การปฏิรูปกระบวนการเสนอกฎหมาย ก่อนเข้าสู่ระบบรัฐสภา : โดย ผศ.ดร.สมหมาย จันทร์เรือง

เมื่อกฎหมายเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการปฏิรูปทุกระบบ เฉพาะอย่างยิ่งการตราพระราชบัญญัติที่เป็นกฎหมายหลักในการบริหารประเทศ ด้วยเหตุนี้นายกรัฐมนตรีจึงมีคำสั่งที่ 7/2560 แต่งตั้งคณะกรรมการ 4 คณะ ได้แก่ คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ คณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ และคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง เพื่อพิจารณากลั่นกรองเรื่องเสนอคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.)

และคำสั่งคณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศที่ 1/2560 ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการบูรณาการและขับเคลื่อนการปฏิรูปเชิงระบบและโครงสร้าง (อบป.) ซึ่ง อบป.ได้มีคำสั่งที่ 19/2560 และ 20/2560 เรื่องแต่งตั้งคณะทำงานด้านการปฏิรูปการพิจารณากฎหมายในระบบรัฐสภาให้มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการศึกษาแนวทางาด้านการปฏิรูปการพิจารณากฎหมายในระบบรัฐสภาและดำเนินการจัดทำความเห็นและข้อเสนอแนะเรื่องดังกล่าวเสนอคณะอนุกรรมการบูรณาการและขับเคลื่อนการปฏิรูปเชิงระบบและโครงสร้างพิจารณาเสนอต่อคณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ

คณะทำงานชุดนี้ได้ประชุมหารือแนวทางการปฏิรูปกฎหมายในระบบรัฐสภา มีความเห็นร่วมกันว่าการปฏิรูปกฎหมายให้ประสบผลสำเร็จนั้น ควรดำเนินการสองส่วน คือ การปฏิรูปกระบวนการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติก่อนเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา กับกระบวนการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติระหว่างการพิจารณาของรัฐสภา

ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่ผ่านมานั้นได้ให้ความสำคัญกับกระบวนการพิจารณาของรัฐสภาเป็นหลัก แต่ปัจจุบันตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 77 วรรคสอง กำหนดกระบวนการก่อนเข้าสู่รัฐสภาไว้ดังนี้

Advertisement

“ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน และนำมาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน เมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับแล้ว รัฐพึงจัดให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายทุกรอบระยะเวลาที่กำหนด โดยรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องประกอบด้วย เพื่อพัฒนากฎหมายทุกฉบับให้สอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป

จากบทบัญญัติดังกล่าว การตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงปฏิบัติดังนี้

1.จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง

Advertisement

2.วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ

3.เปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและผลการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน

4.นำผลการรับฟังความคิดเห็นและผลการวิเคราะห์มาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน

นอกจากนี้เมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับแล้ว รัฐพึงจัดให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายทุกรอบระยะเวลาที่กำหนด โดยรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องประกอบด้วย

ดังนั้น ประเด็นการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง จึงเป็นสาระสำคัญของการตรากฎหมาย โดยเฉพาะกระบวนการนำเสนอกฎหมายก่อนเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ซึ่งคณะทำงานด้านการปฏิรูปการพิจารณากฎหมายในระบบรัฐสภา มีความเห็นในประเด็นต่อไปนี้

1.ผู้รับผิดชอบหรือเจ้าภาพในการจัดทำรับฟังความคิดเห็น ไม่ควรให้หน่วยงานเจ้าของร่างพระราชบัญญัติเป็นผู้ดำเนินการ เพราะอาจต้องการจำนวนผู้เข้ารับฟังความคิดเห็นให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด โดยไม่ได้มุ่งเน้นเนื้อหาสาระของร่างพระราชบัญญัตินั้นๆ จนทำให้สาระไม่ตรงกับการรับฟังความคิดเห็น ดังนั้น ควรกำหนดให้ผู้มีความรู้ความสามารถและเป็นกลางเป็นผู้จัดทำในลักษณะเดียวกับการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม

2.การประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายทุกฉบับ จะต้องประเมินต้นทุนของการบังคับใช้กฎหมายมาพิจารณาประกอบด้วย และต้นทุนของการบังคับใช้กฎหมายนั้น ให้คำนึงถึงสัดส่วนของประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ

ในการรับฟังความคิดเห็นนี้ ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเสนอกฎหมาย มีโอกาสเข้าตรวจสอบติดตามการดำเนินงานของรัฐสภา ซึ่งจะทำให้กระบวนการพิจารณากฎหมายในระบบรัฐสภามีความรวดเร็วยิ่งขึ้น

ผศ.ดร.สมหมาย จันทร์เรือง
ประธานคณะทำงานด้านการปฏิรูป
การพิจารณากฎหมายในระบบรัฐสภา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image