‘ชีวิตสาธารณะ’ ของ ‘ตูน บอดี้สแลม’ โดย ปราปต์ บุนปาน

แฟ้มภาพ

“อาทิวราห์ คงมาลัย” หรือ “ตูน บอดี้สแลม” กำลังรันโปรเจ็กต์ “ก้าวคนละก้าว” เพื่อหารายได้ช่วยเหลือโรงพยาบาล 11 แห่งทั่วประเทศ ด้วยการวิ่งทางไกลจาก อ.เบตง จ.ยะลา ขึ้นไปยัง อ.แม่สาย จ.เชียงราย

ข้อถกเถียงหลักๆ ที่เกิดขึ้นกับการออกวิ่งของตูน มาตั้งแต่โครงการก่อนหน้านี้ ซึ่งเขาวิ่งระยะไกลจากกรุงเทพฯ ไปบางสะพาน ก็คือ แม้คนจำนวนมากจะเห็นว่านั่นเป็นการ “ทำดี” หรือการ “(ลงมือ) ทำดีกว่าไม่ทำ” หรือการมีจิตอาสา ฯลฯ

แต่มีคนอีกไม่น้อยที่เห็นว่าการออกวิ่งอย่างเดียวอาจแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างในภาพใหญ่ไม่ได้ แถมยังเป็นการผลักภาระที่ภาครัฐควรจะต้องจัดสรรงบประมาณจากภาษีของประชาชนไปให้โรงพยาบาลต่างๆ อย่างถูกต้องเหมาะสม ไปสู่การต้องลงแรงกาย-ขายภาพลักษณ์ของเซเลบหรือคนมีชื่อเสียงในสังคม

จนมาถึงโครงการ “ก้าวคนละก้าว” ดูเหมือนข้อถกเถียงใหญ่ๆ เกี่ยวกับการออกวิ่งของตูน ก็จะเวียนวนอยู่แถวๆ เรื่องราวทำนองนี้

Advertisement

อย่างไรก็ดี น่าจะยังมีประเด็นอื่นๆ ว่าด้วยตูน บอดี้สแลม ให้เราคิดใคร่ครวญกันได้อีก

การเป็นดารา-นักร้อง หรือเซเลบในวงการบันเทิง ก็คือ การต้องมีสถานะเป็น “บุคคลสาธารณะ” อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

ดังนั้น สิ่งที่ผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมมักรับรู้สัมผัสได้เกี่ยวกับเซเลบเหล่านั้น จึงได้แก่ “ชีวิตสาธารณะ” ของพวกเขา ซึ่งมีแนวโน้มจะไม่ใช่สิ่งเดียวกับ “ชีวิตส่วนตัว”

โดยปกติ “ชีวิตสาธารณะ” ของดาราก็มีพื้นที่ประจำการอยู่แล้ว ในหนัง ละคร เพลง หรือสื่อบันเทิงประเภทต่างๆ

ที่น่าสนใจ คือ ดูคล้ายตูนจะพยายามขยับขยาย “ชีวิตสาธารณะ” ของตนเอง ให้ใหญ่โตกว้างขวางเกินกว่าขอบเขตของพื้นที่เดิมๆ จำพวกนั้น

ดีไม่ดี เราสามารถเทียบเคียง “ชีวิตสาธารณะ” ของร็อกสตาร์นักวิ่ง ไปกับ “ชีวิตของประเทศ/ชาติ” เลยด้วยซ้ำ จากโครงการที่เขาออกวิ่งจาก “ใต้สุด” ไป “เหนือสุด” ของแผนที่ประเทศไทย

หาก “ชีวิตสาธารณะ” แยกไม่ออกกับ “การแสดง” การออกวิ่งของตูนก็คงไม่ต่างกับการออกทัวร์คอนเสิร์ตไปตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ

เป็นการพบปะแฟนๆ ในสถานการณ์จริง ท่ามกลางภาวะชะลอตัวของ “ภาพแทน” ทั้งหลายในสื่อเก่า กับภาวะบูมของสื่อใหม่ที่นำเสนอภาวะ “เสมือนจริง” และพร้อมจะสนทนาโต้ตอบกับผู้ชมผู้บริโภค

อีกข้อที่น่าคิด คือ แม้โครงการวิ่งของตูนจะแก้ไขปัญหาระยะยาวหรือปัญหาเชิงโครงสร้างไม่ได้ แต่อย่างน้อย “อาการ” หลายๆ อย่างของสังคมไทยหรือคนไทย ก็จะเผยคลี่ออกมาตามรายทางที่เขาออกวิ่ง

แค่เพียงการวิ่งในระยะแรกๆ เราก็ได้เริ่มเห็น “อาการเบาๆ” อย่างอารมณ์โหยหาวีรบุรุษ หรือความชื่นชอบคลั่งไคล้ดารา

นอกจากนี้ ยังมีภาพความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างตูนกับชาวบ้านจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งถูกนำเสนอในฐานะแบบอย่างของ “สันติภาพ” ที่มิได้เกิดขึ้นบ่อยครั้งนัก

แน่นอนว่าภาพลักษณ์ด้านบวกเช่นนี้ สามารถชี้ให้เห็นแง่มุมกลับกัน ถึงการไร้ส่วนร่วมหรือการปราศจากตัวตนของตัวแทนรัฐไทย คนจากส่วนกลาง หรือคนจากพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ ใน “ภาพ” ลักษณะเดียวกัน

การวิ่งของตูนจึงอาจบ่งบอกว่าสถานพยาบาลหรือระบบสาธารณสุขในประเทศนี้ขาดแคลนอะไรบ้าง (ซึ่งตัวเขาเองคงไม่มีกำลังความสามารถจะช่วยเหลือได้หมด) พอๆ กับที่แสดงให้เห็นถึง “อาการบกพร่องขาดแคลน” ของรัฐและสังคมไทยโดยรวม

เหนือสิ่งอื่นใด ชีวิตสาธารณะที่ไหลเลื่อนเคลื่อนไหวไปเรื่อยๆ ของตูน ย่อมก่อให้เกิดบทสนทนาอันเปิดกว้างพอสมควร

ทั้งคำถามชุดเดิมๆ ตั้งแต่เมื่อเจ้าตัวออกวิ่งครั้งแรก ตลอดจนคำถามใหม่ๆ และข้อสงสัย-ข้อสังเกตเพิ่มเติม ที่มีต่อ “ชีวิตสาธารณะ” ของนักร้องดัง และต่อ “ชะตากรรมของประเทศ” ที่เขากำลังย่างก้าวไปสัมผัส

………………..

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image