ประชาธิปไตยครึ่งใบ-ยุทธศาสตร์ชาติ โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

เซียนการเมืองนอกสภาชี้ว่า เงื่อนไขที่จะส่งผลถึงการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่น่าติดตามเวลานี้ไม่ใช่มีแค่เฉพาะประเด็นที่มา คุณสมบัติ อำนาจหน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภาจะมาจากการลากตั้งหรือเลือกตั้งทางอ้อมเท่านั้น

แต่ที่น่าจับตาไม่แพ้กันและมีผลต่อเสถียรภาพทางการเมืองอย่างยิ่งคือ ร่างกฎหมายสำคัญ พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ…… ซึ่งเดินหน้าไปตามลำดับ

สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2559 ส่งไปให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว เพื่อส่งต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาต่อไป

เนื้อหาของกฎหมายฉบับนี้เป็นการสร้างกลไกและกระบวนการเพื่อจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ที่กำหนดให้ทุกองคาพยพของประเทศต้องเดินหน้าพาชาติไปตามแนวทางที่วางไว้ทั้งระยะสั้น กลาง ยาว ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนได้ทุกๆ 5 ปี

Advertisement

กลไกดังกล่าวมี 2 ระดับ ได้แก่ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ประกอบด้วย ผู้นำจากฝ่ายการเมือง (นายกรัฐมนตรี ประธานวุฒิสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร) และผู้ทรงคุณวุฒิด้านยุทธศาสตร์กลุ่มภารกิจต่างๆ จำนวน 25 คน

คณะกรรมการบริหารยุทธศาสตร์ชาติไม่เกิน 29 คน ประกอบด้วย ภาครัฐ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ เลขาฯกฤษฎีกา เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ เสนาธิการทหาร และอัยการสูงสุด

ภาคเอกชน ประธานสภาอุตสาหกรรม ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประธานสภาธนาคาร ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

Advertisement

ภาคประชาชน ผู้แทนประชาชนที่เสนอโดยสภาองค์กรชุมชน 2 คน ภาควิชาการ ประธานที่ประชุมอธิการบดีของมหาวิทยาลัยของรัฐ และผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ ตามที่กำหนด

ประเด็นที่น่าสนใจไม่ใช่มีแค่ว่าองค์ประกอบของคณะกรรมการทั้ง 2 ระดับในส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิ มีกระบวนการได้มาอย่างไร ใครเป็นคนเลือก คนแต่งตั้งเท่านั้น

ในส่วนของเนื้อหาหรือตัวยุทธศาสตร์ได้มีความเคลื่อนไหวมาตามลำดับอีกเช่นกัน ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 30 มิถุนายน 2558 เห็นชอบการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ มี พล.อ.วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

หากทุกอย่างดำเนินไปตามขั้นตอน จนมีกฎหมายยุทธศาสตร์ชาติออกมาใช้บังคับ ร่างยุทธศาสตร์ชาติที่คณะจัดทำยุทธศาสตร์ชาติทำเตรียมการไว้ก็จะเป็นตุ๊กตา หรือต้นร่าง เพื่อนำเข้าพิจารณาในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติตามกฎหมายใหม่ให้ความเห็นชอบ ก่อนประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

สาระหน้าตาเป็นอย่างไร จะเปิดให้มีกระบวนการชี้แจงและรับฟังความคิดเห็นในขั้นตอนการจัดทำหรือไม่ เมื่อไหร่ หรือรอไว้ในขั้นตอนของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ยังไม่ชัดเจน

ขณะเดียวกันในฟากของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังดำเนินไปสู่การลงประชามตินั้น ร่างแรกบัญญัติเรื่องนี้ไว้ในหมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐ มาตรา 61 รัฐพึงจัดให้มียุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายการพัฒนาของประเทศและเป็นกรอบในการจัดทำแผนต่างๆ ให้สอดคล้องและบูรณาการกันเพื่อให้เกิดเป็นพลังผลักดันร่วมกันไปสู่เป้าหมายดังกล่าว

ยุทธศาสตร์ชาติเขียนไว้ให้มีทั้งหมดอย่างน้อย 12 ด้าน ได้เแก่ เศรษฐกิจ การศึกษา การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ความมั่นคงทางทหาร การเมือง ฯลฯ

กำหนดเป้าหมาย ออกแบบหน้าตาประเทศไทย และคนไทยในอนาคต เป็นต้นว่า ลดความเหลื่อมล้ำ ก้าวพ้นจากประเทศกำลังพัฒนาสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

น่าสังเกตว่าตัวชี้วัดตามยุทธศาสตร์ด้านอื่นๆ มีความเป็นรูปธรรม มีตัวเลขเชิงปริมาณพอวัดได้ แต่ยุทธศาสตร์ที่สำคัญคือ ยุทธศาสตร์ด้านการเมือง เพราะจะส่งผลถึงความสำเร็จตามยุทธศาสตร์อื่นๆ อย่างมิอาจปฏิเสธได้ ยังคลุมเครือ

สิทธิ หน้าที่ ความรับผิดชอบ เสรีภาพ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ยุทธศาสตร์ชาติจะเขียนว่าอย่างไรในประเด็นเหล่านี้

ในเมื่อการเมืองเป็นเรื่องของการต่อรองระหว่างกลุ่มพลังต่างๆ ในสังคม เรื่องการบริหาร การจัดการทรัพยากร

การออกแบบรัฐธรรมนูญที่กำลังดำเนินอยู่ขณะนี้จึงเป็นตัวกำหนดกรอบทิศทางยุทธศาสตร์ชาติด้านการเมืองโดยตรง

ประเด็นมีว่าโดยหลักการทิศทางการเมืองควรก้าวสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์มากขึ้นๆ แต่ในความเป็นจริงกลับสวนทางกัน มีแนวโน้มหันหลังกลับไปสู่ประชาธิปไตยครึ่งใบ

กฎหมายยุทธศาสตร์ชาติจะออกแบบกลไก กระบวนการ อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงขั้นตอนการจัดทำยุทธศาสตร์โดยเฉพาะด้านการเมือง ไม่อาจฝ่าฝืนบทบัญญัติรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายหลักไปได้

เมื่อเป็นเช่นนั้น กฎหมายยุทธศาสตร์ชาติจะมีความหมายอะไร ถึงเข็นออกมาได้เป็นฉบับแรกก่อนกฎหมายแม่ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้เพราะถูกมัดมือมัดเท้าไว้ตั้งแต่ยังไม่คลอดเสียแล้ว

ฉะนั้น มีแต่รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย จำกัดอำนาจรัฐ เคารพสิทธิเสรีภาพของปวงชนเท่านั้น ที่จะส่งเสริมให้การจัดทำและปฏิบัติตามยุทธศาสตร์เป็นความจริง หากตรงกันข้ามก็เป็นเรื่องเพ้อฝัน แค่นั้นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image