จิตวิญญาณสหกรณ์ 3 : สร้างสรรค์สังคม 3 ส. : โดย จุมพล พูลภัทรชีวิน

เป้าหมายสูงสุดหรืออุดมการณ์ของขบวนการสหกรณ์คือ การสร้างสรรค์สังคมสันติสุขตามศักยภาพและบริบทของแต่ละสหกรณ์ ภายใต้กระแสการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งในระดับโลก ระดับภูมิภาค และระดับประเทศ

สังคมไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุหรือสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ในปี พ.ศ.2568 โดยจะมีผู้สูงอายุประมาณ 14.4 ล้านคน ที่น่าสนใจคือผลการสำรวจล่าสุดพบว่ามีผู้สูงอายุประมาณ 1 ล้านคน ที่มีสุขภาพไม่ดี ต้องพึ่งพาผู้อื่น ส่วนหนึ่งเป็นผู้สูงอายุติดเตียง ติดบ้าน และแนวโน้มที่จำนวนผู้สูงอายุอยู่ตามลำพังโดยไม่มีลูกหลานหรือผู้ดูแลจะมีเพิ่มมากขึ้น

สังคมสันติสุข จะต้องเป็นสังคมที่คนในสังคมมีความกินดีอยู่ดี มีสุขภาพกาย สุขภาพจิตที่ดี สังคมมีความเป็นธรรม รวมเรียกว่าเป็นสังคมสุขภาวะและในขณะเดียวกัน คนในสังคมควรต้องมีความเอื้ออาทร ร่วมมือ ร่วมใจ ให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันเรียกว่าเป็นสังคมใส่ใจดูแลและแบ่งปันกัน (Sharing & Caring Society)

เมื่อเป็นที่แน่ชัดว่าสังคมไทย จะเป็นสังคมสูงวัยเต็มตัวในอีกประมาณ 8 ปีข้างหน้า และสังคมที่พึงประสงค์ที่เป็นไปได้ที่ชาวสหกรณ์ควรต้องหันหน้ามาร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ช่วยกันสร้างสรรค์สังคมไทยให้เป็นสังคมสุขภาวะ และเป็นสังคมใส่ใจดูแลและแบ่งปัน เพื่อเอื้อให้การเปลี่ยนผ่านสังคมไทยจากปัจจุบัน ไปสู่การเป็นสังคมสูงวัย ดำเนินไปในทิศทางที่ถูกต้อง ดีงาม เหมาะสมสำหรับผู้สูงวัยและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

Advertisement

ปัจจุบันประเทศไทยมีสหกรณ์ทั้งหมด 8,074 แห่ง มีเงินหมุนเวียนในระบบประมาณ 2.7 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นสหกรณ์ออมทรัพย์จำนวน 1,448 แห่ง แต่มีมูลค่าสินทรัพย์ประมาณ 2.1 ล้านล้านบาท เมื่อเทียบกับของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบที่มีประมาณ 18 ล้านล้านบาท สหกรณ์และโดยเฉพาะสหกรณ์ออมทรัพย์ นับเป็นสถาบันสำคัญทางเศรษฐกิจที่จะช่วยขับเคลื่อนและพัฒนาสังคมไทยให้เป็นไปในทิศทางที่ประสงค์ได้

หากมีการรวมตัว ร่วมคิด รวมใจ ร่วมกันสร้างสรรค์และขับเคลื่อนสังคมไทยด้วยนวัตกรรมทางเศรษฐกิจเพื่อความพอเพียงทางสังคมตามแนวคิดและแนวปฏิบัติปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพ่อหลวงของปวงชนชาวไทย

สังคม 3 ส. (สูงวัย สุขภาวะ ใส่ใจดูแลและแบ่งปัน) ประกอบไปด้วยสังคมภาคบังคับหรือสังคมที่กำลังจะเกิดขึ้นจริงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ที่ชาวสหกรณ์ต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ได้แก่ สังคมผู้สูงอายุหรือสังคมสูงวัย และสังคมทางเลือกที่พึงประสงค์อีกสองลักษณะคือ สังคมสุขภาวะและสังคมใส่ใจดูแลและแบ่งปันซึ่งเป็นสังคมทางเลือกที่พึงประสงค์และเป็นไปได้หากชาวสหกรณ์จะช่วยกันริเริ่มและขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นจริงภายใต้อุดมการณ์และหลักการของสหกรณ์ เพียงแต่ชาวสหกรณ์ต้องช่วยกันคิดสร้างสรรค์ทางเลือกใหม่ๆ โดยยังคงมีจิตวิญญาณสหกรณ์เป็นทั้งฐานและสิ่งโอบอุ้ม หล่อเลี้ยงการขับเคลื่อนทางสังคมที่ท้าทายครั้งนี้

Advertisement

ตัวอย่างเช่น จะสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์การออม และ/หรือการลงทุนแบบใหม่ที่หลากหลายเพื่อตอบสนองและเอื้อให้สมาชิกสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างพอเพียงภายใต้สังคม 3 ส.ในอีก 8 ปีข้างหน้าได้หรือไม่ อย่างไร นอกเหนือไปจากการฝาก การกู้ และการลงทุนตามปกติที่เคยทำกันมา ชาวสหกรณ์ต้องช่วยกันคิด ต้องช่วยกันทำ

เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่พึงทำได้ตามหลักการของสหกรณ์ข้อ 3 (การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของสมาชิก) เพียงแต่ต้องช่วยกันแสวงหาทางเลือกใหม่ๆ ที่พึงประสงค์และมีความเป็นไปได้ หากทางเลือกที่พึงประสงค์ไม่สามารถจะทำได้ภายใต้กฎหมายเดิมที่มีอยู่ ก็ต้องเสนอและผลักดันให้มีการปรับแก้กฎหมาย แต่ต้องไม่ขัดกับอุดมการณ์และหลักการของสหกรณ์ที่กล่าวไว้ก่อนแล้ว โดยกฎหมายจะต้องเอื้อให้สหกรณ์สามารถดำเนินการตามอุดมการณ์และหลักการของสหกรณ์เป็นสำคัญ

การสร้างสรรค์สังคมสุขภาวะและสังคมใส่ใจดูแลและแบ่งปัน เป็นสังคมทางเลือกที่พึงประสงค์และเป็นไปได้สำหรับสังคมไทยและสังคมโลก หากสหกรณ์ทุกประเภท ทุกขนาด รวมตัวร่วมคิด รวมใจร่วมสร้างสรรค์ ผลักดันและขับเคลื่อนไปด้วยกัน อนาคตภาพที่พึงประสงค์ของสหกรณ์ที่จะสร้างสรรค์สังคม 3 ส.ก็จะเป็นไปได้ในอนาคต หากเริ่มต้นตั้งแต่ปัจจุบัน ดังที่นักอนาคตพูดไว้เป็นแนวคิดว่าอนาคตอยู่ที่ปัจจุบันและเริ่มต้นจากปัจจุบัน

และที่สำคัญการสร้างสรรค์สังคม 3 ส.ตามที่กล่าวถึง เป็นไปตามหลักการของสหกรณ์ข้อ 6 (มีความร่วมมือระหว่างสหกรณ์) และข้อ 7 (มีความเอื้ออาทรต่อชุมชน) โดยที่การคิด การพูด และการทำทั้งหมดจะต้องตั้งอยู่บนจิตวิญญาณสหกรณ์ และดำเนินไปภายใต้อุดมการณ์และหลักการของสหกรณ์

 

จุมพล พูลภัทรชีวิน
www.thaissf.org, twitter.com/jitwiwat
สนับสนุนโดยมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image