ชีวิตกระทิง โดย สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน

แฟ้มภาพ

เอ่ยถึง “เขาแผงม้า” ก็ต้องนึกถึง “กระทิง” อันเป็นสัญลักษณ์ที่ควบคู่กัน ด้วยเป็นเทือกเขาที่ถือได้ว่าเป็นตำนานของการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าเขาธรรมชาติ หลังจากที่ในอดีตชาวบ้านย่านวังน้ำเขียว นครราชสีมา เรียกเขาลูกนี้ว่าภูเขาไฟ เพราะมักมีไฟป่าเผาผลาญกลายเป็นภูเขาหัวโล้น จนต่อมามีนักอนุรักษ์เข้าไปทำงานจนกลายเป็นภูเขาที่เขียวชอุ่มอุดมสมบูรณ์ และกลายเป็นแหล่งอาศัยของกระทิงจำนวนมากมาย

มาในระยะนี้ กระทิงแห่งเขาแผงม้า ตกเป็นข่าวใหญ่อีกครั้ง เพราะถูกยิงตายอย่างต่อเนื่องถึง 3 ตัว

กระตุกให้ทุกฝ่ายต้องหันมาสนใจเพื่อจะแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง

แต่อันที่จริงแล้ว หากย้อนกลับไปดูจุดเริ่มต้นของความสำเร็จในการพลิกฟื้นภูเขาหัวโล้นให้กลายเป็นภูเขาเขียวขจี มีความสมบูรณ์พร้อม จนฝูงกระทิงพากันแห่เข้ามาพักอาศัยในป่าผืนนี้

Advertisement

จะได้คำตอบว่า การดูแลรักษาเขาแผงม้าและฝูงกระทิงที่ดีที่สุดนั้น ต้องอาศัยการร่วมมือกันระหว่างผู้ทำหน้าที่ด้านอนุรักษ์ธรรมชาติกับประชาชนรอบๆ เขาแผงม้า

เหมือนกับที่ร่วมจนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในตอนเริ่มทำให้ป่าฟื้นกลับมา

แต่นั่นแหละ แรกเริ่มเดิมทีนั้น เป็นการทำงานที่มีเจ้าหน้าที่มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย เป็นหัวเรี่ยวหัวแรง ร่วมกับผู้นำชุมชนในพื้นที่ และความร่วมมือของชาวบ้านแทบทั้งหมด

Advertisement

ความเป็นเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิหรือผู้มีจิตวิญญาณนักอนุรักษ์ธรรมชาติ

กับวันนี้เป็นการทำงานของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ ย่อมมีความต่างกัน

เปรียบเทียบง่ายๆ ก็เดิมทีพวกเอ็นจีโอทำงานกับมวลชน แต่วันนี้เป็นหน่วยราชการกับประชาชน

ก็อาจจะเห็นภาพได้ง่ายขึ้น

กลุ่มนักอนุรักษ์ธรรมชาติ เริ่มเข้ามาทำงานที่เขาแผงม้าตั้งแต่ราวปี 2537 นำโดย โชคดี ปรโลกานนท์, นิคม พุทธา และผู้นำชาวบ้าน นายอรทัย โจษกลาง

เริ่มจากศึกษาจากคนในพื้นถิ่นว่า เดิมทีป่าแห่งนี้ มีต้นไม้แบบไหน อย่างไร และใช้วิธีปลูกเพิ่มจำนวนหนึ่ง กับระดมฟื้นต้นไม้ที่มีอยู่ให้กลับมาสมบูรณ์ โดยไม่จำเป็นต้องปลูกใหม่เป็นหลัก

จากนั้นก็ใช้งานมวลชน คือ ทำให้ชาวบ้านรอบๆ เขาแผงม้ามีความรู้สึกร่วม และช่วยกันดูแล

เช่น เมื่อชาวบ้านจำเป็นต้องเผาไร่ ก็ไปร่วมกันทั้งหมด ช่วยกันเผา ช่วยกันคุม ไม่ให้ไฟลุกลามกลายเป็นไฟป่า

ทำงานอยู่ไม่กี่ปี ก็มีสิ่งอัศจรรย์เกิดขึ้น เมื่อกระทิงเริ่มอพยพจากเขาใหญ่มาที่เขาแผงม้า เพราะสมบูรณ์กว่า ปลอดภัยกว่า

พอกระทิงมาอยู่มากขึ้น เริ่มต้องช่วยกันดูแลสัตว์ป่าเพิ่มนอกจากป่า หากเห็นเดินออกมาอาจกระทบต่อพืชไร่ที่ชาวบ้านปลูก ก็แจ้งข่าวเพื่อมาช่วยกันผลักดันให้กลับสู่ป่า

จึงไม่กลายเป็นปัญหาขัดแย้งและลงเอยตัดสินด้วยลูกปืน

อีกทั้งทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่า ความสมบูรณ์ของธรรมชาติที่กลับมา ได้ก่อประโยชน์ให้กับคนในพื้นถิ่นด้วย ทำให้ทุกคนรู้สึกผูกพันและร่วมกันดูแล

มูลนิธิคุ้มครองฯกับชาวบ้าน ทำให้เขาแผงม้ากลับมาเป็นเทือกเขาที่ยิ่งใหญ่ในช่วงเวลา 10 ปีเศษ

ต่อมาเกิดข่าวใหญ่เมื่อกรมอุทยานฯไม่ต่อสัญญาให้นักอนุรักษ์ได้ทำงานต่อ ขอเข้ามาบริหารจัดการเองทั้งหมด

วันที่นักอนุรักษ์ธรรมชาติ ต้องยุติบทบาทบนเขาแผงม้า คนที่ศึกษาติดตามเรื่องราวมาตลอดจำนวนมากเริ่มห่วงใย

เพราะการทำงานของหน่วยราชการย่อมไม่เหมือนกับนักอนุรักษ์ธรรมชาติตัวจริง

จากนั้นเขาแผงม้าก็เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ จนมาเกิดเหตุกระทิงถูกยิงบ่อยๆ จนมาต้นเดือนนี้โดนไปถึง 3 ตัว

การมีส่วนร่วมของประชาชน ถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ไม่ว่าจะในการร่วมรักษาป่าและสัตว์ป่า อย่างกรณีเขาแผงม้าที่แปรเปลี่ยนไปแล้ว

กระทั่งเรื่องใหญ่ในทางการเมือง ว่าด้วยประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง

………….

สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image