4 ปุโรหิต : ยง เถียร เพียร นวล : โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

ครูบาอาจารย์สมัยก่อนสอนว่า จุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์เกิดขึ้นเมื่อมนุษย์เราได้สร้างตัวอักษรขึ้นใช้เป็นเครื่องมือในการจดจารึกความเป็นมาที่เกิดขึ้นในสมัยของตน เนื่องจากหลักฐานสำคัญที่สุดของวิชาประวัติศาสตร์คือเอกสารที่เป็นลายลักษณ์อักษรนั่นเอง ดังนั้นประวัติศาสตร์ชาติไทยจึงนับเนื่องจากการประดิษฐ์ลายสือไทยโดยพ่อขุนรามคำแหงแห่งสมัยสุโขทัยตั้งแต่นั้นมา

ภาพภายในหนังสือ
พจนานุกรมตัวสกดแบบไหม่ : ตีพิมพ์ครั้งแรก วันที่ 24 มิถุนายน 2485

 

ตัวอักษรแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่คือ

1) ใช้ตัวอักษรแทนเสียง เช่น ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาลาว เป็นต้น เวลาใช้งานก็เอาตัวอักษรมาผสมกันแล้วก็ออกมาเป็นเสียงที่ใช้ในการสื่อสารให้รู้เรื่องเข้าใจกันได้

Advertisement

2) ใช้ตัวอักษรแทนภาพสัญลักษณ์ เช่น ภาษาจีน ภาษาเฮียโรกลิฟิกส์ (hieroglyphics) ของอียิปต์โบราณ ซึ่งต้องอาศัยความจำเป็นหลักว่าตัวอักษรแทนภาพนี้ออกเสียงอย่างไร และหมายถึงอะไร

อีทีนี้ตัวอักษรภาษาไทยของเราที่เป็นพยัญชนะมีอยู่ 44 ตัวอักษร คือ ก-ฮ แต่มีอักษรที่มีเสียงซ้ำกันอยู่ถึง 14 ตัว คือ ฃ ฅ ฆ ฌ ญ ณ ฏ ฎ ฐ ฑ ฒ ศ ษ ฬ ซึ่งแต่เดิมนั้นใช้แทนเสียงที่แตกต่างกันไป แต่นานเข้า
เสียงเหล่านั้นได้เลือนหายไปจึงกลายเป็นเสียงซ้ำกันอย่างช่วยไม่ได้ ในทำนองเดียวกันกับสระของไทยเราที่มี 21 รูป มี 32 เสียง ใช้ไปมาบางเสียงก็เลือนหายไปกลายเป็นเสียงซ้ำกันถึง 5 เสียง คือ ใ ฤ ฤา ฦ ฦา

เมื่อประเทศไทยได้เข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สองโดยเข้ากับฝ่ายอักษะ เพราะถูกกองทัพญี่ปุ่นบุกเข้ามายังประเทศไทย วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2484  โดยรัฐบาลไทยได้ทำพิธีลงนามร่วมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นในวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ.2484 ที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และในวันที่ 25 มกราคม พ.ศ.2485 สถานการณ์ผลจากสงครามทวีความรุนแรงขึ้น อัครราชทูตญี่ปุ่นได้ชักชวนรัฐบาลไทยให้ร่วมลงนามเป็นพันธมิตรทางการทหารกับฝ่ายอักษะอย่างเต็มตัว โดยมีการลงนามโดยผ่านสถานทูตญี่ปุ่นและเยอรมันประจำกรุงเทพฯ และได้ยกเลิกความสัมพันธ์กับประเทศกลุ่มฝ่ายสัมพันธมิตรทั้งหมด และในวันที่ 25 มกราคม 2485 รัฐบาลไทยประกาศสงครามกับสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา ทำให้ไทยได้ดินแดนในแหลมมลายูที่เสียให้อังกฤษในสมัย ร.5 กลับคืน (รัฐกลันตัน, ตรังกานู, ไทรบุรี, ปริส) ต่อมาทางการญี่ปุ่นได้แจ้งแก่รัฐบาลไทยว่า ภาษาไทยนี้ยากมากสำหรับคนญี่ปุ่นที่จะเรียนรู้ จึงขอให้เปิดโรงเรียนสอนภาษาญี่ปุ่นและขอให้บังคับให้คนไทยเรียนภาษาญี่ปุ่นเหมือนคนจีนในไต้หวันและคนมลายูในแหลมมลายู

Advertisement

เพื่อการสื่อสารระหว่างพันธมิตรเป็นไปด้วยดี

จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีไทยขณะนั้น จึงแจ้งต่อทางการญี่ปุ่นว่าประเทศไทยมีภาษาอยู่สองชุด ชุดแรกสำหรับใช้ในราชการอาจจะเรียนยากสักหน่อย ส่วนอีกชุดสำหรับใช้ในชีวิตประจำวันและสามัญชนทั่วไปนิยมใช้กัน ซึ่งชุดนี้จะตรงกับความต้องการของญี่ปุ่นที่จะได้เรียนภาษาไทยได้ง่ายขึ้น ทั้งๆ ในความเป็นจริงประเทศไทยมิได้แบ่งภาษาออกเป็นสองชุดอย่างที่แจ้งแก่ญี่ปุ่น ด้วยเหตุนี้ จึงต้องมีการเรียกประชุมคณะรัฐมนตรีและแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมวัฒนธรรมภาษาไทย ประกอบไปด้วยนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิรวมทั้งสิ้น 29 คน และจอมพล ป.เป็นประธานกรรมการเอง โดยมีพระยาอนุมานราชธน (ยง เสฐียรโกเศศ) และนายเพียร ราชธรรมนิเทศ เป็นรองประธานกรรมการคนที่ 1 และ 2 ตามลำดับ เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าและต้องแข่งกับเวลา โดยมีความอยู่รอดปลอดภัยของชาติ และวัฒนธรรมไทยเป็นเดิมพัน คณะกรรมการได้ประชุมเพียงสองครั้งในวันที่ 23 และวันที่ 26 พฤษภาคม 2485 และประกาศใช้ “ภาษาไทยแบบสามัญชนทั่วไปนิยมใช้กัน” โดยมีพยัญชนะไทย 31 ตัว ประกอบด้วย “ก ข ค ง จ ฉ ช ซ ญ ด ต ถ ท ธ น บ ป ผ ฝ พ ฟ ภ ม ย ร ล ว ส ห อ ฮ” ตลอดจนตัดสระ ใ (ไม้ม้วน) ออก และฤ ฤา ฦ ฦา ส่วนตัว “ทร” ให้ใช้ “ซ” แทน และได้ตัดเชิงล่างของ “ญ” ออก
ในวันที่ 29 พฤษภาคม 2485 แบบว่าเอาตัวรอดไปได้ไม่ต้องเปิดโรงเรียนสอนภาษาญี่ปุ่น และไม่ต้องบังคับให้คนไทยเรียนภาษาญี่ปุ่นเหมือนคนจีนในเกาะไต้หวัน

ในการนี้ จอมพล ป.พิบูลสงคราม มีมันสมองที่เชี่ยวชาญภาษาไทยที่สำคัญ 4 ท่าน มาเป็นกรรมการ
ในคณะกรรมการส่งเสริมวัฒนธรรมภาษาไทย เรียกว่า “สี่ปุโรหิต” คู่บารมีจอมพล ป.พิบูลสงคราม

(ปุโรหิต มีความหมายตามรูปคำ แปลว่า ถูกตั้งไว้ข้างหน้า ซึ่งหมายถึง การเป็นผู้ที่กษัตริย์ทรงนับถือยกย่องและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสำคัญเป็นอันดับหัวหน้าใน
หมู่พราหมณ์ในราชสำนัก)

ที่มาของฉายาว่า “4 ปุโรหิต” นี้ มาจากการที่จอมพล ป.พิบูลสงครามเล่าให้ฟังว่า ในมโหสถชาดกนั้น มีปุโรหิตอยู่สี่คนที่ช่วยว่าราชการงานต่างๆ ให้กับมโหสถ และตัวท่านเองก็มี “ปราชญ์” ถึงสี่คนคอยช่วยงานการด้วยเช่นกัน คือ “ยง เถียร เพียร นวล” หมายถึง พระยาอนุมานราชธน (ยง) หลวงวิเชียร
แพทยาคม (เถียร) พระราชธรรมนิเทศ (เพียร) และหลวงสารานุประพันธ์ (นวล)

นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในการใช้ภาษาไทย คือการเปลี่ยนสรรพนามให้ใช้เหมือนๆ กันว่า ฉัน, ท่าน, เรา ซึ่งนับเป็นการปฏิวัติทางวัฒนธรรมครั้งยิ่งใหญ่ เพราะเป็นการทำลายการจำแนกชนชั้นทางภาษาไทยเลยทีเดียว โดยทั้งหมดนี้ยืนอยู่บนฐานคิดแบบตะวันตก (I กับ You) ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยมีความเป็นประชาธิปไตยและเท่าเทียมกันมากกว่าวัฒนธรรมแบบไทย

อย่างไรก็ตาม เมื่อจอมพล ป.พิบูลสงคราม
ลาจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปลายปี พ.ศ.2487 นโยบายต่างๆ ในสมัยรัฐบาลชุดก่อนได้ถูกยกเลิก
ซึ่งรวมถึงภาษาไทยแบบสามัญชนดังกล่าวด้วย รวมระยะเวลาการบังคับใช้อักขรวิธีของคณะกรรม
การส่งเสริมวัฒนธรรมภาษาไทยประมาณ 2 ปี 3 เดือน

ซึ่งเสี้ยวหนึ่งของประวัติศาสตร์ไทยดังเรื่อง “สี่ปุโรหิต” นี้จึงเป็นเรื่องที่น่าจารึกจดจำและถือเป็นบทเรียนเป็นอย่างยิ่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image