สุจิตต์ วงษ์เทศ : คุณค่าวัดพญากง อยุธยา กรมศิลป์รู้เกือบ 50 ปีแล้ว

(ซ้าย) พระเศียรพระพุทธรูปศิลาขาวจากวัดพญากง กรมศิลปากรติดตามกลับคืนมา เมื่อเดือนมิถุนายน 2501 (ขวา) ชิ้นส่วนต่างๆ ของพระพุทธรูปศิลาขาวในวัดพญากง ถูกทำลายก่อนกรมศิลปากรนำมาเก็บรักษา (ภาพและคำอธิบายจากหนังสือพระพุทธรูปศิลาขาว สมัยทวารวดี กรมศิลปากรพิมพ์แจกครั้งแรก พ.ศ. 2510)

วัดพญากง อยุธยา ควรได้รับการดูแลรักษาอย่างเร่งด่วนเป็นพิเศษมานานแล้ว โดยไม่ต้องรอคำร้องขอจากสาธารณชน
เพราะกรมศิลปากร ตระหนักในความสำคัญของวัดนี้เกือบ 50 ปีแล้ว จากกรณีพระพุทธรูปศิลาขาว สมัยทวารวดี นั่งห้อยพระบาท
นายธนิต อยู่โพธิ์ (อดีตอธิบดีกรมศิลปากร) เขียนบอกไว้เองในหนังสือชื่อ พระพุทธรูปศิลาขาว สมัยทวารวดี กรมศิลปากรพิมพ์แจก พ.ศ. 2510
จึงไม่ควรอ้างอย่างที่มักอ้างตามประเพณี ว่าไม่มีคน ไม่มีเงินงบฯ และต้องทำตามคิว ฯลฯ
ยังมีพยานอีกราว 50 ปีมาแล้ว น. ณ ปากน้ำ (นักปราชญ์สยาม) เคยบุกป่าฝ่าดงกลางซากอิฐปูนที่อยุธยาลงไปสำรวจที่วัดพญากง ราว พ.ศ. 2509-2510 เขียนบันทึกว่าสิ่งที่เหลือซากล้วนมีความสำคัญ
[ดูในหนังสือ ห้าเดือน กลางซากอิฐปูนที่อยุธยา ของ น. ณ ปากน้ำ (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2510) สำนักพิมพ์เมืองโบราณ พิมพ์ครั้งที่สี่ พ.ศ. 2558 หน้า 376-377]
จะสรุปมาให้อ่านง่ายๆ ดังนี้
พระพุทธรูปหินทรายขาว เศียรขาด ปางมารวิชัย ขนาดใหญ่จำนวนมากมาย พระพักตร์กลม พระหนุป้านใหญ่แบบอยุธยาตอนต้น หรืออาจจะเก่ากว่านั้น เศียรที่พบชำรุดขนาดหนัก ถ้ายังดีอยู่ต้องถูกขนไปขายนักค้าของเก่าเสียแล้ว
มีซากเจดีย์ก่อฐานสี่เหลี่ยมซ้อนขึ้นไปสามชั้น ข้างบนพังทลายลงมา เข้าใจว่าจะเป็นเจดีย์รูปแบบเดียวกับเจดีย์สมัยลพบุรี หรืออาจจะเป็นเจดีย์รุ่นทวารวดีก็ได้ เพราะเป็นซากเก่าแก่มาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image