เบื้องลึก ความนัย สถานการณ์ “การเมือง” พฤศจิกายน 2560

อ่านเนื้อความในหนังสือ “ด่วนมาก” ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ส่งถึงหน่วยงานในสังกัดทุกระดับในวันที่ 14 พฤศจิกายน แล้วเข้าใจ

เข้าใจใน “ความตื่นตัว”

เนื่องจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพิ่งสั่งการผ่านที่ประชุม ครม.

จากการพบว่า “มีสถานการณ์เข้าสู่โหมดการเมือง”

Advertisement

เห็นได้จากปรากฏการณ์หลายเรื่อง มีการใส่ร้าย บิดเบือน การปล่อยข้อมูลข่าวสารเพื่อเป็นเท็จหรือความพยายามลดความน่าเชื่อถือของตัวบุคคลที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐในรูปแบบต่างๆ

คล้อยหลัง “คำสั่ง” นี้ ก็มีหนังสือด่วนมากของ “ตร.” ออกมา

ให้สืบสวนพฤติการณ์เชิงลึกเกี่ยวกับข้อมูล “แกนนำ” พร้อมเครือข่ายผู้ให้การสนับสนุนทางความคิด งบประมาณ รูปแบบการเคลื่อนไหวและจุดประสงค์ที่แท้จริงในการออกมาเคลื่อนไหวของแต่ละกลุ่ม

Advertisement

นี่แหละคือที่เรียกว่า “โหมดการเมือง”

ความเคยชินประการ 1 เมื่อเอ่ยถึง “โหมดการเมือง” ก็มักจะเห็นภาพพรรคเพื่อไทย ภาพ นปช.คนเสื้อแดงลอยเด่นขึ้นมาโดยอัตโนมัติ

นั่นเป็นสภาพเมื่อ 3 ปีก่อน

ไม่ว่าจะเป็น “ขันแดง” ที่ภาคเหนือ ไม่ว่าจะเป็น “ปฏิทิน” ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ล้วนถูกประกบ ล้วนถูกเกาะติด

แต่พอ “ล่วง” มาถึงเดือนพฤศจิกายน 2560

“โหมดการเมือง” เริ่มแปรเปลี่ยน สัมผัสได้จากการเชิญตัวแกนนำเกษตรกรชาวสวนยางที่ตรังเข้าค่ายรัษฎานุประดิษฐ์

ประสานกับการเชิญตัวเกษตรกรชาวสวนยางที่พัทลุงเข้าค่ายอภัยบริรักษ์

เห็นได้จากการออกโรงของอดีต ส.ส.อย่าง นายถาวร เสนเนียม จากสงขลา จาก นพ.สุกิต อัตโถปกรณ์ จากตรัง

นี่เป็น “ประชาธิปัตย์” มิใช่ “เพื่อไทย”

ความสลับซับซ้อนเพิ่มทวีขึ้นเมื่อเหตุผลในการปรับ ครม.มิได้มาจากการกดดันของปัจจัยภายนอก หากแต่มาจากปัจจัยภายใน

นั่นก็คือ การลาออกของ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล

จากนั้นก็ตามมาด้วยสัญญาณจากการสำรวจความเห็นของประชาชนจากโพล “มืออาชีพ” ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพโพลล์ สวนดุสิตโพล หรือแม้กระทั่งนิด้าโพล

เน้นให้ปรับ ครม.กระทรวง “เศรษฐกิจ”

แต่ทำไมเมื่อสำรวจรายชื่อจากที่ปรากฏในกระแสทางสังคมกลับมีชื่อ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ และตามมาด้วย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รวมทั้ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

เท่ากับเป็นการ “ด้อยค่า” คนของ “คสช.”

ยิ่งเมื่อนักการเมืองอย่าง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และ นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึง 6 คำถามโดยมีเป้าหมายไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และหัวหน้ารัฐบาล

ยิ่งทำให้ “โหมดการเมือง” ทวีความร้อนแรง

สถานการณ์ทางการเมืองในเดือนพฤศจิกายน 2560 จึงแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับสถานการณ์ 1 ปีแรกหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

เวลาเพียง 3 ปี แปรเปลี่ยนไปถึงระดับนี้ได้อย่างไร

ในเมื่อคนที่จะถูกเฝ้ามองมิใช่พรรคเพื่อไทย มิใช่ นปช.คนเสื้อแดง หากแต่เป็นพรรคประชาธิปัตย์ หากแต่เป็น กปปส.และเสียงโหวกเหวกอันมาจากพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

“โหมดการเมือง” แบบนี้ย่อมไม่น่าไว้วางใจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image