“ทหารทำเพราะอะไร” (ตอนต้น) โดย เกษียร เตชะพีระ

วิชาแรกในชีวิตที่ผมได้เรียนกับครูเบ็นหรือโปรเฟสเซอร์เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน เมื่อครั้งไปศึกษาต่อปริญญาโท-เอกที่มหาวิทยาลัยคอร์แนล มลรัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ค.ศ.1985 (พ.ศ.2528) คือวิชา Military & Politics หรือทหารกับการเมือง

จริงๆ แล้วมันเป็นวิชาบรรยายระดับปริญญาตรี มีนักศึกษาอเมริกันส่วนใหญ่ลงราว 30 คน แต่ครูเบ็นในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาบอกให้ผมไปนั่งเรียนเป็นประจำในชั้นด้วยโดยไม่ต้องลงทะเบียน เพื่อฝึกนักศึกษาต่างชาติหน้าใหม่อย่างผมให้คุ้นกับการฟังบรรยายวิชาการภาษาอังกฤษ

31 ปีผ่านไป ประเด็นหลักๆ ในคำสอนของครูเบ็นเกี่ยวกับปมเงื่อนความสัมพันธ์อันยอกย้อนซ่อนเงื่อนระหว่างทหารกับการเมืองยังคงประทับความทรงจำและฝังใจผมไม่ลืมเลือน

จึงอยากนำมาเล่าสู่กันฟังผ่านการตีความและอธิบายขยายความของผมเผื่อเป็นลู่ทางคิดวิเคราะห์ทำความเข้าใจปัญหานี้ในบ้านเมืองของเราที่กำลังออกอาการ “ลงแดง” อีกแล้วในปัจจุบัน (http://www.openbase.in.th/files/ebook/textbookproject/tbpj198.pdf)

Advertisement

ครูเบ็นชี้ว่าทหารในความหมายกองทัพประจำการของรัฐชาติสมัยใหม่ (อันเป็นประเด็นหลักของบทความยั่วให้แย้งที่ go so big เมื่อเร็วๆ นี้ของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เรื่อง “ทหารมีไว้ทำไม” https://www.matichon.co.th/news/2227) มีความต้องการพื้นฐาน 3 อย่างจากสังคม คือ :

1) monopoly of war weapons หรือ สิทธิอำนาจผูกขาดการมีอาวุธสงคราม

2) budget หรือ งบประมาณการทหาร และ

Advertisement

3) client หรือ ความชัดเจนว่าใครหรือสถาบันไหนคือ “ลูกค้า/ผู้รับบริการ” ที่กองทัพมีหน้าที่รับใช้บริการ

ลองทำความเข้าใจกันทีละประเด็นนะครับ

เรื่องแรกที่ถือสาขนาดคอขาดบาดตายสำหรับกองทัพแห่งชาติสมัยใหม่คือในสังคมหนึ่งๆ กองทัพประจำการจะต้องเป็น กองกำลังที่มีสิทธิอำนาจผูกขาดการถือครองอาวุธสงคราม (ตั้งแต่ปีนเล็กยาว, เกราะกันกระสุน, ระเบิด, ปืนกล, ปืนต่อสู้อากาศยาน ไปจนถึงรถถัง, ปืนใหญ่, จรวด, ขีปนาวุธ, เครื่องบิน, เรือพิฆาต, เรือดำน้ำ ฯลฯ) โดยชอบด้วยกฎหมายแต่เพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น ไม่อนุญาตให้มีกองกำลังอิสระต่างหากมาถือครองอาวุธสงครามเป็นกองกำลังที่สองคู่ขนานประชันกับกองทัพเด็ดขาด หากจะมีก็แต่โดยการรู้เห็นยินยอมของกองทัพและต้องอยู่ในฐานะขึ้นต่อเป็นรองกองทัพเท่านั้น

เมื่อใด ไม่ว่าในระบอบการเมืองไหน หากปล่อยให้มีกองกำลังที่สองขึ้นมาถือครองอาวุธสงครามแข่งประชันกับกองทัพอย่างเป็นทางการตามกฎหมายแล้ว ก็จะสร้างความขุ่นเคืองใจให้แก่กองทัพและสุ่มเสี่ยงต่อการที่ทหารจะแทรกแซงการเมือง

ดังกรณีตัวอย่างในอดีต เช่น :

– กรณีกองกำลังเสือป่าในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว อันมีส่วนนำไปสู่ –> กบฏเก็กเหม็ง ร.ศ.130 (พ.ศ.2454) ของคณะนายทหารระดับนายร้อย

– กรณีกองกำลังเสรีไทยและอาวุธสงครามที่เหลืออยู่ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง อันมีส่วนนำไปสู่ –> รัฐประหาร 9 พฤศจิกายน 2490 ของคณะทหาร

– กรณีการขยายบทบาทและติดอาวุธหนักเช่นรถถังให้กองกำลังตำรวจภายใต้อธิบดีกรมตำรวจ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ในช่วงครึ่งหลังของพุทธทศวรรษ 2490 อันมีส่วนนำไปสู่ –> รัฐประหาร 16 กันยายน 2500 ของคณะทหารภายใต้การนำของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

– กรณีการระดมกำลังสวนสนามแสดงพลังของ “กองกำลังอาสาสมัครตำรวจชาวบ้านเพื่อพิทักษ์ประชาธิปไตย” 8,910 นายที่ จ.พะเยา ภายใต้การอำนวยการของแกนนำพรรคเพื่อไทย เพื่อปกป้องรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในช่วงการชุมนุมยืดเยื้อของ กปปส. เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2557 อันมีส่วนนำไปสู่ –> รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ของ คสช.

เป็นต้น

ประเด็นที่สอง เรื่องงบประมาณ

การธำรงรักษากองทัพแห่งชาติสมัยใหม่ที่มีกำลังพลหลายแสนคนไว้ในลักษณะประจำการตลอดเวลา คือยามสงบก็ฝึกอบรมซ้อมรบเตรียมความพร้อมในกรมกองที่มั่น ยามศึกก็ออกรบทำสงคราม โดยรัฐรับผิดชอบดูแลบำรุงเลี้ยงจ่ายเบี้ยหวัดเงินเดือนสวัสดิการบำเหน็จบำนาญและจัดหาปัจจัยสี่มาสนองอย่างครบครัน ไม่ต้องพะวักพะวนไปเสียเวลาทำมาหากินประกอบอาชีพทางเศรษฐกิจเลี้ยงตัวเองแต่อย่างใดนั้น (ต่างจากยุคก่อนรัฐชาติในอดีตที่กองทัพมีลักษณะเป็นกองกำลังส่วนตัวขนาดย่อมตามวังของเจ้านายขุนนาง จะกะเกณฑ์ระดมพลขนานใหญ่ก็แต่ในยามศึกเท่านั้น) ย่อมเป็นภาระงบประมาณค่าใช้จ่ายแก่รัฐไม่น้อย

ยิ่งอาวุธยุทโธปกรณ์ ซึ่งส่วนใหญ่และที่สำคัญและทันสมัยที่สุดนั้น ประเทศส่วนมากในโลกผลิตเองไม่ได้ เพราะไม่มีความพร้อมทางเทคโนโลยีและฐานอุตสาหกรรมในประเทศ ต้องสั่งซื้อจากประเทศที่พัฒนาแล้วซึ่งมีอุตสาหกรรมผลิตอาวุธส่งออกเพียงไม่กี่รายในโลก ก็ยิ่งทำให้เป็นภาระงบประมาณค่าใช้จ่ายในรูปเงินตราต่างประเทศที่หาเป็นรายได้เข้าประเทศมาได้ยากหนักหน่วงขึ้นไปอีกหลายเท่าตัว

ต้องไม่ลืมด้วยว่าเทคโนโลยีผลิตอาวุธไม่เคยหยุดนิ่งพอเพียง แต่วิ่งแข่งกันตลอดเวลา เช่น เครื่องบินรบอเมริกันก็จาก F-4 –> F-14 –> F-18 –> F-16 –> F-15 –> F-22 เป็นต้น

ดังนั้น ประเทศเราซื้ออาวุธรุ่นนี้มาไม่ทันไร รุ่นถัดไปใหม่กว่าดีกว่าอานุภาพร้ายกาจกว่าก็ออกมายั่วใจแล้ว

มิหนำซ้ำ ประเทศเพื่อนบ้าน (ซึ่งอาจกลายเป็นคู่แข่งหรือกระทั่งคู่ต่อสู้ได้หากสถานการณ์เปลี่ยนไป) ก็ดันซื้อไอ้รุ่นถัดไปมาใช้เสียด้วย ทำให้เรามีแสนยานุภาพด้อยลงไปถนัดใจ จำเป็นที่เราจะต้องกัดฟันควักเนื้อลงทุนก้อนใหญ่กว่าเก่าเพื่อซื้อรุ่นใหม่ให้ทันกันหรือกระทั่งใหม่กว่าขึ้นไปอีก

และแน่นอน ประเทศเพื่อนบ้าน (คู่แข่ง/คู่ต่อสู้) ของเราก็คิดและทำด้วยตรรกะอย่างเดียวกัน ทำให้เกิดการแข่งขันกันซื้ออาวุธวังวนเป็น loop ไปไม่รู้จบ โดยกลุ่มทุนอุตสาหกรรมผลิตอาวุธต่างชาติยิ้มป้อเร่ขายให้ลูกค้าทุกประเทศทุกฝ่ายสบายใจรวยไม่รู้เรื่องลูกเดียว

งบประมาณที่พอเพียงสำหรับบำรุงเลี้ยงกองทัพประจำการไว้ (เพื่อที่จะไม่รบเป็นดีที่สุด แต่ถ้าจำเป็นก็พร้อมจะรบ) และขยับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สำหรับสั่งซื้ออาวุธนำเข้าเพื่อไล่กวดให้ทันเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดและแสนยานุภาพอาวุธของเพื่อนบ้านนานาประเทศ จึงเป็นเรื่องสำคัญแก่กองทัพในการธำรงตนให้อยู่ในสถานะพร้อมรบและอาจชนะได้หากต้องรบ หากไม่ได้มามากพอ (สำหรับเป็นเชื้อเพลิงออกวิ่งในเกมแข่งขันที่ลู่ทอดเป็นวงวนไปไม่รู้จบ) ก็ย่อมทำให้กองทัพรู้สึกอึดอัดขัดข้องและไม่มั่นคงมั่นใจในการบรรลุภารกิจของตนเป็นธรรมดา

จะเห็นได้ว่ามีปฏิทรรศน์ (paradox) ที่ย้อนแย้งกันอยู่ 2 ประการในปมเงื่อนเรื่องความจำเป็นด้านงบประมาณของกองทัพที่มีต่อสังคม กล่าวคือ

1) ในทางเศรษฐกิจ กองทัพจำเป็นต้องมีงบประมาณอย่างพอเพียง เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสั่งซื้อนำเข้าอาวุธยุทโธปกรณ์สมัยใหม่ที่เมื่อมองในแง่เทคโนโลยีและในแง่การแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน/คู่แข่งขัน/คู่ต่อสู้แล้ว ไม่มีวันเพียงพอ

2) ในทางการเมือง กองทัพอันเป็นสถาบันหลักและสถาบันสุดท้ายในการค้ำประกันเอกราชและอิสรภาพของรัฐชาติ กลับมีสายใยเชื่อมโยงอันจำเป็นทางเทคโนโลยีและวัสดุอุปกรณ์ที่พึ่งพาอาศัยอุตสาหกรรมผลิตอาวุธของต่างชาติ

สําหรับประเด็นสุดท้ายเรื่อง client หรือลูกค้า/ผู้รับบริการของกองทัพ

ประการสุดท้ายที่กองทัพเรียกร้องต้องการจากสังคม นอกจากสิทธิอำนาจในการผูกขาดอาวุธสงครามและงบประมาณที่พอเพียงแล้ว ก็คือการกำหนดนิยามอย่างแจ่มชัดทางการเมืองว่าผู้ใดหรือสถาบันใดเป็นลูกค้า/ผู้รับบริการตัวจริงที่กองทัพมีหน้าที่ต้องตอบสนองรับใช้ในที่สุดกันแน่

เป็นประเทศชาติ, หรือประชาชน, หรือรัฐธรรมนูญ, หรือรัฐบาล, หรือรัฐสภา, หรือพรรคการเมือง, หรือผู้นำรัฐ, หรือกลุ่มชาติพันธุ์, หรือกลุ่มศาสนา, หรือกลุ่มอุดมการณ์, ฯลฯ

เมื่อใดที่กำหนดนิยาม client ในสังคมโดดเด่นแน่ชัดเป็นเอกภาพหนึ่งเดียว กองทัพก็จะแจ่มแจ้งมั่นคงในหน้าที่และจุดยืนของตน

แต่เมื่อใดที่กำหนดนิยาม client ในสังคมเริ่มสับสน คลุมเครือ รางเลือน หลากหลายออกไป ก็จะเกิดปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับการเมืองตามมา

ตัวอย่างในอดีต ก็เช่น :-

– คำกล่าวของนายกฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีที่สะท้อนเรื่องนี้เมื่อเมษายน พ.ศ.2485 ว่า :

“ญี่ปุ่นก็มีเครื่องยึดมั่นอยู่ คือ พระเจ้าแผ่นดินของเขา เขาถือว่ามาจากพระอาทิตย์ ยึดมั่นยอมเป็นยอมตายทีเดียว ของเราไม่มีอะไรเป็นเครื่องยึดแน่นอน ที่มีอยู่ก็คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ ชาติก็ไม่มีตัวตน ศาสนาก็ไม่ทำให้คนเลื่อมใสถึงยึดแน่น พระมหากษัตริย์ก็ยังเป็นเด็ก เห็นแต่รูป รัฐธรรมนูญก็เป็นสมุดหนังสือ จะยกอย่างไรก็ไม่ไหว ทุกๆ อย่างลอยหมด เวลาบ้านเมืองคับขันจะเอาหลักอะไรเป็นเครื่องยึดไม่ได้ ผมจึงให้ตามนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่กำเริบเสิบสาน แต่คิดว่าพอมีตัวตนอยู่บ้าง เมื่อเปลี่ยนก็เอาใหม่ไป” (http://www.tu.ac.th/org/rscampus/tu/news/news49.pdf)

– หรือในทางกลับกัน คำบรรยายพิเศษของ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ แก่นักเรียนนายร้อยชั้นปีที่ 1-4 และข้าราชการโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ณ หอประชุม รร.จปร. ต.พรหมณี อ.เมือง จ.นครนายก เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ.2549 ความตอนหนึ่งว่า :-

“แต่คนที่เป็นทหารม้าจะรู้เรื่องม้าดี เรื่องการแข่งม้า การแข่งม้า ม้าจะมีคอก มีเจ้าของคอก คอกหนึ่งมีม้าหลายตัว 5 ตัว 10 ตัว 20 ตัว ก็ได้ เจ้าของคอกก็เป็นเจ้าของม้า เวลาจะไปแข่งเขาก็ไปเอาเด็กที่เรียกว่าจ๊อกกี้ หรือเด็กขี่ม้าไปจ้างให้เขามาขี่ม้า เขาก็จะขี่ม้า พอเสร็จจากการขี่ม้า เขาก็กลับไปทำงานอย่างอื่น วันนี้เขาขี่ม้าคอกนี้ พรุ่งนี้เขาขี่ม้าอีกคอกหนึ่ง เขาไม่ได้เป็นเจ้าของม้าหรอก เขาเป็นคนขี่

“รัฐบาลก็เหมือนกับจ๊อกกี้ คือ เข้ามาดูแลทหาร แต่ไม่ใช่เจ้าของทหาร เจ้าของทหาร คือ ชาติและพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัฐบาลเข้ามาดูแลกำหนดใช้พวกเราตามที่ประกาศนโยบายไว้ต่อรัฐสภา เด็กขี่ม้าบางคนก็ขี่ดีขี่เก่ง บางคนก็ขี่ไม่ดี ขี่ไม่เก่ง รัฐบาลก็เหมือนกัน รัฐบาลบางรัฐบาลก็ทำงานดี ทำงานเก่ง บางรัฐบาลก็ทำงานไม่ดี หรือไม่เก่งก็มี นี่เป็นเรื่องจริง

“ที่พูดให้นักเรียนเข้าใจว่า เราต้องถือว่าเราเป็นทหารของชาติ เป็นทหารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่รัฐบาลเข้ามาดูแลในเรื่องอื่นๆ กับพวกเรา เรื่องใหญ่ที่ทหารกำลังทำอยู่ เช่น นโยบายการป้องกันประเทศ นโยบายความมั่นคงเป็นเรื่องใหญ่ ต้องวางนโยบายเป็นเวลา 10 ปี หรือ 20 ปี

“ฉะนั้น รัฐบาลเข้ามาอยู่ 4 ปี ก็จะต้องดำเนินการตามนโยบายของกระทรวงกลาโหม หรือ สภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้กำหนดขึ้น มันยากที่จะมาเปลี่ยนแปลงสิ่งเหล่านั้น เรื่องนี้จำเป็นจะต้องทำความเข้าใจกันให้เห็น ให้ถ่องแท้ว่าทหารอยู่ตรงไหน รัฐบาลอยู่ตรงไหน เจ้าของทหารอยู่ตรงไหน

“ที่ยกมาพูดไม่ได้ต้องการให้พวกเราเข้าใจไขว้เขว หรือรู้สึกไม่ดีต่อรัฐบาล ผมก็เคยเป็นรัฐบาลมา เพียงแต่ต้องการให้แยก แยะให้ออก ไม่ใช่โต้เถียงหรือไม่ใช่ดื้อดึง แต่อยากให้เข้าใจว่าเราอยู่ตรงไหน เราเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของ รมว.กลาโหม แน่นอนเราต้องมีระเบียบแบบแผน

“แต่ที่พูดอยากให้เข้าใจว่า เราต้องถือว่าเราเป็นทหารของชาติ รัฐบาลเข้ามาแล้วก็ไป นั่นไม่ใช่เรื่องที่เรากำลังพูดถึงกันอยู่

“ขอย้ำว่า การพูดนี้เพื่อให้นักเรียนเข้าใจ ไม่ใช่พูดให้ต่อต้านหรือดื้อดึงหรือทำตัวไม่ดีต่อรัฐบาล ไม่ใช่อย่างนั้น ต้องทำตัวดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลของใครก็ตาม แต่ต้องเข้าใจว่าเราเป็นทหารของชาติ เราเป็นทหารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และจะเป็นอยู่อย่างนั้นโดยตลอดชีวิต” (http://www.parliament.go.th/news/news_detail.php?prid=18448)

(ยังมีต่อ)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image