จิตสาธารณะ กรณีตูน บอดี้สแลม… : โดย เฉลิมพล พลมุข

ตูน บอดี้สแลม (BODYSLAM) ที่เป็นทั้งนักร้อง นักกีฬาที่มีชื่อเสียงของเมืองไทยเราในเวลานี้เป็นที่รู้จักกันดีของผู้คนในสังคมเนื่องด้วยเขาได้ใช้ศักยภาพ ความรู้ความสามารถที่มีอยู่นอกจากอาชีพของตนเองแล้ว ยังเผื่อแผ่สิ่งที่ตนมีและเพื่อนๆ มี ให้เป็นประโยชน์สาธารณะแก่สังคมเป็นที่รับรู้กันในวงกว้างถึงความมีน้ำใจที่ดีงาม

ภูมิหลังของเขาชื่อว่า นายอาทิวราห์ คงมาลัย อายุ 38 ปี สำเร็จการศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นชาวจังหวัดสุพรรณบุรี มีศักดิ์เป็นหลานของ แอ๊ด คาราบาว วงดนตรีเพื่อชีวิตที่มีชื่อเสียงมายาวนาน เคยทำงานเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน หลังจากนั้นได้เข้าประกวดดนตรี เวทีฮอตเวฟมิวสิกอวอร์ด ครั้งที่ 1 ในปี พ.ศ. 2539 ได้รับรางวัลชนะเลิศ และในปี พ.ศ.2545 ตูนได้สร้างวงใหม่ขึ้นมาชื่อว่าวงบอดี้สแลม…

นอกจากนั้นชีวิตของเขายังเป็นนักกีฬาได้เข้าร่วมแข่งขันเทเบิลเทนนิสชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย ในปี พ.ศ.2554-2555 และได้รับเชิญให้เป็นทูตกีฬาเทเบิลเทนนิส จากสมาคมเทเบิลเทนนิสแห่งไทย ขณะเดียวกันก็ได้รับเชิญจากสโมสรท็อตแนม ฮ็อตสเปอร์ส ทีมชั้นนำในศึกพรีเมียร์ลีกของประเทศอังกฤษอีกด้วย

ชีวิตของตูนนอกจากมีความโดดเด่นการศึกษาเล่าเรียน ดนตรี กีฬาแล้ว เรื่องราวของเขาถูกนำเสนอต่อสังคมกรณีที่เขาได้รับเชิญจากโรงพยาบาลบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ให้ร่วมวิ่งการกุศลเพื่อหาเงินจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ 70 ล้านบาท ในโครงการก้าวคนละก้าว 10 วัน 400 กิโลเมตร จากกรุงเทพมหานคร-โรงพยาบาลบางสะพาน ตั้งแต่วันที่ 1-10 ธันวาคม พ.ศ.2559 จนกระทั่งประสบผลสำเร็จด้วยดี

Advertisement

มาถึงในเวลานี้ตูน บอดี้สแลม ได้ต่อยอดเนื่องจากได้พบเห็นถึงสภาพของความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาลของรัฐที่มีอยู่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะโรงพยาบาลประจำอำเภอ หรือจังหวัดจะมีผู้ป่วย คนไข้รวมถึงญาติที่ต้องไปรอพบแพทย์ พยาบาลในการรักษาความเจ็บป่วยของตนโดยใช้เวลาที่ยาวนาน การพบแพทย์ในการตรวจวินิจฉัยโรคใช้เวลาเพียงน้อยนิด บางรายที่ต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลก็มีความแออัดที่มีผู้ป่วยจำนวนมาก อีกทั้งอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ที่จะช่วยในการรักษาของบางแห่งมีความไม่พร้อมอันเนื่องมาจากการบริหารจัดการในภาพรวม…

ตูนและเพื่อนๆ จึงได้จัดโครงการ “ก้าวคนละก้าว” เพื่อซื้ออุปกรณ์การแพทย์ให้ 11 โรงพยาบาล โดยวิ่งจาก อ.เบตง จ.ยะลา ถึง อ.แม่สาย จ.เชียงราย ระยะทาง 2,191 กิโลเมตร 55 วัน โดยเริ่มวิ่งในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 ในการวิ่งในครั้งนี้ตูนถึงกับพูดว่า “ผมอยากได้เงิน 10 บาท จากคนไทยทุกคน 10 บาท อาจซื้ออะไรไม่ได้มาก แต่ถ้าเอากองรวมกัน เงิน 10 บาท จะสามารถช่วยได้เป็นพันเป็นหมื่นชีวิต…” สำหรับการวิ่งการกุศลมาถึงวันที่ 6 พฤศจิกายน มีผู้ร่วมบริจาคแล้วไม่ต่ำกว่า 90 ล้านบาท…

การกระทำสิ่งที่ดีและมีประโยชน์ต่อสังคมในภาพรวมหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เขาเหล่านั้นมีจิตสาธารณะ (Public Mind หรือ Public Consciousness) ตูน บอดี้สแลม และเพื่อนๆ เขาคิดว่าสิ่งที่เขากระทำก็คือการวิ่งในระยะทางจากจังหวัดภาคใต้สุดถึงจังหวัดเหนือสุดของประเทศไทย เป็นการกระทำที่ยากสำหรับใครบางคนหากสภาพจิตใจและร่างกายที่มิได้แข็งแกร่งพอสมควร แต่เขาและเพื่อนๆ ได้เลือกในการจัดทำโครงการดังกล่าวโดยได้พบเห็นถึงความรู้ ความคิด ความเชื่อในภาพรวมของคนไทยและชาวต่างชาติจากภาคส่วนต่างๆ ที่มีต่อเขาและถูกนำเสนอในสื่อที่ผ่านมา

Advertisement

ปรากฏการณ์การวิ่งการกุศลในครั้งนี้และครั้งที่ผ่านมา ผู้เขียนและท่านผู้อ่านหลายคนต่างเอาใจช่วย ทั้งการให้กำลังใจและจำนวนเงินเท่าที่จะช่วยกันได้ แม้กระทั่งนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ให้กำลังใจที่ว่า “ทำให้สำเร็จ อย่าหวั่นไหวคำวิจารณ์ ทำความดีไม่รอให้ใครบังคับ กิจกรรมดังกล่าวเป็นสิ่งที่มีประโยชน์และไม่ทำให้ใครเสียหายและเชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่ยินดีให้การสนับสนุน…”

สิ่งหนึ่งที่คนไทยทั้งชาติอาจจะมีคำถามไปถึงบรรดานักการเมืองไทยในอดีตที่ผ่านมาและการเลือกตั้งครั้งหน้าที่จะมาถึงเหล่าบรรดานักการเมืองของแต่ละพรรคหากไปดูถึงฐานะทางเศรษฐกิจ หรือฐานะทางการเงินหลายคนมีเงินหรือทรัพย์สมบัติของตนเองหลายร้อยหลายพันล้านบาท เขาเหล่านั้นเมื่อบ้านเมืองมีความวิกฤตเรื่องใดได้เคยบริจาคเงินจำนวนสิบล้านหรือร้อยล้านเพื่อการกุศลหรือสาธารณะด้วยหรือไม่ หรือว่าต้องรอให้มีคดีความแล้วกฎหมายก็บังคับใช้ในการเข้าสู่จองจำและยึดทรัพย์เข้าสู่แผ่นดิน…

การวิ่งการกุศลเพื่อระดมเงินจำนวนมากเพื่อซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาลในครั้งนี้และครั้งที่ผ่านมาของตูน บอดี้สแลม คงมิใช่ปรากฏการณ์ครั้งแรกของสังคมไทยที่ต้องการความร่วมไม้ร่วมมือของคนในประเทศ เพื่อบรรเทาถึงความทุกข์ยากของประชาชน หากย้อนไปในต้อนต้นของกรุงรัตนโกสินทร์ สมัยรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการระดมเงินถุงแดงจากประชาชนชาวบ้านไว้ไถ่บ้านไถ่เมืองจากฝรั่งเศส พระองค์ท่านได้ตรัสไว้ในพงศาวดารก่อนสวรรคตที่ว่า

“การศึกสงครามข้างญวน ข้างพม่า ก็เห็นจะไม่มีแล้วจะมีอยู่ก็แต่ข้างพวกฝรั่งให้ระวังให้ดี อย่าให้เสียทีแก่เขาได้ การงานสิ่งใดของเขาที่คิด ควรจะเรียนเอาไว้ก็ให้เอาอย่างเขา แต่อย่าให้นับถือเลื่อมใสไปเสียทีเดียว ทุกวันนี้คิดสละห่วงใยได้หมด อาลัยแต่วัดวา สร้างไว้ใหญ่โตหลายวัด ที่ยังค้างอยู่ก็มี ถ้าชำรุดทรุดโทรมไปจะไม่มีผู้ช่วยทำนุบำรุง เงินในพระคลังที่เหลือจับจ่ายในราชการแผ่นดินมีอยู่ 40,000 ชั่งนี้ขอสัก 10,000 ชั่งเถิดให้ไว้บำรุงวัดวาที่ยังค้างอยู่…”

ครั้งหนึ่งในช่วงที่ หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน เจ้าอาวาสวัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี ยังมีชีวิตอยู่ในปี พ.ศ.2540 เมืองไทยเราประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ หรือต้มยำกุ้ง ได้จัดทำโครงการผ้าป่าระดมทองช่วยชาติ โดยได้มอบเงินตราต่างประเทศครั้งแรก จำนวน 1,278,000 เหรียญสหรัฐ และทองคำเข้าคลังหลวงครั้งที่ 15 เป็นจำนวนทองคำ 412.5 กิโลกรัม หรือมากกว่า 12 ตัน โดยมี “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี” เสด็จไปทรงเป็นประธานในพิธีรับมอบเมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ.2553 หรือเมื่อเจ็ดปีที่ผ่านมา…

ในสมัยรัชกาลที่ 9 ที่เพิ่งพ้นผ่านพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระองค์ท่านไปเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ.2560 ในสมัยของพระองค์ท่านก็มีวิกฤตของบ้านเมืองทั้งระบบเศรษฐกิจ การศึกษา ศาสนา สังคม การเมือง การสาธารณสุข รวมถึงปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย พระองค์ท่านได้ใช้หลักการของปรัชญา ศาสนา หลักธรรมะเข้าช่วยในวิกฤตหลายอย่างซึ่งปรากฏให้เห็นถึงพระราชจริยวัตรและโครงการพระราชดำริที่มากกว่าสี่พันโครงการ ได้ช่วยแก้ปัญหาในภาพรวมของประเทศไทยเราให้พ้นจากวิกฤต

ตูนและเพื่อนๆ ได้วิ่งการกุศลระดมเงินเพื่อสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน ก็คืออุปกรณ์เครื่องช่วยชีวิตผู้ป่วยทุกๆ คนในโรงพยาบาลอาจจะมีหลากหลายคำถามที่ถูกถามไปยังรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ระบบการบริหารราชการของกระทรวง กรม หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบที่ว่า รัฐบาลมีงบประมาณเพื่อสนับสนุนในการจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีความจำเป็นต่อชีวิตผู้ป่วยอย่างจำกัดจริงหรือไม่…

การบริหารงานของกระทรวงสาธารณสุขในเมืองไทยเราก็ถูกตั้งคำถามจากสังคมของทุกรัฐบาล ในครั้งนี้ก็มีการชี้แจงจาก นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขที่ว่า “การบริจาคเงินเข้าโรงพยาบาลมีมานานแล้ว ดังนั้น งบบริจาคจึงแยกส่วนจากงบสุขภาพที่ได้รับเป็นประจำ โดยแยกส่วนระหว่างเงินงบจากรัฐซึ่งไม่เพียงพอ ขณะที่โรงพยาบาลจะมีเงินที่เรียกว่าเงินบำรุงโรงพยาบาล ซึ่งเป็นรายได้ของโรงพยาบาลเอง เงินบริจาคก็จัดเป็นส่วนหนึ่งของเงินในส่วนนี้ที่โรงพยาบาลจำนำมาบริหารจัดการของตนเองได้…” (มติชน รายวัน 7 พฤศจิกายน 2560 หน้า 3)

ระบบการสาธารณสุขในเมืองไทยเรามีปัญหาในหลากหลายด้านทั้งจำนวนบุคลากรวิชาชีพแพทย์ พยาบาล และวิชาชีพอื่นๆ ที่ต้องทำงานกันอย่างหนักกับจำนวนผู้ป่วยคนไข้จำนวนที่มาก ขณะเดียวกันก็มีความเสี่ยงจากการรับโรคหรืออุบัติเหตุทางการแพทย์อย่างหลีกเลี่ยงมิได้ ข่าวหรือข้อมูลที่ปรากฏในสังคมที่ถูกนำเสนอในสื่อที่ผ่านมานั้นก็คือ การลาออกของแพทย์ พยาบาล หรือสาขาที่มีความเชี่ยวชาญไปอยู่กับโรงพยาบาลเอกชน หรือไปประกอบอาชีพอื่นเป็นข้อเท็จจริงหนึ่งที่จะปฏิเสธมิได้จากผู้ที่มีส่วนในการรับผิดชอบทั้งโดยตรงและอ้อม

กรณีตูน บอดี้สแลม อาจจะเป็นกรณีหนึ่งของสังคมที่สะท้อนถึงภาพในหลากหลายภาพ ก็คือความร่วมไม้ร่วมมือของคนในสังคมที่มิอาจจำกัดด้วยเชื้อชาติ ศาสนาและความเชื่อ ภาพหนึ่งที่เราท่านได้พบเห็นก็คือ คณะของตูนได้วิ่งผ่านดินแดนที่เป็นเขตสีแดงหมายถึงเขตอันตราย ทางจังหวัดทางภาคใต้ที่ถูกนำเสนอในสื่อถึงความน่ากลัว ทั้งการวางระเบิด ลอบยิงทั้งเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ครู พระ

ภาพที่ปรากฏก็คือมีเด็กเล็กๆ ผู้หญิงผู้ชายชาวมุสลิมออกมาจับมือ ให้กำลังใจบางคนก็ขอพรจากพระผู้เป็นเจ้าให้คุ้มครองให้ได้รับความปลอดภัยไปสู่เป้าหมายให้สำเร็จ…

การวิ่งในพื้นที่สีแดงหรือพื้นที่เขตอันตรายได้มีมิติที่ซ่อนอยู่ในเชิงสังคม ศาสนา ความเชื่อ การเมือง ทีมงานของตูนเองก็คงใช้ระบบบริหารจัดการด้านความปลอดภัยของชีวิตขั้นสูงสุด ฝ่ายบ้านเมืองเองก็ต้องให้ความใส่ใจทั้งเรื่องในเรื่องดังกล่าวพร้อมทั้งทีมงานดูแลสุขภาพเป็นอย่างดี เนื่องด้วยการวิ่งจากใต้สู่เหนือในครั้งนี้คงจะเป็นประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของคนที่เป็นทั้งนักร้อง นักกีฬาและทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

ผู้เขียนและท่านผู้อ่านหลายท่านคงเห็นด้วยที่จะใช้โอกาสนี้ หรือกรณีตัวอย่างนี้เป็นโมเดลหรือแบบอย่างที่จะส่งต่อไปยังเด็ก เยาวชน วัยรุ่น วัยที่กำลังศึกษาเล่าเรียน ซึ่งจะเป็นกำลังอนาคตของชาติในวันหน้า ให้เขาได้มีส่วนร่วมหรือมีสิทธิ หน้าที่ มีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อปัญหาของชาติบ้านเมือง นอกจากพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์กำลังแพร่ระบาดกันทั่วบ้านเมืองทั้งการติดโทรศัพท์มือถือ ไม่ใส่ใจในความรับผิดชอบทั้งในครอบครัวและการเรียน ติดยาเสพติด การพนัน ท้องในวัยเรียน เด็กซิ่ว รวมไปถึงการเป็นยุวอาชญากรรมที่จะเป็นภาระของประเทศ

เด็กไทยหลายคนมีความเก่ง ความดี ความงาม ความจริงในชีวิตเขาเหล่านั้น หากสังคมครอบครัวหรือรัฐบาล หน่วยงานที่ต้องทำงานเกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของเขาตั้งแต่เกิดจนกระทั่งเขาสามารถดำรงตน ครองชีวิตครอบครัวเกื้อกูลต่อสิ่งที่เป็นสาธารณประโยชน์เพื่อผู้อื่นได้อย่างจริงใจ คงจะไม่มีใครที่จะปฏิเสธถึงความดีงามที่เขาได้กระทำให้แก่ชาติบ้านเมืองไว้ให้คนรุ่นต่อไปได้จดจำและกล่าวถึงอย่างมิรู้ลืม…

เฉลิมพล พลมุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image