คำถาม-คำตอบ โดย ปราปต์ บุนปาน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา(แฟ้มภาพ)

คำถาม 6 ข้อ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ฝากไปยังประชาชน (อันเป็น “ภาคต่อ” จากคำถาม 4 ข้อ เมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา) นั้นเต็มไปด้วยแง่มุมน่าสนใจ

ที่แฝงไว้ด้วยความไม่เชื่อมั่น-ไม่ไว้วางใจในนักการเมืองและพรรคการเมืองหน้าเดิม

การพยายามเปรียบเทียบระหว่าง “จุดเด่น” ของ คสช. และ “จุดด้อย” ของนักการเมืองจากการเลือกตั้ง

รวมถึงการหยั่งเชิงสำรวจความนิยมที่ประชาชนมีต่อรัฐบาลทหาร, การบ่งบอกเป็นนัยถึง “ความสำเร็จ” ของรัฐประหารปี 2557 และความเป็นไปได้ที่ คสช. อาจจะเลือกสนับสนุนพรรคการเมืองบางพรรค ในการเลือกตั้งทั่วไปหนหน้า

Advertisement

ไม่เพียงแต่เนื้อหาของคำถาม 6 ข้อจะน่าสนใจ

ทว่า ปฏิกิริยาเบื้องต้นที่มีต่อคำถามของนายกฯ ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน

ไม่ต้องมองไปถึงกลุ่มคนที่เป็น “คู่ตรงข้าม” ของ คสช. เด่นชัด

Advertisement

เพราะแค่ลองฟังเสียงของหัวหน้าพรรคการเมืองที่มิได้มีภาพขัดแย้งกับกองทัพอย่างชัดเจน เราก็จะได้พบ “ความเห็นต่าง” ตลอดจน “คำถามอื่นๆ” ที่สะท้อนกลับไปยังคำถาม 6 ข้อ ของนายกรัฐมนตรี

เช่น “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่นอกจากจะเห็นว่าการตั้งคำถามลักษณะนี้ ก่อให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่าง คสช. กับนักการเมือง หรือเป็นการที่ คสช. ดึงตัวเองเข้ามาเป็นคู่กรณีในความขัดแย้งแล้ว

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ยังฝากคำถามไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ หลายข้อ ทั้งการขอให้ระบุว่านักการเมืองที่ออกมาเคลื่อนไหว ด้วยการบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อด้อยค่า รัฐบาล คสช. นั้นหมายถึงใครบ้าง?

ทำไมรัฐบาลต้องเหมารวมว่าการวิจารณ์ต่างๆ เป็นการกระทำเพื่อด้อยค่า คสช.?

นอกจากนี้ ข้อสังเกตอีกประการของนายอภิสิทธิ์ที่อาจนำมาแปรเป็นคำถามได้ ก็คือ หากการสนับสนุนพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งของ คสช. เป็นการกระทำที่อิงการใช้อำนาจรัฐ นั่นจะถือเป็นเรื่องขัดกับหลักธรรมาภิบาลหรือไม่?

คล้ายกันกับความเห็นของ “อนุทิน ชาญวีรกูล” หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ซึ่งหากมองเผินๆ อาจดูเป็นการตอบโต้คำถาม 6 ข้อ จากนายกรัฐมนตรี อย่างดุเดือดพอสมควร

แต่ในการตอบโต้ก็แฝงไว้ด้วยคำถามชวนคิดอย่างน้อยๆ 2-3 ข้อ ได้แก่ คสช. มั่นใจแค่ไหน ว่าตนเองไม่ได้กระทำในสิ่งที่ตนกำลังดูแคลนอีกฝ่ายหนึ่งอยู่?

คสช. พร้อมจะยอมรับได้หรือไม่ หากมีผู้แสดงความเห็นดูถูกหรือรังเกียจคนที่ไม่ได้เข้ามาบริหารบ้านเมืองตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย? (เช่นเดียวกันกับที่มีการดูถูกและรังเกียจฝั่งนักการเมือง)

และหากผลลัพธ์ทางการเมือง ณ ขั้นท้ายสุด ไม่เป็นไปตามที่ตนเองคาดหวังเอาไว้ คสช. พร้อมจะกล้าแอ่นอกรับผิดชอบหรือไม่?

เหล่านี้ คือ ตัวอย่าง “คำถาม” ที่สะท้อนกลับไปยัง “คำถาม 6 ข้อ” ของ พล.อ.ประยุทธ์

ส่วน “คำถาม” ของประชาชนอีกหลายสิบล้านคน และ “คำตอบ” ที่พวกเขาจะมอบให้นายกรัฐมนตรี รัฐบาล และ คสช. นั้น คงไม่สามารถพึ่งพากลไกการรับฟังความคิดเห็นของกระทรวงมหาดไทยและศูนย์ดำรงธรรมเพียงองค์ประกอบเดียวได้

แต่คงเป็นดังที่หลายคนเสนอความคิดเอาไว้บ้างแล้วว่า คสช. จะได้รับทราบ “คำตอบ” ที่มีต่อคำถามของตน และได้ตระหนักรับรู้ถึง “คำถาม” หรือข้อสงสัยอื่นๆ ที่ประชาชนมีต่อ คสช. อย่างชัดเจนกระจ่างแจ้งจริงๆ

ก็ต่อเมื่อมีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้น โดยปราศจากความไม่เชื่อมั่นหรือความหวาดกลัวใดๆ

เหมือนกับที่คำถาม 6 ข้อของนายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ลงท้ายด้วยข้อความว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยทั้งประเทศ อยากให้ทุกคนที่เป็นคนไทยได้เป็นผู้พิจารณาตัดสินใจ”

………………….

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image