สุจิตต์ วงษ์เทศ : ชุมชนเมืองเก่าสุด ก่อนมีเมืองบางกอก

สุจิตต์ วงษ์เทศ

กรุงเทพฯ พื้นที่หัวแหวนเก่าแก่สุด ก่อน พ.ศ.2000 (ราวยุคต้นอยุธยา) เป็นชุมชนระดับเมือง ยาวต่อเนื่อง (3 บาง) ตั้งแต่บางระมาด, บางเชือกหนัง, บางจาก

มีหมู่บ้านและวัดวาอารามกระจายทั้งสองฝั่งคลองบางกอกน้อย-คลองชักพระ-คลองบางกอกใหญ่ ซึ่งเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาสายเดิม มีแนวไหลคดโค้งรูปเกือกม้า

ชุมชนเมืองดั้งเดิมย่านนี้ น่าเชื่อว่าเป็นตลาดชุมทางแม่น้ำลำคลองก่อนขึ้นไปพระนครศรีอยุธยา

[ทำนองเดียวกับเมืองบางกอก (วังเดิม) ที่จะมีในช่วงเวลาต่อไปข้างหน้า]

Advertisement

เพราะมีคลองสาขาหลายสาย แยกไปเชื่อมชุมชนถึงแม่น้ำท่าจีนและต่อเนื่องทางทิศตะวันตกและตะวันตกเฉียงใต้ เช่น คลองด่าน, คลองบางจาก, คลองบางเชือกหนัง, คลองบางระมาด, คลองบางพรม เป็นต้น

ขณะนั้นยังไม่มีเมืองบางกอก (วังเดิม) เพราะยังไม่มีแม่น้ำเจ้าพระยาสายใหม่ (ที่สืบถึงปัจจุบัน) ไหลผ่านตั้งแต่โรงพยาบาลศิริราช (ปากคลองบางกอกน้อย) ถึงพระราชวังเดิม (ปากคลองบางกอกใหญ่) ดังนั้น พื้นที่ฝั่งศิริราชกับฝั่งท่าพระจันทร์ เป็นแผ่นดินเรือกสวนผืนเดียวกัน โดยยังไม่แยกเป็นฝั่งธนบุรีกับฝั่งกรุงเทพฯ

ความเก่าแก่ก่อนเมืองบางกอก

หลักฐานแสดงความเก่าแก่ของชุมชนดั้งเดิมบริเวณนี้ มีทั้งวรรณกรรม คือ กำสรวลสมุทร และศิลปกรรม คือ พระพุทธรูป

Advertisement

มีครูบาอาจารย์นักปราชญ์ศึกษาค้นคว้าแล้วอธิบายไว้ก่อนมากมาย ได้แก่ ม.จ.จันทร์จิรายุวัฒน์ รัชนี (พ.ณ ประมวญมารค), มานิต วัลลิโภดม, น. ณ ปากน้ำ, ศรีศักร วัลลิโภดม ฯลฯ ผมอ่านจากเอกสารเหล่านั้น แล้วสรุปมาดังนี้

1.กำสรวลสมุทร หนังสือกำสรวลสมุทรเป็นหนังสือพระราชนิพนธ์ของเจ้านายยุคต้นอยุธยา เมื่อเรือน พ.ศ.2000 แต่งด้วยโคลงดั้น

[แต่เคยเข้าใจผิดว่าแต่งโดยกวีสามัญชนชื่อศรีปราชญ์ จึงพากันเรียกผิดว่า กำสรวลศรีปราชญ์]

เนื้อหาหลักเป็นบทสั่งเสียสั่งลาคนรัก แล้วพาดพิงชื่อบ้านนามเมืองที่นั่งเรือผ่านลงไปตามแม่น้ำตั้งแต่อยุธยาออกอ่าวไทย เมื่อผ่านโค้งเกือกม้าของแม่น้ำสายเดิม ได้พรรณนาถึงบางระมาด, บางเชือกหนัง, บางจาก (ก่อนนั่งเรือเลี้ยวขวาไปทางคลองด่าน)

บางระมาด หมายถึง บางแรด เป็นหลักแหล่งของแรด (ระมาด เป็นภาษาเขมร แปลว่า แรด) แต่อาจมีความหมายอื่นที่ยังไม่รู้ก็ได้

บางเชือกหนัง กลายคำจากภาษาเขมรว่า บางฉนัง หมายถึง บางหม้อ หรือบางปั้นหม้อ (ฉนัง เป็นภาษาเขมร แปลว่า หม้อ ปั้นด้วยดินเหนียวแล้วเผาไฟให้สุกแกร่ง)

บางจาก หมายถึง บริเวณมีป่าจาก (ใบจากใช้มุงหลังคาเรือน, ห่อขนม, มวนยาสูบ ฯลฯ มีผลกินได้เรียก ลูกจาก)

กำสรวลสมุทร ให้ความสำคัญอย่างยิ่งบริเวณที่เรียก บางเชือกหนัง ต่อเนื่องยาวถึงบางจาก จึงพรรณนาด้วยโคลงดั้นต่อเนื่อง 3 บท เน้นมีของขายได้แก่ ขนม, มะพร้าว, หมากสุก

“ขนมทิพย์” ชาวบ้านย่านนั้นทำใส่หม้อแล้ววางขาย

“หมากสุก” สดๆ ใหม่ๆ ปลิดจากทะลายต้นหมากแล้วแม่ค้าใช้มือบิดปลิดลูกหมากเดี๋ยวนั้น

[ในโคลงดั้นบทนี้ใช้คำว่า “ล้าวล้าว” เป็นคำยังตกค้างในลาวและอีสาน หมายถึง กิริยารวบเข้าด้วยกัน แล้วดึงหรือถอน]

2.พระพุทธรูป พระพุทธรูปทองสำริด เรือน พ.ศ.2000 (ตรงกับยุคต้นอยุธยา) เดิมเป็นพระพุทธรูปประธานในโบสถ์วัดศาลาสี่หน้า (วัดคูหาสวรรค์) คลองบางกอกใหญ่

[ร.1 โปรดให้เชิญไปเป็นพระประธานในโบสถ์วัดพระเชตุพน (วัดโพธิ์ท่าเตียน) ตราบจนทุกวันนี้]

เป็นหลักฐานว่าชุมชนนี้ตั้งแต่ยุคต้นอยุธยา ผู้มีอำนาจระดับเจ้าเมือง เป็นผู้มีทรัพย์มั่งคั่ง และมีบริวารบ่าวไพร่คับคั่ง จึงมีผู้รู้เทคโนโลยีขั้นสูงสามารถหล่อทองสำริดเป็นพระพุทธรูปใหญ่ได้งามสมบูรณ์ยิ่ง

นอกจากนั้นยังพบพระพุทธรูปหินทราย ลักษณะศิลปกรรมแบบยุคต้นอยุธยา มีเกลื่อนกลาดทั่วไปในวัดที่ยังสืบเนื่องและวัดร้างทั่วย่านนี้

[มีในงานวิจัยของ ประภัสสร์ ชูวิเชียร (คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร) เรื่อง “หลักฐานศิลปกรรมอยุธยาที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล” พ.ศ.2557]

เมืองบางกอกมีสมัยหลัง

เมืองบางกอก อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา (สายใหม่) มีขึ้นจากขุดคลองลัดบางจาก เมื่อเรือน พ.ศ.2100 ทำให้น้ำไหลตรงลงคลองลัดจนขยายกลายเป็นแม่น้ำ(ปัจจุบันตั้งแต่ ศิริราชถึงพระราชวังเดิม)

คลองลัดบางกอก หมายถึง บริเวณขุดคลองลัดที่แต่เดิมเรียกบางมะกอก มีคลองบางมะกอกหนาแน่นด้วยต้นมะกอกน้ำ ปากคลองอยู่บริเวณวัดมะกอก (ปัจจุบันคือวัดแจ้ง หรือวัดอรุณราชวราราม) แต่ภายหลังกร่อนเหลือบางกอก (ต้นทางชื่อ Bangkok) โดยไหลลงแม่น้ำเจ้าพระยาสายเดิมตรงโค้งบางหลวง (ปัจจุบันเป็นปากคลองบางกอกใหญ่)

นับแต่นั้น เมืองบางกอกทวีความสำคัญขึ้นแทนชุมชนย่านเมืองบางเชือกหนัง-บางจาก ขณะเดียวกันแม่น้ำสายเดิมก็ลดบทบาท แล้วค่อยๆ แคบกลายเป็นคลอง เรียกต่อมาว่า คลองบางกอกน้อย-คลองชักพระ-คลองบางกอกใหญ่

แต่ชุมชนเมืองยังหนาแน่นที่บางเชือกหนัง-บางจาก และปริมณฑล เพราะเป็นถิ่นฐานของคนดั้งเดิม และเครือญาติเจ้านายสมัยหลังๆ ดังเห็นจากมีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามในคลองเหล่านั้นสืบเนื่องมาจนถึงกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image