บทบาทหน้าที่ คณะกรรมการหมู่บ้าน ต่อประเทศ : โดย ผดุง จิตเจือจุน

คณะกรรมการหมู่บ้าน หรือตัวย่อ “กม.” จัดตั้งขึ้นโดย พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 11) พ.ศ.2551 ม.28 ตรี เกี่ยวกับโครงสร้างอำนาจหน้าที่ของ กม. กรรมการแต่ละคนที่ได้รับเลือกตั้งจากหมู่บ้านเข้ามาเป็น กม. ล้วนมีความรู้ความสามารถพร้อมจะทำงานให้กับหมู่บ้าน

จะว่าไปแล้ว กม.เป็นเครื่องมืออย่างดีที่มีวิเศษ สามารถช่วยทำงานให้กับผู้ใหญ่บ้าน เช่น ช่วยเหลือให้คำแนะนำปรึกษา ทำงานตามที่ผู้ใหญ่บ้านร้องขอ ช่วยจัดทำแผนงานเพื่อดึงงบประมาณมาพัฒนาหมู่บ้านและงานด้านอื่นๆ เป็นต้น

เคยมีประกาศคำขวัญในวัน กม.ว่า “ประเทศต้องมีรัฐบาล หมู่บ้านต้องมี กม.” เท่ากับรัฐบาลยกย่องให้ความสำคัญกับ กม. กม.ใน 75,000 หมู่บ้าน จะทำให้หมู่บ้านเข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ ประเทศจะมีรากฐานที่แข็งแกร่งและเป็นพลังมหาศาลในการพัฒนาประเทศ

กม.มีหน้าที่รับผิดชอบมากมายหลายด้าน เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพ กม.จึงได้แบ่งหน้าที่เป็น 6 คณะทำงาน ได้แก่ 1) ด้านอำนวยการ 2) ด้านการปกครองรักษาความสงบเรียบร้อย 3) ด้านแผนพัฒนา 4) ด้านส่งเสริมเศรษฐกิจ 5) ด้านสังคม สิ่งแวดล้อมและสาธารณสุข และ 6) ด้านการศึกษาศาสนา และวัฒนธรรม เพื่อรองรับปัญหาต่างๆ อันเกิดขึ้นในหมู่บ้านให้ได้รับการแก้ไข

Advertisement

คณะทำงานทั้ง 6 คณะนี้ ต่างเก็บข้อมูลในงานแต่ละด้านของตนอย่างละเอียดสมบูรณ์ พร้อมจะนำมาใช้ในการจัดทำแผนพัฒนาให้หมู่บ้าน ข้อมูลของหมู่บ้าน จะประกอบด้วย ข้อมูล พื้นที่อาณาเขตของหมู่บ้าน ลักษณะท้องที่ จำนวนครัวเรือน จำนวนประชากร จำนวนผู้สูงอายุ คนพิการ แยกเป็นหญิงชายและเด็กด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านอาชีพ ด้านผู้ว่างงาน ด้านการศึกษา ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ด้านสาธารณสุข ด้านสังคม ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านกลุ่มองค์กรชุมชนและเครือข่ายองค์กรชุมชน ด้านปัญหาที่สำคัญของหมู่บ้าน เป็นต้น

ที่สำคัญ ข้อมูลรายได้ฉลี่ยของประชาชนในหมู่บ้านมีรายได้เท่าไรต่อคนต่อปี ข้อมูลเหล่านี้ช่วย กม.รู้จำนวนคนฐานะยากจนที่แท้จริง แม้รัฐบาลจะจ้างนักศึกษาออกพื้นที่ มาตรวจสอบคนที่ยื่นขอจดทะเบียนเป็นคนจน อาจจะได้ข้อมูล ขาดรายละเอียด หรืออาจไม่ถูกต้องหรือบิดเบือน เพราะนักศึกษาเป็นคนนอกพื้นที่ ไม่สามารถรู้ข้อเท็จจริงคนในหมู่บ้าน ได้ดีเท่ากับ กม.ที่อยู่ในพื้นที่

ถ้าหากจะมีการขึ้นทะเบียนคนจนอีกในรอบต่อไป น่าจะให้ กม.ทำหน้าที่คัดกรองส่งรายชื่อคนจนให้ทางอำเภอ ซึ่งจะได้ข้อมูลที่ตรงกับความเป็นจริง ย่อมจะดีกว่าการให้คนไปขึ้นทะเบียนคนจนโดยไม่ผ่านการคัดกรองของ กม.ก่อน

หากทางอำเภอต้องการรายละเอียดของข้อมูลของหมู่บ้านในทุกด้าน กม.ในแต่ละหมู่บ้าน พร้อมจัดพิมพ์ส่งไปให้ทางอำเภอได้ทันที

นอกจากนี้แล้ว กม.ยังมีบทบาทหน้าที่ในการประสานดำเนินงานในโครงการของรัฐบาล เช่น โครงการยกระดับศักยภาพหมู่บ้านเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ และกองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า

กม.สามารถจัดทำรายละเอียดโครงการตามต้องการของคนในหมู่บ้านที่ผ่านมติเวทีประชาคมแล้วจะช่วยให้โครงการต่างๆ ของรัฐดำเนินการไปตามนโยบายและเป้าหมาย สมเจตนารมณ์ของรัฐทุกประการ เม็ดเงินในโครงการจะถูกนำมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่มีการคอร์รัปชั่น จะไม่เป็นเบี้ยหัวแตกหรือตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ

อย่างไรก็ตาม กม.จะเข้มแข็งได้ต้องมีการประชุมเป็นเนืองนิตย์ (อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง) เพื่อเป็นการซักซ้อม ปรึกษาวางแผนแนวทางในการจัดทำแผนเพื่อของบประมาณมาพัฒนาหมู่บ้านและหารือในการแก้ปัญหาสำคัญเร่งด่วนภายในหมู่บ้านร่วมกับคนในหมู่บ้าน

หาก กม.ไม่มีการเรียกกรรมการมาประชุม งานในบทบาทและหน้าที่ของ กม.ก็ไม่สามารถขับเคลื่อนได้ตามวัตถุประสงค์ งานในคณะทำงานด้านต่างๆ ของ กม.ก็จะหยุดนิ่ง หมู่บ้านก็ขาดการพัฒนาปัญหาต่างๆ ก็ไม่ได้รับการแก้ไข

อนึ่ง กม.จัดตั้งขึ้นโดย พ.ร.บ. แต่รัฐไม่ได้มีงบประมาณมาสนับสนุนงานของ กม. แต่ให้ กม.สามารถจัดตั้ง “กองทุนพัฒนาหมู่บ้าน” แหล่งที่มาของเงิน “กองทุนพัฒนาหมู่บ้าน” จะได้มาจากเงินอุดหนุนจากส่วนราชการ เงินและทรัพย์สินที่คนอุทิศ รายได้จากการจัดกิจกรรม เป็นต้น ซึ่งเงินที่ได้มานี้จะนำมาใช้จ่ายในการจัดกิจกรรมสาธารณประโยชน์และค่าใช้จ่ายการทำงานของ กม.

ขณะนี้เงินกองทุนพัฒนาหมู่บ้านยังรอรับการอุปถัมภ์ หากเป็นไปได้ในฐานะที่ กม.ได้มีส่วนช่วยสร้างความเจริญในท้องถิ่นให้กับ อบต. ก็อยากให้ อบต.ช่วยอุดหนุนงบประมาณให้กับ กม.ด้วย

ผดุง จิตเจือจุน
วุฒิอาสาธนาคารสมองจังหวัดสมุทรปราการ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image