ไทยพบพม่า : ทำไมสังคมพม่าจึงเริ่มถอยห่างประชาธิปไตย และกลับเข้าหากองทัพ? : โดย ลลิตา หาญวงษ์

การชุมนุมในย่างกุ้งเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม เรียกกลุ่มผู้สนับสนุนกองทัพให้มารวมตัวกันได้นับหมื่นคน (ภาพจาก Frontier Myanmar)

เมื่อไม่นานมานี้ผู้เขียนเพิ่งมีโอกาสได้ดูภาพยนตร์เรื่อง The Act of Killing หรือ “ฆาตกรรมจำแลง” ของผู้กำกับหนุ่ม Joshua Oppenheimer ที่เคยเข้าชิงรางวัลภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยมบนเวทีออสการ์มาแล้วในปี 2014 (พ.ศ.2557) ในเมืองไทย ภาพยนตร์เรื่องนี้เพิ่งถูกนำมาฉายโดย Documentary Club เมื่อปีกลาย และได้รับเสียงตอบรับอย่างดีมากจากนักวิจารณ์และผู้นิยมสารคดีที่ขยายตัวออกไปกว้างขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา “ฆาตกรรมจำแลง” เล่าถึงการกวาดล้างคอมมิวนิสต์และผู้ที่ต้องสงสัยว่าเป็นคอมมิวนิสต์ครั้งใหญ่ในอินโดนีเซีย ระหว่างปี 1965-1966 (พ.ศ.2508-2509) ซึ่งอาจทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 3 ล้านคน เป็นที่น่าสังเกตว่าการกวาดล้างคนที่มีความคิดต่างทางการเมือง หรือคนต่างเชื้อชาติ/ศาสนาในลักษณะนี้มักทำขึ้นโดยบุคคลธรรมดา หาใช่กองทัพที่มีอาวุธยุทโธปกรณ์ทันสมัยครบมือไม่ ในอินโดนีเซีย กลุ่มเยาวชนปัญจศีลา (Pemuda Pancasilla) มีบทบาทอย่างสูงในการโปรแกรมความเกลียดชังให้ชาวอินโดนีเซียเกลียดชังคอมมิวนิสต์ และเป็นเรี่ยวแรงหลักในการสังหารคอมมิวนิสต์ ชาวจีน หรือผู้ที่พวกเขาคิดว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงและความดีงามของอินโดนีเซีย

ส่วนหนึ่งที่ทำให้ “ฆาตกรรมจำแลง” ติดตรึงอยู่ในห้วงความคิดของผู้เขียนคือบทสนทนาระหว่างผู้กำกับ Oppenheimer กับซูร์โยซูมาร์โน หนึ่งในตัวเอกของเรื่องและผู้นำเยาวชนปัญจศีลาชื่อดัง ซูร์โยซูมาร์โน กล่าวไว้ว่า “(หาก) เรามีประชาธิปไตยมากเกินไป ก็จะยุ่ง อะไรหรือที่เรียกว่า ‘ประชาธิปไตย’ เหรอ? หลายๆ อย่างดีขึ้นภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร เศรษฐกิจก็ดีกว่า และยังปลอดภัยกว่า” ทัศนคติของซูร์โยซูมาร์โนพบได้ทั่วไปในบรรดาผู้ที่สมาทานความรักชาติแบบล้นเกิน (ultra-patriotism) ซึ่งทำให้พวกเขามองว่าการใช้ความรุนแรงกับฝ่ายตรงข้ามกับตนนั้นทำได้ และเป็นสิ่งที่ชอบธรรม หากจะเปรียบบทบาทของกลุ่มเยาวชนปัญจศีลาในอดีต ก็อาจจะเทียบได้กับขบวนการฝ่ายขวาที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งยวดในการปราบปรามนักศึกษาและนำไปสู่เหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคม 1976 (พ.ศ.2519) ในประเทศไทย ได้แก่ กลุ่มนวพล กระทิงแดง ลูกเสือชาวบ้าน และคำพูดของซูร์โยซูมาร์โนเตือนให้ระลึกถึงบทบาทของฝ่ายขวา หรือฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการพัฒนาประชาธิปไตยในอีกหลายๆ ประเทศทั่วโลก ซึ่งกำลังเข้ามามีบทบาทโดดเด่น และยังชี้ให้การนำความรุนแรงเข้ามาใช้เป็น “ทางลัด” เพื่อแก้ปัญหา นอกจากนี้ ยังเตือนให้ผู้เขียนนึกถึงกระแสความนิยมกองทัพ ที่พุ่งขึ้นสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในพม่าในปัจจุบัน

ประเด็นเรื่องโรฮีนจาที่กลายเป็นปัญหาสำคัญที่สุดในพม่าทุกวันนี้ทำให้สังคมพม่าเริ่มตั้งคำถามว่าในท้ายที่สุดแล้ว ประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองที่จะนำมาซึ่งสันติสุขและความกินดีอยู่ดีในพม่าจริงหรือ และเมื่อคำตอบของชาวพม่าจำนวนมากโน้มเอียงไปในเชิงการเริ่มปฏิเสธประชาธิปไตย หันกลับไปหากองทัพ และมองว่ากองทัพจะเป็นทางออกเดียวที่จะสามารถแก้ปัญหาความไร้เสถียรภาพภายในประเทศในเวลานี้ได้ และฝ่ายที่เห็นดีเห็นงามกับกองทัพมักจะออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล NLD และพ่นประทุษวาจา หรือ hate speech ใส่ชาวโรฮีนจาหรือฝั่งที่เห็นอกเห็นใจชาวโรฮีนจา เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ฉ่วย อาย ซี (Shwe Eain Si) นางงามเจ้าของตำแหน่งรองมิสแกรนด์พม่า เผยแพร่วิดีโอที่แสดงทัศนคติต่อต้านชาวโรฮีนจาของเธอ และประณาม ARSA หรือกองกำลังติดอาวุธของโรฮีนจา ที่ฉ่วย อาย ซี และสังคมส่วนใหญ่ในพม่ามองว่าเป็นผู้ก่อการร้าย และเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของรัฐในทุกๆ ด้าน ต่อมาบริษัทผู้จัดงานตัดสินใจยึดมงกุฎมิสแกรนด์จากเธอ ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์และความโกรธแค้นตามมา สังคมพม่าส่วนใหญ่มองว่าฉ่วย อาย ซี พูด “ความจริง” (ว่า ARSA และชาวโรฮีนจาทั้งหลายเป็นผู้ก่อการร้าย) แม้บริษัทผู้จัดการประกวดจะออกมาปฏิเสธพัลวันว่าการตัดสินใจถอดถอนตำแหน่งมิสแกรนด์จากฉ่วย อาย ซี นั้นไม่เกี่ยวข้องกับทัศนคติของเธอที่มีต่อชาวโรฮีนจา

การชุมนุมในย่างกุ้งเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม เรียกกลุ่มผู้สนับสนุนกองทัพให้มารวมตัวกันได้นับหมื่นคน (ภาพจาก Frontier Myanmar)

กรณีของฉ่วย อาย ซีสร้างความบาดหมางในสังคมพม่าให้ร้าวลึกลงไปอีก และทำให้สังคมพม่าระมัดระวังเรื่องความถูกต้องทางการเมือง (political correctness) คือความ PC กันอย่างมากขึ้น จนสร้างความไม่พอใจให้กับคนอีกกลุ่มหนึ่งที่เห็นว่าการรักษา PC ตามแบบตะวันตกนี้ไม่เข้ากับสังคมพม่า เหตุใดพวกเขาถึงพูด “ความจริง” ไม่ได้ พวกเขาเริ่มถอยห่างออกจากอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่เคยเชื่อมั่น และหันเข้าหาทหาร โดยอ้างความรักชาติและความสมัครสมานสามัคคีในชาติเป็นหลัก

Advertisement

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ผู้คนหลายพันคนเดินขบวนกันในย่างกุ้งเพื่อสนับสนุนกองทัพ หลังจากก่อนหน้านี้กองทัพพม่าเป็นเป้าการโจมตีของสื่อต่างชาติและประชาคมโลกว่าจงใจ “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ชาวโรฮีนจา และขับชาวโรฮีนจานับ 6 แสนคน ให้หนีตายเข้าไปในฝั่งบังกลาเทศ ฉ่วย อาย ซีเป็นหนึ่งในผู้ร่วมเดินขบวนและปราศรัยเพื่อกระตุ้นให้ชาวพม่าทั้งประเทศร่วมกันสนับสนุนกองทัพ และมอบความไว้ใจให้กองทัพเป็นพลังขับเคลื่อนประเทศต่อไป เมื่อพวกเขามองว่าประชาธิปไตยสร้างปัญหา และรัฐบาลพลเรือนไม่สามารถขับเคลื่อนให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้

นอกจากฉ่วย อาย ซีแล้ว กลุ่มผู้ชุมนุมที่มีจำนวนมากนับหมื่นคนยังประกอบไปด้วยพระสงฆ์ และประชาชนทั่วไปจากทุกสาขาอาชีพ คนเหล่านี้รู้สึกโกรธแค้นที่พม่าได้รับแรงกดดันจากนานาชาติมากจนเกินไป พวกเขาเชื่อว่าประชาคมโลกไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาในพม่าอย่างแท้จริง และใช้บรรทัดฐานของสิทธิมนุษยชนอย่างพร่ำเพรื่อเพื่อประณามรัฐบาลของตน กระแสหันกลับไปหาทหารนี้อาจไม่ได้เกิดขึ้นกับคนพม่าทุกคน เพราะคนส่วนใหญ่ยังให้การสนับสนุนรัฐบาล NLD อยู่ และมองว่าแม้รัฐบาลพลเรือนจะไม่ได้สมบูรณ์แบบ แต่อย่างน้อยก็ย่อมต้องดีกว่าการอยู่ภายใต้รัฐบาลทหารที่กดขี่และคอร์รัปชั่นมากกว่า แต่ถึงกระนั้น ช่วงหลายเดือนมานี้ ผู้เขียนมักได้ยินชาวพม่าหวนคำนึงถึง “วันที่ดีเก่าๆ” (good old days) ทำให้ผู้เขียนอดคิดไม่ได้ว่า “วันที่ดีเก่าๆ” นั้นคือช่วงใด เพราะพม่าอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการทหารมาหลายสิบปี ประชาชนทั่วไปที่สนับสนุนกองทัพมีอาจไม่มากนัก แต่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศกลับสนับสนุนให้จัดการขั้นเด็ดขาดกับชาวโรฮีนจา ไม่เว้นแม้แต่กลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ และกลุ่มที่นับถือศาสนาอื่นๆ อย่างศาสนาคริสต์และฮินดูด้วย นี่แสดงให้เห็นว่าคนจำนวนมากในพม่ายังปฏิเสธหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน โอกาสที่จะพัฒนาประชาธิปไตย “ที่แท้จริง” ในพม่าจึงลดลงไป เพราะประชาธิปไตยไม่ได้หมายถึงเพียงระบอบปกครอง หากยังหมายรวมถึงความเท่าเทียมที่คนทุกคนในพม่าพึงได้รับด้วย

ท้ายสุด หากจะทำความเข้าใจว่าเหตุใดสังคมพม่าจึงเริ่มเบื่อหน่ายกับประชาธิปไตยและหันเข้าหากองทัพเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็คงต้องกลับไปพิจารณาคำพูดของซูร์โยซูมาร์ที่ว่าการมีประชาธิปไตยเป็นสิ่งยุ่งยาก และทำให้ประเทศพัฒนาไปได้ช้ากว่าการมีรัฐบาลทหารหรือการมีผู้นำที่เด็ดขาด น่าสนใจว่าทัศนคตินี้ปรากฏเห็นได้ทั่วไปทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปัจจุบัน ตั้งแต่ไทย พม่า ฟิลิปปินส์ ไปจนถึงอินโดนีเซีย

Advertisement

ลลิตา หาญวงษ์
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image