การเมือง 2 แนวทาง โดย สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา(แฟ้มภาพ)

ได้ผลตอบรับอย่างร้อนแรงจริงๆ สำหรับคำถาม 6 ข้อ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยบรรดานักการเมืองแห่งพรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย ดาหน้าออกมาตอบกลับอย่างดุดัน โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่า เป็นคำถามซึ่งชี้ให้เห็นว่าสอบตกด้านประชาธิปไตย

อันที่จริงหลักประชาธิปไตยของ พล.อ.ประยุทธ์และคณะ คสช.ที่ปกครองบ้านเมืองอยู่ในขณะนี้ กับประชาธิปไตยในระบบปกติ ประชาธิปไตยของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ย่อมแตกต่างกันอยู่แล้ว

สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์และคณะ ลงมือปฏิรูปการเมืองในช่วงกว่า 3 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งผลักดันผ่านรัฐธรรมนูญและกรอบกติกาต่างๆ บ่งบอกอยู่แล้วว่า ไม่ต้องการให้ประชาธิปไตยไทยเราเป็นเหมือนหลักสากลทั่วไป และไม่เป็นเหมือนในช่วง 20 ปีมานี้ ซึ่งถือว่าเป็นยุคเฟื่องฟูสุดขีดของระบบพรรคการเมือง นับจากใช้รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นต้นมา

โดยทำทุกอย่างเพื่อให้การเมืองไทยถอยไปเหมือน 30 ปีที่แล้ว สมัยที่มีรัฐบาลผสมหลายพรรค และนายกฯมาจากคนนอก ซึ่งสนับสนุนโดยกองทัพและชนชั้นสูง

Advertisement

รวมทั้งพูดมาตลอดว่า เราต้องมีประชาธิปไตยที่เป็นแบบไทยๆ หรือประชาธิปไตยที่เป็นเอกลักษณ์ของเราเอง

วันนี้ พล.อ.ประยุทธ์และคณะ ทำให้การเมืองไทยย้อนยุคสำเร็จเรียบร้อยแล้ว กำลังเตรียมจะเริ่มต้นใช้กติกานี้ ในการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นอีกปีสองปีข้างหน้า

อีกทั้งจากคำถาม 6 ข้อล่าสุด สรุปรวบรัดได้ว่า เรากำลังจะได้เห็นพรรคการเมืองใหม่ ถือเป็นทางเลือกใหม่ ไม่ใช่แค่พรรคเดิมๆ หรือนักการเมืองหน้าเดิมในอดีตเท่านั้น

รวมทั้ง คสช.และ พล.อ.ประยุทธ์ มีสิทธิจะแสดงการสนับสนุนพรรคการเมืองใหม่ๆ นี้ด้วย

พูดภาษาชาวบ้านก็คือ จะมีพรรคทหารเกิดขึ้นอย่างแน่นอน รวมทั้งเราจะได้เห็น คสช.แสดงจุดยืนชัดเจนว่าจะหนุนพรรคไหน

แล้วพรรคนั้นจะต้องประกาศสนับสนุนให้มีนายกฯมาจากคนนอกอย่างแน่นอน

อาจจะเปิดชื่อเปิดหน้านายกฯคนนอกที่เตรียมเอาไว้แล้วเลยก็ได้

มองในแง่นี้ก็มีข้อดีอย่างหนึ่ง นั่นคือ ให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ตัดสินใจได้ง่าย ได้ชัดเจนขึ้น

ระหว่างต้องการประชาธิปไตยแบบที่ คสช.ผลักดัน คือ ระบบที่ทำให้พรรคการเมืองไม่สามารถทำอะไรได้มากมายนัก เป็นแค่ส่วนประกอบในสภา ในรัฐบาล โดยเสียงของคนในกองทัพและชนชั้นสูงจะดังกว่าใครเป็นพิเศษ

เอาให้ง่ายขึ้นก็คือ ภาพการเมืองสมัยป๋าเปรมเป็นนายกฯ ช่วงปี 2523-2531 นั่นแหละ

ถ้าชอบย้อนยุคถอยหลัง ก็เลือกพรรคที่ คสช.สนับสนุนไปเลย

กับอีกแนวทางคือ ชอบการเมืองที่เป็นแนวเสรีประชาธิปไตย เสียงของประชาชนมีความศักดิ์สิทธิ์มีพลังอำนาจ เลือกตัวผู้แทนราษฎร และผู้จะมาเป็นนายกฯก็ควรผ่านการเลือกตั้งจากประชาชนเท่านั้น

อีกทั้งรัฐบาลควรบริหารงานภายใต้นโยบายที่หาเสียงไว้กับประชาชน เพื่อประโยชน์ของประชาชนวงกว้าง ไม่ใช่ไม่มีนโยบายอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน เข้ามาเป็นรัฐบาลก็เพื่อทำงานตามนายกฯคนนอก ที่เป็นตัวแทนของชนชั้นอื่น

จริงอยู่ วันนี้กฎกติกาการเมือง ทำให้ประชาธิปไตยเราถอยหลังไป 30-40 ปีแล้ว แต่หากต้องการประชาธิปไตยเสรีนิยมกลับมา ก็ต้องเลือกพรรคการเมืองที่มีจุดยืนในแนวทางนี้ เพื่อให้มีโอกาสเข้ามาผลักดันการเมืองไทย ให้ค่อยๆ พ้นจากวังวนย้อนยุคกันต่อไป

ถือเสียว่าเป็นการต่อสู้ทางการเมือง 2 แนวทางที่ชัดเจนอย่างมาก

ระหว่างประชาธิปไตย คสช. กับประชาธิปไตยสากลนิยม

……………………

สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image