ทรัพยากรมนุษย์ : นพ.วิชัย เทียนถาวร

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยตั้งแต่ฉบับที่ 1 ถึงฉบับที่ 12 ซึ่งเป็นฉบับปัจจุบัน มีวิวัฒนาการในเรื่องการพัฒนาเป้าหมายเชิงนโยบายต่างกัน ตามปัจจัยทั้งภายใน ภายนอก หรือบริบทที่มีการเปลี่ยนแปลงของประเทศไทย ผนวกกับกระแสและทิศทางการพัฒนาของทั่วโลก

แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯฉบับแรกๆ เน้นแก้ปัญหาความยากจน จึงมุ่งเน้นการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ มุ่งสร้างความเจริญพรั่งพร้อมทางด้านวัตถุต่อเนื่อง กระทั่งเกิดปัญหาการสำลัก ติดกับดัก “วัตถุนิยม” ตามกระแสของการพัฒนาของโลกาภิวัตน์ จนกระทั่งแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 8 ที่เริ่มพัฒนาด้วยการยึด “คน” เป็นศูนย์กลาง ตลอดจนนำเอาปรัชญาการพัฒนาของในหลวงรัชกาลที่ 9 “เศรษฐกิจพอเพียง” มาใช้เป็นนโยบายของรัฐบาลทุกยุคทุกสมัยต่อเนื่องมาจนถึงแผนฯ 12 โดยเน้นการ “พัฒนาทรัพยากรมนุษย์” และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ยึดชุมชนพื้นที่เป็นฐานการพัฒนา การมีส่วนร่วมของชุมชน สังคม มามีส่วนร่วม ตามวัฒนธรรมวิถีชีวิตชุมชนไทยๆ ของเรา อีกทั้งยังมีการประยุกต์ใช้สื่อทางไกล เทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาแทนที่ “คน” เพื่อการสื่อสารทั้งทางกว้างและทางลึก

เวลานี้เรามักจะได้ยินหลายๆ ส่วนราชการ เอกชน รัฐวิสาหกิจ มักพูดคำ “การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์” ซึ่งมองได้ว่าเข้ากับสมัยนิยม คือ การพัฒนาสังคม และพัฒนาประเทศชาติในยุคปัจจุบันนี้ เป็นผลมาจากการพัฒนาในยุคต่างๆ ที่ผ่านมา ซึ่งบัดนี้ยอมรับกันแล้วว่าเป็นการพัฒนาไม่ถูกต้อง เพราะไปเน้นแต่ความมุ่งหมายทาง “เศรษฐกิจ”… “วัตถุนิยม” มากเกินไปจนลืมสังคม ผลกระทบต่อ “คน” หรือ “มนุษย์” โดยเฉพาะด้าน “จิตใจ” สังคม และสิ่งแวดล้อม ตามที่เราพบเห็นได้ชัดเจนเชิงประจักษ์ ตรงพื้นที่ในเขตชุมชนชนบท แม้แต่ในเขตเมือง ความเป็น “ครอบครัว” ความรักผูกพัน อัธยาศัยไมตรีจิตน้อย เบียดเบียนเห็นแก่ตัวมากขึ้น ขัดแย้ง ทะเลาะเบาะแว้งมากขึ้น สิ่งแวดล้อมธรรมชาติถูกทำลายมากขึ้นปัญหาภัยธรรมชาติปรากฏชัดเจนมากขึ้นไม่ว่าน้ำท่วม พายุ ไฟไหม้ อุบัติเหตุต่างๆ ตั้งแต่ปัจเจกบุคคล เช่น การฆ่าตัวตาย การทำร้าย อุบัติเหตุตามท้องถนน พิษจากการขาดวินัย เสพติดของมึนเมา ขาดคุณธรรมจริยธรรมมากขึ้น ปัจจัยสำคัญในการสร้างสรรค์ความเจริญและพัฒนาเศรษฐกิจสังคมนั้นก็คือ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นที่ทราบกัน คำว่า “ทรัพยากรมนุษย์” นี้เราแปลมาจากคำภาษาอังกฤษว่า human resources คำๆ นี้เกิดขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ.2504 “ยุคผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม” ในยุคที่กระแสพัฒนาที่มุ่งเน้นความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมีกำลังแรง

และคำคำนี้เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้นำของโลก เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว (ประเทศอุตสาหกรรม)

Advertisement

พจนานุกรมภาษาอังกฤษของออกซ์ฟอร์ด คือ The Oxford English Dictionary ฉบับตรวจชำระครั้งที่ 2 พิมพ์ครั้งที่ 2 ค.ศ.1991 (พ.ศ.2534) ซึ่งเป็นพจนานุกรมภาษาอังกฤษที่ใหญ่ที่สุดในโลก (1 ชุดมี 20 เล่ม รวม 21475 หน้า) แสดงประวัติคำว่า “human resources” ไว้ในเล่ม 7 หน้า 474 โดยยกหลักฐานมาให้ดูว่ามีคำนี้อยู่ในเอกสารตีพิมพ์ เลขที่ 7205 ของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐเอมริกา เมื่อ ค.ศ.1961 (พ.ศ.2504) พจนานุกกรมใหญ่ฉบับหนึ่งของอเมริกา คือ Random House “Webster’s Unabridged Dictionary” ว่าคำนี้เกิดขึ้นระหว่าง ค.ศ.1965-1970 (พ.ศ.2508-2513) พจนานุกรมของ Oxford ที่กล่าวถึงข้างต้นนั้นให้ความหมายของ human resources (ทรัพยากรมนุษย์) ไว้ ได้แก่ “คน” (โดยเฉพาะบุคลากรหรือคนงาน) ซึ่งถือว่าเป็นทรัพย์สินสำคัญอย่างหนึ่งของธุรกิจ หรือองค์กรอย่างอื่น ตรงข้ามกับทรัพยากรวัตถุ (material resource) เป็นต้น, กำลังคน (manpower เล่ม 7 หน้า 473 คำที่พจนานุกรมต่างๆ มักใช้อธิบายความหมาย หรือบางที่ใช้เป็นไวพจน์ของ human resources ได้แก่ Personnel (บุคลากร) manpower (กำลังคน) และ labor force (กำลังคน)

พจนานุกรมของ Random House ฉบับใหญ่ที่กล่าวถึงข้างต้นนั้น ให้ความหมายว่า ทรัพยากรมนุษย์ ได้แก่ 1.คน โดยเฉพาะบุคลากรที่จ้างงานโดยบริษัท สถาบัน หรือกิจการ ทำนองเดียวกันนั้น 2.ดู human resources department และ human resources department ดู Personnel department ได้แก่ ส่วนงานในองค์กร ซึ่งทำงานเกี่ยวกับเรื่องราวเกี่ยวกับลูกจ้าง เช่น การจ้าง การฝึกอบรมแรงงานสัมพันธ์และผลประโยชน์เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า human resources department

เพียงเท่านี้ก็เพียงพอและชัดเจนแล้วว่า คำว่า “ทรัพยากรมนุษย์” เป็นการมอง “คน” เป็น “ทุน” เป็นองค์ประกอบ หรือเป็นปัจจัยที่จะนำไปใช้ในการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม เฉพาะอย่างยิ่งที่เด่นชัดมาก คือ ในทาง “เศรษฐกิจ” โดยอาจจะถือเป็นเพียงปัจจัยในการผลิตอย่างหนึ่ง

Advertisement

ซึ่งจะต้องพัฒนาให้มี “คุณภาพและประสิทธิภาพ” เพื่อจุดมุ่งหมายในการสร้างความเจริญเติบโต หรือขยายตัวทางเศรษฐกิจ เริ่มตั้งแต่ “การเพิ่มผลผลิต”

ในเรื่องนี้ หากจะอธิบายให้ชัดเจน ต้องมีการแยกว่าจะพัฒนาคนในฐานะที่เป็น “มนุษย์” หรือเป็นตัว “คน” หรือจะพัฒนาคน ในฐานะที่เป็นทรัพยากร สองคำนี้คนละอย่างกัน แต่ที่ว่านี้ก็ไม่ใช่หมายความว่า จะเลิกพัฒนาคนในฐานะที่เป็น “ทรัพยากร” มนุษย์ในแง่หนึ่งก็เป็นทรัพยากรทางสังคมและทางเศรษฐกิจ เพราะคนมีคุณภาพก็เอาไปใช้พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมได้ผลดี แต่เราคงไม่หยุดแค่นั้น คือ ในขั้นพื้นฐานเราต้องพัฒนาคนในฐานะที่เป็น “คน” เพื่อความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ความเป็นคนที่สมบูรณ์ หรือมนุษย์ที่สมบูรณ์นั้นอย่างหนึ่งซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นเครื่องมือการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมหมายความว่า คนสามารถมีความสมบูรณ์ในตัวของเขาเอง

การพัฒนาคน คือ การทำให้เขามีชีวิตที่ดี งดงาม ประณีต มีอิสรภาพ มีความสุข มีความเป็นคนเต็มคนในตัว

การพัฒนาคนในความหมายสองอย่างนี้ ถ้าจะเกิดความชัดเจนถ้าเราแยกอย่างนี้ได้ คือ รู้ว่าพัฒนาคนในฐานะที่เป็นการพัฒนามนุษย์ คือ พัฒนาตัวมนุษย์ให้มีความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์มีชีวิตที่ดีงาม มีความสุข มีอิสรภาพอย่างหนึ่ง และพัฒนาคนในฐานะที่เป็นทรัพยากรมนุษย์ คือ เป็น “ทุน” ที่จะทำไปใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอีกอย่างหนึ่ง เราก็จะมองเห็นได้ว่า…มนุษย์หรือคน…จะมีความเป็นตัวตนที่สมบูรณ์มีวุฒิภาวะที่ดีได้ พึ่งตนเองได้ ช่วยเหลือคนอื่นได้ ต้องมีการพัฒนาให้อยู่ในสภาวะดี

กล่าวคือ “ศึกษาดี มีเงินใช้ ไร้โรคา พาให้สุขสมบูรณ์”

การปลูกฝัง อบรม กล่อมเกลาเด็กทารกตั้งแต่แรกเกิดตลอดจนเติบใหญ่ที่หนีไม่พ้นจากการมีสุขภาพดี (healthy personnel) แล้วการ “ศึกษาดี” (education) เท่านั้นเป็นเครื่องมือที่สำคัญอย่างยิ่งที่รัฐบาลทุกรัฐบาลน่าจะมีนโยบายในเรื่องนี้ คือ “เด็กเกิด 100 คน ต้องเรียนจบปริญญาตรี 100 คน” เพื่อให้เขาได้เป็น “บัณฑิต” เป็นคนที่คุณค่ามีความหมาย “มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ” ซึ่งในระบบการศึกษามีระบบ 2 ระบบกล่าวคือ ก)วิชาศึกษาทั่วไป เป็นวิชาสำหรับพัฒนามนุษย์ หรือพัฒนาคนในฐานะที่เป็นตัวคนจนกระทั่งคนนั้นเป็น “บัณฑิต” ข) วิชาประเภทวิชาเฉพาะวิชาชีพเป็นการพัฒนาคนในฐานะที่เป็นทรัพยากรมนุษย์

เมื่อได้ความหมายอย่างนี้แล้ว ก็จะพอมองเห็นว่าการเรียนการสอนวิชาศึกษาทั่วไป กับวิชาชีพมีบทบาทและหน้าที่ต่างกัน (อย่างน้อยเห็นชัดเจนในแง่จุดเน้น) คือวิชาศึกษาทั่วไป ทำหน้าที่ทำคนให้เป็น “บัณฑิต“ หรือสร้างบัณฑิตมีบทบาทโดยตรงในการพัฒนา “คน” เพื่อให้บุคคลแต่ละคนเป็นคนที่สมบูรณ์ มีชีวิตที่ดีงาม มีคุณธรรม ประณีต ประเสริฐ สมกับความเป็น “มนุษย์” หรืออาจจะเรียกว่าเป็น “คนเต็มคน” เป็นชีวิตที่มีอิสรภาพและมีความสุข ส่วนวิชาเฉพาะหรือวิชาชีพ มีหน้าที่สร้างเครื่องมือและความสามารถที่จะใช้เครื่องมือให้แก่คน (ที่จะเป็นบัณฑิต) โดยพัฒนาคนนั้นในฐานะเป็นทรัพยากรของสังคม เพื่อให้เขาเป็นทุน เป็นองค์ประกอบหรือเป็นปัจจัยที่มีคุณค่าและมีประสิทธิภาพ ในการร่วมสร้าง (หรือที่จะถูกนำไปใช้สร้าง) ความเจริญทางเศรษฐกิจ (สร้างรายได้ส่วนบุคคลและประเทศชาติ GNP&GDP) ตลอดจนความเจริญด้านอื่นๆ ของสังคมซึ่งเน้นเป็น “การเพิ่มผลผลิต” ให้ตนเอง ครอบครัว สังคม ประเทศชาติ ท้ายสุดที่พูดเกี่ยวคู่กันไปเช่นนี้ มิใช่หมายความว่าจะแยกออกจากกัน หรือจะต้องเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ มหาวิทยาลัยสร้างบัณฑิตเป็นผู้มีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ และสามารถใช้เครื่องมือนั้นในทางเป็นการสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์สุขที่แท้จริงแก่ชีวิตและสังคม

ที่จะดำรงด้วยดี ท่ามกลางธรรมชาติแวดล้อมที่รื่นรมย์เกื้อกูล

ถ้าเรามองการพัฒนาคนเพียงในแง่ของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ก็แน่นอนว่าจะทำให้เราให้การศึกษา ประเภทที่สนองความ “ต้องการของสังคม” หรือ “ตามสังคม” เช่น สังคมต้องการพัฒนาเศรษฐกิจหรือต้องการถ้าสังคมในด้านนั้นๆ หรือต่อการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี หากต้องการนำสังคมด้านนี้มากก็จะผลิตคนให้สำเร็จวิชาชีพด้านนั้นๆ มาใช้ คือ เราจะผลิตคนมาเป็นกำลังคนสำเร็จสนองความต้องการทางเศรษฐกิจและสังคม หรือรวมทั้งวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์สุขภาพ ควบคู่กันไป เราอาจจะมีบัญชีว่า เวลานี้ประเทศชาติต้องการกำลังในด้านนี้ ในวิชาการนี้ จำนวนเท่านี้ แล้วก็ผลิตคนออกมาให้สอดคล้องกันอย่างสมดุล การให้การศึกษาแบบนี้จึงเน้นการสนองความต้องการของสังคม พูดตรงพูดสั้นๆ ก็เป็นการศึกษา… “สอดคล้องความต้องการของสังคม” แต่การที่จะตามสังคมอย่างเดียวก็คงไม่ถูกต้องนัก การศึกษาควรทำหน้าที่ได้ดีและมากกว่า คือ…“การศึกษานั้นแท้จริงแล้วต้อง…นำสังคม” จึงจะมีความหมายมีคุณค่า ไม่ใช่คอยตามสังคมแต่อย่างเดียว เพราะยุคโลกาภิวัตน์เป็นโลกไร้พรมแดน มีการแข่งขันภายในประเทศ และนานาอารยประเทศสูงมาก ซึ่งโดยเฉพาะสถาบันอุดมศึกษาทุกแห่ง ความจริงแล้วต้องเริ่มพัฒนาการศึกษาตั้งแต่ครอบครัว (ก็คือ โรงเรียนครอบครัว) ชั้นวัยก่อนเรียน อนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษา แล้วก็อุดมศึกษา เรียนเป็นระเบียบส่งต่อกันอย่างต่อเนื่องเป็นระบบอย่างมีคุณภาพและจริยธรรมที่ดีงาม และมีความหมายและทรงคุณค่าก็จะทำให้ประเทศไทยเราเจริญได้อย่างอารยประเทศ

ข้อเตือนใจที่ว่า คนจะต้องมีความดีพิเศษยิ่งกว่านั้น ต้องมีคุณภาพสูงกว่ามีปัญญามีความคิดมากกว่านั้น “การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์” ซึ่งบอกได้ว่าเข้ากับสมัยนิยม คือ การพัฒนาสังคม และพัฒนาประเทศชาติในปัจจุบันเป็นผลพวงมาจากการพัฒนาในยุคที่ผ่านมา ซึ่งยอมรับกันแล้วว่าเป็นการพัฒนาให้ถูกต้องตามที่กล่าวแล้วเบื้องต้นซึ่งต้องพึงเฝ้าระวังสิ่งที่เกิดผลร้ายแก่จิตใจสังคมโดยเฉพาะสิ่งแวดล้อม

ปัจจัยสำคัญในการสร้างสรรค์ความเจริญและพัฒนาเศรษฐกิจ ก็คือ วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี

เมื่อเห็นว่าการพัฒนาแบบนั้นผิดก็เลยหันการเปลี่ยนแนวคิดในการพัฒนาใหม่ จนเกิดแนวคิดที่เรียกว่า “การพัฒนาแบบยั่งยืน” หรือ Sustainable Development ปรากฏขึ้นมาใน พ.ศ.2530 และใกล้กันนั้นมีการประกาศแนวความคิด “การพัฒนาเชิงวัฒนธรรม” หรือ Cultural development ดังที่ได้กำหนดให้ พ.ศ.2531-2540 เป็น “ทศวรรษแห่งการพัฒนาเชิงวัฒนธรรม” การพัฒนา 2 ชื่อนี้เป็นแนวคิดใหม่ในการพัฒนาซึ่งเปลี่ยนจุดเน้นของการพัฒนาเศรษฐกิจไปอยู่จุดอื่นสำหรับ…“การพัฒนาแบบยั่งยืน” ก็หันไปเน้นเรื่องการดำรงอยู่ของสิ่งแวดล้อม ให้คู่ควบกันไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจ หมายความว่า ให้เน้นการพัฒนาสิ่งแวดล้อมก็อยู่ที่เศรษฐกิจก็ดำเนินไปได้ หรือว่า…เศรษฐกิจไปดีธรรมชาติแวดล้อมก็อยู่ได้ ส่วน “การพัฒนาเชิงวัฒนธรรม” ก็เน้นที่ “ตัวคน” ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงความคิดในการพัฒนา โดยรวมประเทศ มีแผนพัฒนาเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2501 จวบจนวันนี้ก็นับได้ว่า 60 ปี มี 12 แผน แผนพัฒนาฉบับแรกเป็นแผนพัฒนาเศรษฐกิจแต่อย่างเดียว ต่อมาก็เติม…“และสังคม” เข้าไป พอผ่านไป 4 แผน ก็มาเป็นเรื่อง “จิตใจ” มากขึ้นๆ แล้วก็เอาเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมเพิ่มเข้าไป ตอนหลังๆ นี้ก็เน้นเรื่อง “คน” มากขึ้น จนกระทั่งวางแผน 8 ขณะนี้ ก็เน้นเรื่องคนมากเป็นพิเศษ รวมถึงนำเอาแนวคิดการพัฒนาของในหลวงรัชกาลที่ 9 ว่าด้วย “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” มาเป็นประเด็นหลัก ซึ่งปัจจุบันนี้ก็คือ “ศาสตร์พระราชา” รวมถึงการปรับตัวยึดหยุ่นของชุมชน (resilience community) เพื่อให้ชุมชนมีเสถียรภาพที่ดี

ท้ายสุดนี้ ผู้เขียนเองและหลายท่านที่เป็นแฟนมติชนก็คงจะเห็นด้วย “การศึกษา” หรือ “หัวใจ” ของการพัฒนาชาติ ขณะเดียวกัน “สุขภาพกายใจ” ที่สมบูรณ์แข็งแรงเป็นฐานรากที่จะช่วยทำให้ “ทรัพยากรมนุษย์” ที่ว่า ดำรง คงทน มั่นคง มีปัญญา ฉลาดปราดเปรื่อง มีคุณภาพ มีคุณค่าในการสร้าง “ผลิตผลคือ รายได้และอื่นๆ” ของตนเอง ครอบครัว สังคม ประเทศชาติได้นั้น จะต้องรู้เท่าทันสังคม รู้กระทั่งว่าสังคมเดินทางผิดหรือเดินทางถูก แล้วจะแก้ไขอย่างไร ซึ่งจะต้องทำได้ก็ด้วยการพัฒนาคน หรือ “ทรัพยากรมนุษย์” ของประเทศไทย ให้เป็น “ผู้นำการเปลี่ยนแปลงให้ได้”

ให้สมกับคำที่ว่า “…จะสอนวิชาเฉพาะวิชาชีพ ให้ใช้ผู้เชี่ยวชาญ แต่จะสอนวิชาพื้นฐาน ต้องใช้นักปราชญ์” นะครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image