วงจรการเมืองไทย โดย วีรพงษ์ รามางกูร

เมื่อโครงสร้างทางการเมืองหรือวัฏจักรทางการเมืองได้ถูกนำไปบัญญัติไว้ในกฎหมาย หลังจากการทำรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลทักษิณ ในปี 2549 โครงสร้างดังกล่าวคือการตรากฎหมายปรับโครงสร้างสภากลาโหม ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหาร แม้ว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจะเป็นประธานสภากลาโหมโดยตำแหน่งและมาจากฝ่ายการเมือง หลายครั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกับนายกรัฐมนตรีเป็นคนเดียวกัน แต่สภากลาโหมก็ประกอบด้วยนายทหารประจำการ และคนที่สำคัญที่สุดก็คือ ผู้บัญชาการกองทัพบก เพราะเป็นผู้เดียวที่จะสั่งให้มีการปฏิวัติ ยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินได้

ด้วยเหตุนี้กองทัพบกจึงมีความสำคัญที่สุดในเวทีการเมืองไทย เพราะบรรดาสมาชิกสภากลาโหมจะมีมติแต่งตั้งโยกย้ายผู้ใด เสียงของบรรดาแม่ทัพนายกองจึงเป็นเสียงข้างมากเสมอ ไม่จำเป็นต้องฟังนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กองทัพจึงเป็น “อิสระ” จากฝ่ายการเมือง ไม่ว่าจะเป็นคณะรัฐมนตรีหรือรัฐสภา หลายครั้งสภาสูงหรือวุฒิสภาก็ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่ได้รับการแต่งตั้งมาจากฝ่ายทหารที่ทำปฏิวัติรัฐประหาร เพื่อมาคอยดูแลมิให้ผู้ทำปฏิวัติรัฐประหาร ซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาต้องได้รับโทษทัณฑ์ โดยการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ก่อนที่จะพ้นภาระหน้าที่ไป

โครงสร้างสังคมไทยมีวิวัฒนาการมาจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ความรู้สึกผูกพันและภาระหน้าที่ของกองทัพ จึงมิได้ผูกพัน หรือเป็นผู้พิทักษ์สิทธิเสรีภาพ หรืออธิปไตยของประชาชน แต่มีจิตวิญญาณในการรักษาอนุรักษ์จารีตประเพณี มิให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง ซึ่งก็ตรงกับความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นประชาชนในเมืองหรือต่างจังหวัดอยู่แล้วในประเด็นนี้

ความคิดของผู้ทรงอำนาจกลุ่มนี้เห็นว่า นักการเมืองหรือผู้ที่ประชาชนเลือกขึ้นมาเป็นตัวแทนของตนนั้น ล้วนแต่เป็นคนฉ้อฉล ทุจริต ฉ้อราษฎร์บังหลวง ซึ่งก็เป็นความจริงอยู่ไม่น้อย แต่ก็เพราะระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยล้มลุกคลุกคลาน ไม่มีความต่อเนื่อง พัฒนาการที่ถูกตัดตอนทำให้ประชาชนยังไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมของผู้แทนของตนได้ จะให้นักการเมืองครองอำนาจอยู่นานไม่ได้

Advertisement

ยิ่งไปกว่านั้นจากการเลือกตั้งที่ไม่มีความต่อเนื่อง ประชาชนในต่างจังหวัดจึงมองประโยชน์ระยะสั้นส่วนตนเป็นที่ตั้ง กล่าวคือ ประชาชนจะเลือกผู้ที่สามารถนำโครงการพัฒนา เช่น ถนนหนทาง ถนนไร้ฝุ่น รางรถไฟ สนามบิน โครงการขุดลอกแหล่งน้ำ หนองคลองบึง เข้ามาในหมู่บ้านของตน โครงการต่างๆ เหล่านี้ไม่มีใครสนใจว่าฝ่ายการเมืองจะหักเปอร์เซ็นต์เท่าใด เพราะตนไม่รู้สึกว่าเงินเหล่านี้เป็นเงินภาษีอากรที่ตนต้องจ่าย เพราะระบบภาษีอากรของเราเป็นเงินภาษีทางอ้อมเสียเป็นส่วนใหญ่ อนาคตข้างหน้าภาษีทางตรงก็จะมีสัดส่วนในงบประมาณรายได้ของรัฐบาลน้อยลงเรื่อยๆ

ทางฝ่ายข้าราชการประจำ ซึ่งอาจจะแบ่งหยาบๆ ออกได้เป็น 2 ฝ่าย คือฝ่ายความมั่นคง อันได้แก่ ข้าราชการทหาร และตำรวจกับข้าราชการพลเรือน

สำหรับข้าราชการตำรวจนั้นก็ต้องทำมาหากิน เพราะการจะดำรงตนอยู่ในตำแหน่ง เลื่อนยศ ปลด ย้าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายสืบสวนหรือสอบสวน ก็ต้องมีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นและค่าใช้จ่ายสูงก็ขึ้นเรื่อยๆ ตามระดับการเติบโตของสังคม การแยกฝ่ายสืบสวนออกจากฝ่ายสอบสวนจึงเป็นไปไม่ได้ หรือเป็นไปไม่ได้นาน เพราะฝ่ายสืบสวนเมื่อได้ยศได้ขั้นเงินเดือนตามปกติแล้วก็ยากจะย้ายกลับมาอยู่ฝ่ายสอบสวน เมื่อระบบเป็นเช่นนี้ก็ยากที่จะปฏิรูประบบตำรวจให้กลับมาอยู่ใน “ระบบคุณธรรม” หรือ “merit system” ได้ รัฐบาลไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งหรือมาจากการปฏิวัติรัฐประหาร จึงตกอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะเป็นเรื่องของ “ระบบ” ไม่ใช่ต่อบุคคล ระบบได้เกิดขึ้นและดำรงอยู่นานแล้ว มิใช่เพิ่งจะเกิดขึ้น

Advertisement

สำหรับข้าราชการพลเรือนนั้น ไม่ว่าจะยามปกติหรือยามมีรัฐบาลทหาร ก็มีความโน้มเอียงที่จะต้องทำงานสนองรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงอยู่แล้ว การกระทำอันเป็นการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวงนั้น จะทำโดยฝ่ายการเมืองไม่ว่าฝ่ายการเมืองนั้นมาจากข้าราชการประจำหรือจากนักการเมือง คนที่ทำหน้าที่ชงเรื่อง ดึงเรื่อง ดูแลหลบเลี่ยงกฎหมาย ก็คือฝ่ายข้าราชการประจำนั้นเอง ฝ่ายการเมืองจะทำเองไม่ได้ เมื่อตนต้องทำให้ฝ่ายการเมือง ตนก็เพิ่มเปอร์เซ็นต์ไว้เป็นของตนเองด้วย มูลค่าการประมูลโครงการต่างๆ จึงแพงขึ้นเป็น 10-20 เปอร์เซ็นต์ ไม่ว่าจะเป็นโครงการพัฒนาต่างๆ หรือโครงการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ การซื้อเครื่องบิน หัวรถจักร ล้วนแต่มีเปอร์เซ็นต์ทั่วไปหมด

วงจรหรือวัฏจักรการเมืองจึงเกิดขึ้น กล่าวคือ เมื่อมีรัฐบาลตามระบอบประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้ง รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็ต้องหาเสบียงกรังให้พรรค พรรคก็ต้องสร้างโครงการต่างๆ เมื่อมีการเปิดโปงโดยพรรคฝ่ายตรงกันข้ามหรือพรรคฝ่ายค้านและสื่อมวลชน ก็เป็นโอกาสดีที่ฝ่ายกองทัพซึ่งเป็นอิสระจากรัฐบาลที่จะสร้างกระแสให้ประชาชนต่อต้านรัฐบาล กรณีล่าสุดก็คือ การสร้าง กปปส.เพื่อปูทางไปสู่การทำรัฐประหารและก่อตั้งรัฐบาลทหาร เมื่อมีรัฐบาลทหารก็จะมีข่าวการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง ซึ่งคงจะทำเองไม่ได้ ต้องได้รับความร่วมมือจากข้าราชการประจำ ตั้งแต่ชั้นปลัดกระทรวงและอธิบดีชงเรื่องขึ้นมา ทำเอกสารทำการวิเคราะห์และทำการประมูลจัดซื้อจัดจ้างให้ ข่าวก็ปิดไว้ไม่ได้ ความอึดอัดก็เกิดขึ้นเพราะตรวจสอบไม่ได้ ความอึดอัดก็จะเกิดกระแสเรียกร้องประชาธิปไตย ดังจะเห็นเป็นความขัดแย้งในเรื่องที่จะสร้างระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบได้อย่างไร ทำยังไงจึงจะแนบเนียนไม่เกิดกระแสต่อต้าน ก่อนจะไปถึงจุดหมายปลายทางอันเดียวกัน

ต่อไปไม่ช้าก็เร็ว ก็คงจะมีเลือกตั้งถ้ารัฐธรรมนูญผ่านประชามติ แล้วก็มีการจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยครึ่งใบ แต่ถ้ารัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ แล้วนายกรัฐมนตรีจะหยิบรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งมาประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญถาวร ความวุ่นวายคงเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาดเพราะเป็นรัฐธรรมนูญถาวรที่ขาดความชอบธรรม เป็นรัฐธรรมนูญที่ถูกประชาชนปฏิเสธมาแล้ว หรือไม่ก็เป็นรัฐธรรมนูญถาวรฉบับเก่าๆ ที่เคยถูกประณาม เคยถูกฉีกมาแล้ว

เมื่อมีการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังร่างกันอยู่นี้ หรือฉบับเก่าๆ ที่จะถูกหยิบยกปรับปรุงแก้ไขแล้วประกาศใช้ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอาจจะออกมาเหมือนเดิม แต่ครั้งนี้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ เพราะวุฒิสภาซึ่งมาจากการแต่งตั้งมีสิทธิมีเสียงในการลงมติไว้วางใจรัฐบาล และมีสิทธิมีเสียงในการลงมติผ่านร่าง พ.ร.บ.สำคัญ เช่น พ.ร.บ.งบประมาณและ พ.ร.บ.เกี่ยวกับการเงิน โดยมีอำนาจที่จะชี้ว่า พ.ร.บ.ใด เป็น พ.ร.บ.ที่เกี่ยวกับการเงิน เมื่อพ้นบทเฉพาะกาลแล้วรัฐบาลครึ่งใบก็อาจจะอยู่ได้ระยะหนึ่ง กระแสการต่อต้านระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบก็จะเกิดขึ้นมาอีก กระแสเรียกร้องประชาธิปไตยเต็มใบก็จะกลับมา

วนเวียนเป็นวัฏจักรเช่นว่านี้ไปเรื่อยๆ ตราบใดที่กองทัพไม่มีศรัทธาและไม่มีความไว้วางใจนักการเมือง ซึ่งกองทัพก็เป็นอิสระจากสถาบันประชาธิปไตย ไม่ยึดโยงกับประชาชนดังเช่นสภาผู้แทนราษฎรและคณะรัฐบาลที่มาจากเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร การเมืองจึงสลับไปสลับมาระหว่างกองทัพกับสภาผู้แทนราษฎร

กระแสกดดันจากภายนอกประเทศก็คงมีความหมายไม่มากนัก เพราะในเวทีการค้าระหว่างประเทศ ประเทศมหาอำนาจให้น้ำหนักกับผลประโยชน์ทางการค้าและการลงทุนของตนเป็นหลัก อุดมการณ์ประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน เป็นเพียง “วาทกรรม” ใช้บังหน้าและเป็นเครื่องมือเพื่อผลประโยชน์ทางการค้าและการลงทุนของตนเท่านั้น

วัฏจักรเช่นว่าคงจะดำรงไปอีกนาน ตราบใดที่โครงสร้างทางสังคม โครงสร้างทางชนชั้นของประเทศไทยที่เป็นอยู่ในปัจจุบันยังดำรงอยู่เช่นนี้ ปฏิวัติครั้งนี้น่าจะ “เสียของ” อีกนั่นแหละ ไม่ว่ารัฐธรรมนูญจะเขียนอย่างไร

คนไทยจึงไม่ให้ความสำคัญกับรัฐธรรมนูญเลย จะเขียนอย่างไรก็ได้ ขอให้ออกมาเร็วๆ ก็แล้วกัน อย่างไรเสียกาลข้างหน้าก็ต้องมีปฏิวัติอีกอยู่ดีเมื่อโอกาสเปิดให้ทำ เพราะโครงสร้างอำนาจที่เป็นอย่างนี้

ไม่มีทางจะไม่ “เสียของ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image