่มสำนวน โดยเฉพาะการใช้ดุลพินิจในการตั้ง “ข้อหา” และปรับบทกฎหมาย “ฐานความผิด” ในการสอบสวน

1.ประชาชนได้รับการประกันว่ามีการใช้กฎหมายตั้งข้อหา และปรับฐานความผิดได้อย่างชอบธรรม สร้างความมั่นใจและความเชื่อถือศรัทธา ต่องานการสอบสวนมาก

2.ลดปัญหาการดำเนินคดีผิดคน การช่วยกันดูแลคดีของอัยการ-ตำรวจ ในการตั้งข้อหาและฐานความผิด ลดความผิดพลาดในการฟ้องผิดคน เช่นที่ปรากฏใน คดีเชอร์รี่แอนด์ คดีครูจอมทรัพย์ คดีท็อปป๊อปคอร์น คดีโรฮีนจา คดีสุภัทตรา (นำยาเสพติดเข้าราชอาณาจักร 1.5 เม็ด โทษจำคุก 25 ปี) ฯลฯ

3.การสอบสวนฟ้องร้องหรือไม่จะมีความรวดเร็วขึ้น การสอบสวนมีความโปร่งใส มีความผิดพลาดน้อย

4.ลดปัญหาการคอร์รัปชั่น อิทธิพลต่างๆ ลดความเดือดร้อนของประชาชน

4.ข้อหากับบทบาทของอัยการในการส่งผ่านข้อมูล “ความจริง” ในชั้นพิจารณา

การตั้งข้อหามีผลต่อการสั่งฟ้องสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการ และต่ออำนาจการพิจารณาพิพากษาคดีของศาล การรู้เรื่องราวข้อความจริงต่างๆ ของอัยการส่งผลให้กระบวนการยุติธรรมดำเนินไปอย่างถูกต้องชอบธรรมตามหลักนิติธรรม (The Rule of Law) อย่างแท้จริง สิ่งสำคัญที่จะตอบสนองหลักทั้งหลายเหล่านี้คือ “ผู้พิพากษา” เป็นผู้ใช้ดุลพินิจในการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวงและพิพากษา ดังนั้นผลสำเร็จของความยุติธรรมจึงต้องทำให้ผู้พิพากษาในคดีได้รับรู้ข้อมูลข้อเท็จจริงเป็นอย่างดีอย่างตรงไปตรงมากับความจริงที่เกิดขึ้นใน 2 ประการดังนี้

1.ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิด หรือที่เรียกว่า ข้อหา อย่างถูกต้องแท้จริง

2.ข้อเท็จจริงของตัวผู้กระทำความผิด ประวัติความเป็นมา ความประพฤติเป็นอาจิณ เพศสภาพ สาเหตุของการกระทำความผิด

การส่งผ่านข้อมูลทั้ง 2 ประการนี้ จากชั้นสอบสวนฟ้องร้องไปสู่การพิจารณาพิพากษาจึงต้องการความมีภาวะวิสัย ตรวจสอบได้ เป็นข้อเท็จจริงที่ “ตรงไปตรงมา” ผู้ต้องหาได้รับการคุ้มครองตามหลักประกันของกฎหมายวิธีพิจารณา หลักสิทธิมนุษยชน (Fair trial) ปราศจากการทุจริตคอร์รัปชั่น หรือแทรกแซงด้วยอำนาจมิของใดๆ ทั้งปวง ปรากฏตามแผนภาพการส่งผ่านข้อเท็จจริงแต่ละขั้นตอนดังนี้

 

 

จากแผนภาพสมมุติเป็นคดียาเสพติด เมื่อเกิดการกระทำความผิดขึ้น ผู้จับกุมสอบสวนจะเป็นผู้ที่รู้เรื่องราวความจริงแท้มากที่สุด คือตำรวจ ตามภาพข้อ 1 และผู้ที่ทำฟ้องคือพนักงานอัยการ การจะฟ้องคดีได้ก็มีความจำเป็นต้องรู้เรื่องราวอย่างถูกต้องตรงไปตรงมาในสาระสำคัญต่างๆ ตามข้อ 2 ตามทฤษฎีจึงกำหนดให้อำนาจสอบสวนฟ้องร้องต้องเป็นอำนาจเดียวกัน มีเอกภาพ ตามระบบ “กล่าวหา” ที่กล่าวมาแล้วก่อนหน้านี้ จึงจะสามารถทำให้คุณภาพของข้อเท็จจริงของข้อหาและข้อมูลบุคคล ได้ถูกนำส่งขึ้นไปยังชั้นพิจารณาพิพากษาได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ (ตามภาพข้อ 3 และข้อ 4) ผู้พิพากษาก็จะสามารถใช้ดุลพินิจลงโทษให้เหมาะสมกับบุคคลคนนั้นๆ ได้ และยังเป็นข้อมูลพื้นฐานในการนำไปใช้ประโยชน์ในการทำแผนบังคับโทษจำคุกเป็นรายบุคคลด้วย (ภาพข้อ 5) อันจะยังให้หลักการลงโทษให้เหมาะสมกับบุคคลมีความสมบูรณ์อย่างมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง

บทบาทของอัยการจึงเป็นผู้บริหารคดีหรือส่งผ่านข้อมูลความจริงอย่างถูกต้องตรงไปตรงมาสู่การพิจารณาพิพากษาคดี ดังนั้นในชั้นสอบสวนอัยการจึงต้องเข้ามาร่วมสอบสวนและมีอำนาจในการปรับบทกฎหมายว่าผู้ถูกกล่าวหาหรือถูกจับ มีความผิดฐานอะไร เพื่อประกันความถูกต้องชอบธรรมให้กับกระบวนการที่จะดำเนินการในขั้นตอนต่อไปและต่อประชาชน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธานี วรภัทร์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image