การโอนตัวนักโทษเด็ดขาด ระหว่างประเทศ โดย กิตติพัฒน์ เดชะพหุล

การโอนนักโทษ (Prisoner Transfer) คือการที่นักโทษในประเทศหนึ่งถูกโอนไปรับโทษต่อในประเทศที่นักโทษมีสัญชาติ โดยรัฐบาลประเทศผู้โอน รัฐบาลประเทศผู้รับโอน และนักโทษที่จะโอนตัวต่างให้ความเห็นชอบร่วมกัน การโอนนักโทษจะกระทำได้ต่อเมื่อทั้งสองประเทศมีสนธิสัญญาการโอนนักโทษต่อกันเท่านั้น ไม่อาจใช้หลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศได้

กรมราชทัณฑ์ได้ดำเนินการโอนตัวนักโทษเด็ดขาดระหว่างประเทศมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2533 ซึ่งสนธิสัญญาการโอนนักโทษฉบับแรกที่ประเทศไทยได้ทำไว้กับต่างประเทศ คือ อนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ว่าด้วยความร่วมมือในการดำเนินการลงโทษทางอาญา แต่ประเทศแรกที่ประเทศไทยได้โอนตัวนักโทษกลับไปรับโทษต่อจริงๆ คือ ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2533 ประเทศไทยได้มีการโอนนักโทษสัญชาติอเมริกัน จำนวน 3 คน กลับไปรับโทษต่อยังประเทศสหรัฐอเมริกา นับถึงปัจจุบัน (เดือนมีนาคม 2559) ประเทศไทยได้ทำสนธิสัญญาการโอนนักโทษกับประเทศต่างๆ และสนธิสัญญามีผลบังคับใช้แล้ว จำนวน 35 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย, ออสเตรีย, เบลเยียม, กัมพูชา, แคนาดา, สาธารณรัฐเช็ก, เดนมาร์ก, เอสโตเนีย,ฝรั่งเศส, เยอรมนี, ฮ่องกง, อิหร่าน, อิสราเอล, อิตาลี, สาธารณรัฐมาลี, เนเธอร์แลนด์, ไนจีเรีย, นอร์เวย์, ปากีสถาน, โปแลนด์, สเปน, สวาซิแลนด์, สวิตเซอร์แลนด์, สวีเดน, สหราชอาณาจักร, สหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่น, ฟินแลนด์, โปรตุเกส, ฟิลิปปินส์, ลาว, เวียดนาม, เกาหลีใต้, จีนและอินเดีย และได้โอนตัวนักโทษเด็ดขาดชาวต่างประเทศกลับไปรับโทษต่อยังประเทศที่นักโทษมีสัญชาติจำนวน 1,060 คน

เรือนจำ2

และในทางกลับกันได้รับโอนตัวนักโทษเด็ดขาดสัญชาติไทยที่ต้องโทษในต่างประเทศกลับมารับโทษต่อในราชอาณาจักร จำนวน 15 คน

Advertisement

เรือนจำ3

คุณสมบัติของนักโทษผู้ขอโอนตัว

ตามพระราชบัญญัติการปฏิบัติเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศในการดำเนินการตามคำพิพากษาคดีอาญา พ.ศ.2527 กำหนดไว้ ดังนี้

Advertisement

1.นักโทษต่างประเทศ หมายความว่า เป็นบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยซึ่งต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดให้ลงโทษและกำลังรับโทษอยู่ในราชอาณาจักร (มาตรา 4 วรรคสี่)

2.ความผิดที่นักโทษไทยหรือนักโทษต่างประเทศได้รับโทษอยู่ต้องเป็นความผิดที่มีโทษฐานใดฐานหนึ่งตามกฎหมายของประเทศผู้รับโอน (มาตรา 6(3))

3.นักโทษซึ่งจะได้รับการโอนต้องไม่อยู่ในระหว่างการดำเนินคดีอาญาในความผิดอื่นหรืออยู่ในระหว่างการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ในประเทศผู้โอน (มาตรา 6(4))

4.การโอนนักโทษจะกระทำมิได้ ในกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้ (มาตรา 25)

(1) เมื่อโทษที่นักโทษต่างประเทศได้รับอยู่ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นโทษฐานกระทำความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระราชโอรสและพระราชธิดา ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักรความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายนอกราชอาณาจักร หรือความผิดตามกฎหมายที่เกี่ยวกับการคุ้มครองสมบัติที่มีค่าทางศิลปะของชาติ

(2) (ก) นักโทษต่างประเทศได้รับโทษจำคุกในราชอาณาจักรแล้วไม่ถึงหนึ่งในสามของโทษจำคุกทั้งสิ้นตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง หรือไม่ถึงสี่ปี สุดแต่ระยะเวลาใดจะน้อยกว่า

(ข) นักโทษต่างประเทศได้รับโทษจำคุกในราชอาณาจักรแล้วไม่ถึงแปดปี ในกรณีที่เป็นความผิดฐานผลิต จำหน่าย นำเข้าเพื่อจำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ และมีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต

(3) เมื่อโทษจำคุกที่นักโทษต่างประเทศจะต้องรับต่อไปในราชอาณาจักรเหลืออยู่น้อยกว่าหนึ่งปีของโทษจำคุกทั้งสิ้นตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง

5.ในกรณีที่นักโทษต่างประเทศผู้ใดมีหน้าที่ต้องชำระค่าปรับ คืนทรัพย์สินหรือชดใช้ราคาหรือค่าเสียหายตามคำพิพากษาในคดีอาญา หรือคำสั่งของเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจ นักโทษต่างประเทศผู้นั้นจะต้องทำการชำระคืนหรือชดใช้ดังกล่าว ให้เสร็จสิ้นก่อนที่คณะกรรมการจะมีคำสั่งเห็นชอบในการโอน (มาตรา 27)

ขั้นตอนการโอนตัวนักโทษเด็ดขาดระหว่างประเทศ

– นักโทษต่างประเทศที่มีคุณสมบัติตามที่พระราชบัญญัติการปฏิบัติเพื่อความร่วมมือฯ พ.ศ.2527 กำหนดและประสงค์จะขอโอนตัวสามารถแจ้งความประสงค์โดยยื่นคำร้องผ่านสถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุล เพื่อให้ประเทศที่นักโทษมีสัญชาติพิจารณาเห็นชอบในการรับโอนตัว

– เมื่อประเทศที่นักโทษมีสัญชาติ (ประเทศผู้รับโอน) ยินยอมในการรับโอนตัวนักโทษแล้วจะต้องยื่นคำร้องขอโอนนักโทษมายังประเทศไทยโดยผ่านวิถีทางการทูต (ผ่านกระทรวงการต่างประเทศ)

– กระทรวงการต่างประเทศนำส่งคำร้องขอโอนตัวนักโทษ พร้อมทั้งเอกสารประกอบคำร้องขอโอนตัวไปยังสำนักทัณฑวิทยา กรมราชทัณฑ์ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพิจารณาการโอนนักโทษ

– ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพิจารณาการโอนนักโทษตรวจสอบคำร้องขอโอนตัวและเอกสารฯ และจัดทำคำชี้แจงรายละเอียดคำร้องขอโอนตัวนักโทษเพื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาการโอนนักโทษ

– คณะกรรมการพิจารณาการโอนนักโทษพิจารณาคำร้องขอโอนตัวโดยให้ความเห็นชอบว่าให้โอนหรือไม่ให้โอน

– ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพิจารณาการโอนนักโทษจัดทำรายงานการประชุมและร่างคำสั่งคณะกรรมการพิจารณาการโอนนักโทษ โดยประธานคณะกรรมการฯ (ปลัดกระทรวงยุติธรรม) เป็นผู้ลงนามในคำสั่งเพื่อให้มีผลบังคับใช้

– ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพิจารณาการโอนนักโทษแจ้งคำสั่งคณะกรรมการฯ ไปยังกระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแจ้งให้ประเทศผู้รับโอนและนักโทษที่เกี่ยวข้องทราบ

– ประเทศผู้รับโอนแจ้งกำหนดวันเดินทางมารับตัวนักโทษที่ได้รับการเห็นชอบให้โอนตัว

– กรมราชทัณฑ์จัดพิธีส่งมอบตัวนักโทษให้แก่ประเทศผู้รับโอนเพื่อนำตัวนักโทษกลับไปรับโทษต่อยังประเทศที่นักโทษมีสัญชาติ

การโอนตัวครั้งล่าสุด

คำสั่งคณะกรรมการพิจารณาการโอนนักโทษที่ 1/2559 เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2559 เห็นชอบให้โอนตัวนักโทษเด็ดขาดชาวต่างประเทศ 16 ราย กลับไปรับโทษต่อยังประเทศที่นักโทษมีสัญชาติ ได้แก่

-อิหร่าน จำนวน 12 คน

-บริติช จำนวน 3 คน

-ลาว จำนวน 1 คน

โดยเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2559 เวลา 11.00 น. ได้มีพิธีการโอนตัวนักโทษสัญชาติอิหร่าน ณ เรือนจำกลางบางขวาง โดย นายกิตติพัฒน์ เดชะพหุล ผู้บัญชาการเรือนจำกลางคลองเปรมเป็นประธานในพิธี ส่งมอบนักโทษสัญชาติอิหร่าน จำนวน 12 คน ให้แก่ Mr.Hossein Rahimi กงสุลอิหร่าน เพื่อกลับไปรับโทษต่อยังประเทศอิหร่าน โดยมี นายสมภพ สังคุตแก้ว ผู้อำนวยการสำนักทัณฑวิทยา กรมราชทัณฑ์ และ นายรังสรรค์ ธรรมวัฒนะ ผู้อำนวยการส่วนสวัสดิการ ผู้ต้องขัง เรือนจำกลางบางขวาง เข้าร่วมเป็นสักขีพยานฝ่ายไทยในพิธีการโอนตัวดังกล่าว

ส่วนนักโทษสัญชาติลาวได้มีพิธีส่งมอบตัวไปก่อนหน้านี้แล้ว และในปลายเดือนมีนาคมจะมีการโอนตัวนักโทษสัญชาติบริติช 3 รายต่อไป

การโอนตัวนักโทษนอกจากจะเป็นการช่วยลดภาระในการควบคุมดูแลผู้ต้องขังต่างชาติของกรมราชทัณฑ์แล้ว ยังจะเกิดผลดีในการพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขังต่างชาติ ซึ่งจะได้ถูกคุมขังต่อไปในเรือนจำของประเทศตนเอง ภายใต้สภาพแวดล้อมของคนสัญชาติเดียวกัน และครอบครัวญาติมิตรสามารถเข้าเยี่ยมเยียนให้กำลังใจได้ง่ายกว่าการถูกคุมขังในต่างแดน และนอกจากนี้ยังเป็นการพัฒนาความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทยกับประเทศคู่สัญญาได้อีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image