100 ปีสยาม กับผลประโยชน์ของชาติ ในสงครามโลกครั้งที่ 1 ด้วยวีรกรรมของทหารไทย : โดย พลโท ทวี แจ่มจำรัส

ในวันที่ 22 กรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมา เป็นวันครบรอบ 100 ปีที่ประเทศสยามได้ส่งทหารอาสาเข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 ภายหลังที่กองทัพเยอรมนีเปิดฉากการบุกเบลเยียม เพื่อเดินทัพเข้าโจมตีฝรั่งเศส และหวังที่จะเข้ายึดกรุงปารีส จนเป็นสาเหตุให้ฝรั่งเศสและอังกฤษต้องประกาศสงครามกับเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการี ในวันที่ 4 สิงหาคม 2457

คู่กรณีสงครามได้แบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายเยอรมนี มีพันธมิตรผู้หนุนหลัง ประกอบด้วย ออสเตรีย-ฮังการี บัลแกเรีย ตุรกี และฝ่ายสัมพันธมิตรประกอบด้วย รัสเซีย อังกฤษ ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา และประเทศอื่นๆ รวม 25 ประเทศทั่วโลก

สำหรับประเทศสยามภายใต้การปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ซึ่งมีพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ทรงเป็นองค์พระประมุขของชาติ ก็มิได้ทรงนิ่งนอนพระทัย แม้พระองค์ทรงทราบดีว่าพลเมืองของประเทศสยามในขณะนั้นมีความนิยมชมชอบและเห็นอกเห็นใจเยอรมนีที่ถูกประเทศใหญ่ๆ หลายประเทศรุมล้อมรอบด้าน แต่ด้วยพระปรีชาญาณของพระองค์ทำให้ทรงตัดสินพระทัยประกาศสงครามกับเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการี โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศสยามและสันติภาพของโลกเป็นสำคัญ โดยได้ทรงลงพระปรมาภิไธยในประกาศสงครามเมื่อเวลาประมาณ 24.00 น. ของวันที่ 21 กรกฎาคม 2460

หลังจากการตัดสินพระทัยเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 แล้ว กระทรวงกลาโหม จึงได้ประกาศรับสมัครทหารอาสา เพื่อไปร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 ในขั้นต้นได้คัดเลือกทหารเพื่อไปร่วมรบจำนวน 1,385 นาย

Advertisement

หลังจากนั้นได้มีการฝึกอบรมและทดสอบร่างกายจนเหลือกำลังพลเพื่อปฏิบัติการได้จำนวน 1,284 นาย จึงได้ทำการจัดตั้งเป็นกองทหารอาสา โดยมี พันเอกพระยาเฉลิมอากาศ หรือ สุณี สุวรรณประทีป เป็นผู้บังคับการ ทหารที่ส่งไปมี 3 หน่วย ประกอบด้วย กองทหารบกรถยนต์ กองบินทหารบก และกองพยาบาล

สงครามโลกครั้งที่ 1 ได้ยืดเยื้อเป็นเวลายาวนานถึง 4 ปี จนกระทั่งในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2461 กองทัพเยอรมนี ได้ติดต่อฝ่ายสัมพันธมิตรขอเจรจาสงบศึก ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามในสัญญาสงบศึกบนรถไฟ ณ เมืองคองเปียน ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2461 ดังนั้น จึงได้กำหนดให้วันดังกล่าวเป็นวันที่ระลึกทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่ 1 ทั้งนี้ หลังสิ้นสุดสงครามมีการเฉลิมฉลองชัยชนะเกิดขึ้นในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศสยาม พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกระทำพิธีปฐมกรรม ในพระบรมมหาราชวังในวันที่ 2 ธันวาคม 2461 โดยจัดให้มีการชุมนุมทหารอาสาที่กลับสู่มาตุภูมิ ณ ท้องสนามหลวง บรรยากาศเป็นไปอย่างอบอุ่น และสมเกียรติ

เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2462 กองทหารบกรถยนต์เดินทางถึงท่าราชวรดิฐ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกล่าวต้อนรับกองทหารอาสา เสร็จแล้วทรงผูกเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดีพระราชทานแก่ธงไชยเฉลิมพล และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์แก่ทหารอาสา

Advertisement

จากการตัดสินพระทัยในครั้งนั้น ทำให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศสยามในหลายๆ ด้าน อาทิ ทำให้ประเทศต่างๆ ในโลก โดยเฉพาะชาติสัมพันธมิตร ยุโรป และอเมริกาได้รู้จักประเทศสยาม เนื่องจากทหารอาสาของประเทศสยามที่ไปร่วมรบได้สร้างชื่อเสียงในด้านความมีระเบียบวินัยที่ดี มีความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว ตลอดจนมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีสามารถสร้างความประทับใจให้แก่บรรดาทหารสัมพันธมิตรจึงก่อให้เกิดความชื่นชมแก่ประเทศสยาม และทหารอาสาของประเทศสยามเป็นอย่างมาก

รวมทั้งส่งผลให้ชาติต่างๆ ในยุโรป จำนวน 13 ประเทศ ที่เคยทำสัญญาผูกมัดประเทศสยาม ยอมแก้ไขสัญญาที่ทำไว้เดิม โดยเฉพาะการยกเลิกอำนาจศาลกงสุล สำหรับชาวต่างชาติที่กระทำผิดในประเทศมาขึ้นศาลประเทศสยามและยังได้อิสรภาพในการกำหนดพิกัดอัตราภาษีศุลกากร ตลอดจนประเทศสยามได้มีโอกาสเข้าร่วมลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพที่กรุงปารีส และได้รับเชิญให้เข้าร่วมก่อตั้งองค์การสันนิบาตชาติ

นอกจากนี้ ได้มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงธงชาติประเทศสยามจากธงรูปช้างมาเป็นธงไตรรงค์ ซึ่งในปัจจุบันธงไตรรงค์ได้เป็นธงประจำชาติไทยมาครบรอบ 100 ปี เช่นกัน

หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้สิ้นสุดลง กองทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้นำความรู้จากการฝึกและการปฏิบัติการทางยุทธวิธีมาปรับปรุงเพื่อใช้ในกองทัพประเทศสยาม นอกจากนี้ กองบินทหารบกได้ทำการจัดตั้งเป็นกรมอากาศยาน และในปัจจุบันได้วิวัฒนาการเป็น “กองทัพอากาศ” สำหรับกองทหารบกรถยนต์ได้พัฒนาเป็น “กรมการขนส่งทหารบก” โดยมีอนุสรณ์สถานเพื่อระลึกถึงเกียรติประวัติทหารอาสาของประเทศสยามที่เดินทางไปร่วมปฏิบัติการรบในทวีปยุโรป หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “อนุสาวรีย์ทหารอาสา” สร้างขึ้นในสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมทั้งเป็นที่บรรจุอัฐิทหารหาญที่เสียชีวิตขณะปฏิบัติการรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 จำนวน 19 นาย โดยมีพิธีบรรจุอัฐิ เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2462 และพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงวางพวงมาลา คารวะดวงวิญญาณของเหล่าทหารเกล้าที่เสียสละเพื่อประเทศชาติเป็นครั้งแรกในวันเดียวกัน

อนุสาวรีย์นี้สร้างขึ้นที่มุมด้านตะวันตกเฉียงเหนือของท้องสนามหลวง โดยมีรูปทรงคล้ายศาสนสถานสำคัญในสมัยศรีวิชัยของไทย คือ พระบรมธาตุไชยา อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี และอนุสรณ์สถาน จินทิ เกลาซัน บนเกาะชวา ในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งนอกจาก “อนุสาวรีย์ทหารอาสา” แล้ว ยังมีอนุสรณ์ที่เป็นสัญลักษณ์แห่งการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 อีกแห่งคือ “วงเวียน 22 กรกฎาคม” ที่สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงวันที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ทรงตัดสินพระทัยนำประเทศสยามเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2460

ในโอกาสวันที่ระลึกทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่ 1 ในวันที่ 11 พฤศจิกายน ของทุกปี องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในฐานะหน่วยงานของรัฐซึ่งมีภารกิจในด้านการสงเคราะห์และเชิดชูเกียรติทหารผ่านศึก ได้จัดให้มีพิธี โดยเมื่อวันเสาร์ช่วงเช้าที่ 11 พฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมา พลเอก สัมพันธ์ ธัญญพืช ผู้อำนวยการองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ได้ประกอบพิธีสงฆ์จากวัดชนะสงคราม จำนวน 10 รูป สวดมาติกา บังสุกุล และจุดไฟเผารายชื่อทหารอาสาผู้เสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่ 1 เพื่อกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลแด่ดวงวิญญาณของผู้ล่วงลับทุกท่าน

และในช่วงบ่ายได้ประกอบพิธีวางพวงมาลา ณ อนุสาวรีย์ทหารอาสา บริเวณสนามหลวง ประกอบด้วย ครอบครัวทหารผ่านศึก หัวหน้าส่วนราชการ และหัวหน้าหน่วยงานต่างๆ ทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารต่างประเทศประจำประเทศไทย โดยมี พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ พลเอก อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและนายกรัฐมนตรี วางพวงมาลา

ประวัติศาสตร์ทุกชิ้นมีประโยชน์แห่งการจดจำ เป็นบันทึกประสบการณ์ของมนุษยชาติที่มีคุณค่าควรแก่การศึกษา เพื่อเป็นบทเรียน ช่วยให้เกิดความรัก ความภาคภูมิใจในชาติบ้านเมืองของตน ทำให้รู้ถึงความเสียสละของบรรพบุรุษที่ได้ร่วมกันสร้างบ้านเมืองมา รักษาชาติบ้านเมืองไว้ด้วยชีวิต สร้างสมวัฒนธรรมอันดีงามมาสู่รุ่นลูก รุ่นหลาน ก่อให้เกิดความภาคภูมิใจ รักและหวงแหนมรดกที่บรรพบุรุษทิ้งไว้ และต้องการที่จะอนุรักษ์สืบสานสิ่งที่ดีงาม ไปยังคนรุ่นลูก รุ่นหลานต่อไป ถึงแม้ทหารอาสาของไทยในสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้เสียชีวิตไปหมดแล้ว ทุกท่านได้สร้างคุณประโยชน์ให้แก่ลูกหลานไทยอย่างมหาศาล

ขอให้ทุกดวงวิญญาณไปสู่สุคติ พวกเรารุ่นลูกหลานทุกคนจะต้องเชิดชูและรักษามรดกอันล้ำค่านี้ต่อไปอย่างไม่สิ้นสุดเช่นกัน

พลโท ทวี แจ่มจำรัส
ข้าราชการบำนาญ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image