ตอบคำถามนายกฯ : โดย กลิ่นบงกช

ก่อนหน้านี้ นายกฯก็เคยตั้งคำถามประชาชนมาแล้วหนหนึ่ง แล้วให้ประชาชนตอบคำถามไปทางศูนย์ดำรงธรรม ซึ่งมีอยู่ทุกจังหวัด การตอบปัญหาในรูปนี้ เป็นผลดีต่อนายกฯ 2 ประการ แต่เป็นผลเสียแก่ประชาชน 2 ประการ คือที่เป็นผลดีต่อนายกฯ 2 ประการ คือหนึ่ง ประชาชนที่ตอบไม่กล้าตอบให้ขัดใจนายกฯ เพราะปรากฏชื่อ หมายเลขบัตรประชาชน ให้รู้ว่าเป็นใคร บ้านอยู่ไหน เมื่อเป็นเช่นนี้คำตอบที่ได้ก็จะได้เฉพาะคำตอบของกลุ่มที่ชอบนายกฯเท่านั้น

สองเมื่อได้คำตอบแล้ว มหาดไทยก็รู้อยู่หน่วยเดียวว่าจำนวนคนตอบเท่าไร เขาตอบอย่างไร เมื่อนายกฯต้องการใช้ก็จะงัดเอามาอ้างว่า เพราะประชาชนตอบมาอย่างนี้ จะให้ทำอย่างไร แม้จะตอบมาจำนวนน้อย แต่จำนวนประชาชนส่วนใหญ่ไม่ตอบมา ก็จะอ้างว่าช่วยไม่ได้ เพราะไม่ร่วมมือกับทางการ นี่ก็ได้ผลดีไปเนียนๆ

ส่วนผลเสียของประชาชน ก็คือหนึ่ง ประชาชนไม่รู้จำนวนคนตอบว่าเท่าไร ทางการอาจจะอ้างว่ามีคนตอบไปจำนวน 50% ของประชากร ก็ได้ ใครจะไปรู้ สอง หรือถ้ามีคนตอบไปมากจริงแล้วทางการพูดความจริงว่ามีคนตอบมาก จะมีใครเชื่อใจหรือไม่ เพราะภาพของราชการประชาชนมักไม่ค่อยจะวางใจนัก

สำหรับคำถามใหม่ 6 ข้อ ดูเหมือนเป็นคำถามที่ชนชั้นปกครองมองแล้วพยายามจะให้คนทั่วไปมองตามด้วย เช่น คำถามที่หนึ่งที่ว่า จำเป็นต้องมีพรรคการเมืองใหม่ๆ ที่มีคุณภาพหรือไม่ พรรคการเมืองเดิมๆ จะทำการปฏิรูปตามยุทธศาสตร์ได้หรือไม่ คำถามข้อนี้ มุ่งให้ประชาชนดูพรรคการเมืองเดิมๆ ที่ชนชั้นปกครองเขามอง

Advertisement

ถามว่าชนชั้นปกครองเขามองพรรคการเมืองเดิมๆ เป็นอย่างไร?

ตอบว่า การปกครองบ้านเมืองที่ผ่านๆ มาจะมีพรรคการเมืองบางพรรคเป็นกลุ่มอนุรักษนิยม เข้าได้กับชนชั้นปกครอง แต่หลังจากนั้นเป็นต้นมา มีพรรคการเมืองที่ช่วยเหลือรากหญ้า คือคนยากคนจน คะแนนพรรคนี้จึงนำมาตลอด แต่เผอิญพรรคนี้เป็นพรรคคนมีเงิน เมื่อจะเลือกรัฐมนตรีจึงผูกขาดเฉพาะคนมีเงิน คนไม่มีเงินหรือคนถืออาวุธยืนมองตาปริบๆ ! คนชั้นไหนก็ตามเมื่อมีอำนาจแล้วก็เอื้อประโยชน์ให้ชนชั้นกลุ่มของตน เมื่อนายทุนได้อำนาจรัฐ พอมีงบประมาณพันล้าน หมื่นล้าน แสนล้าน รัฐบาลก็พยายามให้บริษัทของคนในพรรคได้งาน บริษัทของพรรคฝ่ายค้านถ้าวิ่งมาซบก็จะได้งานเล็กๆ ไป พรรคเดิมๆ เป็นมาอย่างนี้ กลุ่มคนอีกกลุ่มหนึ่งมองว่า ถ้าขืนปล่อยไปแบบนี้ กลุ่มเราหมดอำนาจแน่ จึงหาทางทำการปฏิวัติยึดอำนาจมาตลอด 80 ปี

กลุ่มทหารมองแบบนี้ จึงพยายามจะยี้ออำนาจให้ได้ 20 ปี นั่นคือคำถามที่ว่า พรรคเดิมๆ จะทำการปฏิรูปตามยุทธศาสตร์ได้หรือไม่ คือหมายความว่า พรรคเดิมๆ จะรักษาอำนาจชนชั้นปกครองให้เขาได้หรือไม่

Advertisement

ต่อคำถามนี้ ถ้าจะให้เกิดความชัดเจนต้องแยกตอบตามกลุ่มของบุคคล คือหนึ่ง กลุ่มที่มีอาชีพถืออาวุธ สอง กลุ่มที่เป็นนายทุน สาม กลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุดในประเทศ คือกลุ่มรากหญ้า คำตอบของแต่กลุ่มจะแตกต่างกัน กลุ่มพรรคเดิมๆ ที่เป็นนายทุนได้ตอบมาแล้วทางหน้าหนังสือพิมพ์ ขอยกมาตอบโดยสรุปดังต่อไปนี้ “การที่มีคำถามออกมาแบบนี้ แสดงว่านายกฯรังเกียจนักการเมืองเก่าๆ พรรคการเมืองเก่าๆ ก็คงจะรังเกียจนักการเมืองที่ไม่ได้มาจากประชาชนเช่นกัน”

สำหรับคนรากหญ้าที่พอรู้ความเป็นไปของกลุ่มบุคคล ก็จะตอบว่า ไม่ว่าชนชั้นที่มีอาวุธเป็นฐานอำนาจก็ดี และชนชั้นที่มีเงินเป็นฐานอำนาจก็ดี ล้วนแต่ใช้เครื่องมือของตนเป็นพาหะนำไปสู่อำนาจทั้งสิ้น ตัวอย่างเช่น เมื่อคนมีอาวุธเป็นฐานอำนาจ เมื่อกะจังหวะที่รัฐบาลที่ประชาชนเลือกมาประชาชนเบื่อหน่ายแล้ว ก็จะใช้อาวุธทำการยึดอำนาจ โดยอ้างว่ารัฐบาลโกงกิน ในการนี้กลุ่มชนบางส่วนก็เอาดอกไม้ไปให้ทหาร ทำนองให้กำลังใจ แต่ตอนยึดอำนาจเมื่อไม่นานมานี้ มีคนขับแท็กซี่ขับรถแท็กซี่ชนรถถัง เพราะไม่พอใจที่ทหารยึดอำนาจจากรัฐบาล และต่อมาเขาผู้นี้ก็ผูกคอตาย พร้อมเขียนจดหมายบรรยายความรู้สึกเรื่องการทำปฏิวัติในเมืองไทย ทหารคงมีความรู้สึกบ้าง แต่ไม่แสดงออก บ้านเมืองที่ปกครองด้วยทหาร ประชาชนจะมีความรู้สึกว่าสงบเรียบร้อย แต่สาเหตุที่สงบ ก็เพราะ คสช.ห้ามประชาชนชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คนขึ้นไป ก็เมื่อการห้ามประชาชนชุมนุมทางการเมืองมันทำให้บ้านเมืองเรียบร้อย เราก็ควรยึดเป็นหลักปฏิบัติตายตัวไปไม่ได้หรือ ตอบว่า ทำไม่ได้ ถามว่าทำไมทำไม่ได้ ตอบว่า มันไม่เป็นประชาธิปไตย เมื่อไม่เป็นประชาธิปไตย ชาวโลกเขาก็ไม่สมาคมด้วย การไม่สมาคมของเขาก็คือไม่ค้าขายด้วย เมื่อไม่มีคนซื้อสินค้าของเรา ประชาชนที่ทำการค้ากับต่างประเทศก็ขาดรายได้ เมื่อพ่อค้าไม่มีรายได้ ก็ไม่มีภาษีให้รัฐ รัฐก็ไม่มีรายได้จากการนี้

นี่คือผลของการไม่เป็นประชาธิปไตย

ถ้าเราจะเลือกเอาระหว่างบ้านเมืองสงบดีกว่า แม้จะไม่มีเพื่อน ขาดรายได้จากเพื่อนเราก็ยอม จะว่าอย่างไร! เรื่องนี้ คนตัดสินคือประชาชน ถ้าผู้มีอำนาจตัดสินเอง ประชาชนไม่เอาด้วย นั่น! ไม่น่าที่คนฉลาดเขาจะเลือกเดิน ในฐานะที่เราเป็นชาวพุทธ เราน่าจะเอาหลักธรรมของการปกครองที่พระพุทธเจ้าทรงวางไว้ระหว่างการเลือกบ้านเมืองสงบ กับการขาดเสรีภาพ อย่างไหนจะดีกว่ากัน คำตอบมีแล้ว คือหลักธรรมชื่อจักกวัตติวัตร ข้อที่ 3 ที่พระองค์วางไว้ว่า ผู้ปกครองบ้านเมืองต้องระวังไม่ให้อธรรมเกิดขึ้นในบ้านเมือง การปล่อยให้อธรรมเกิดขึ้นในบ้านเมือง มีมากเช่นปล่อยให้คนมีอำนาจข่มเหงคนไร้อำนาจเป็นต้น

แต่ที่ประชาชนคนไทยกำลังพบอยู่ขณะนี้ คือการที่รัฐตั้งกฎห้ามประชาชนพูดเรื่องการเมือง ห้ามประชาชนเคลื่อนไหวทางการเมือง นี่คือรัฐสร้างอธรรมให้เกิดขึ้นในบ้านเมือง พระพุทธดำรัสนี้บ่งว่าการจำกัดเสรีภาพโดยการห้ามผู้อยู่ใต้ปกครองพูดการเมือง ห้ามการเคลื่อนไหวทางการเมือง เป็นการก่ออธรรมขึ้นในบ้านเมือง ดังนั้นคำถามที่ถามว่า ควรจะมีพรรคใหม่หรือไม่ คงเป็นคำถามที่ คสช.จะสร้างพรรคขึ้นมาเอง แล้วหวังคำตอบที่ถูกใจเพื่อที่จะได้ปฏิบัติไปตามนั้น

ถ้ามีคำตอบให้ คสช.ตั้งพรรคใหม่ รากหญ้าจะมองว่าเมื่อได้อำนาจแล้ว จะเอื้อให้คนส่วนใหญ่ของประเทศอย่างไร? ดูทีท่าแล้วพรรคใหม่ที่ตั้งมาน่าจะทำเหมือนพรรคบางพรรค คือนำเอาพรรคนายทุนขนาดกลาง-เล็กมาร่วมเป็นรัฐบาล แล้วเอื้อชนชั้นรากหญ้าเต็มที่ เหมือนที่ พท.เคยทำ อย่างที่ คสช.กำลังทำอยู่ขณะนี้ คือบัตรคนจน รูดสินค้าได้ นั่นก็ประชานิยมเหมือนกัน การให้แบบนี้เหมือนหมอเลี้ยงไข้ คือให้แบบแบมือขอร่ำไปไม่มีทางตั้งตัวได้ ผู้ปกครองบ้านเมืองเมื่อจะสงเคราะห์คนจน ต้องสงเคราะห์ให้ตั้งตัวได้ ตามหลักธรรมที่ชื่อจักกวัตติวัตร ข้อที่ 4 ที่ตรัสไว้ในจักกวัตติสูตรว่า “พระเจ้าแผ่นดิน ต้องพระราชทานทรัพย์ให้คนยากจน แล้วตรัสสอนว่า เธอจงนำทรัพย์ที่ให้ไปนี้ ไปประกอบการงานอาชีพ แล้วเลี้ยงตัวเอง พ่อแม่ บุตรภรรยา ให้มีความสุขต่อไป”

การให้แบบนี้คือการให้แล้วตั้งตัวได้ไม่ต้องมาขออีก เหมือนอย่างที่พรรคการเมืองบางพรรคทำ คือช่วยให้ขายสินค้าได้ราคางาม ชนิดที่ไม่ต้องมาขอแล้วขออีก แต่ถึงพรรคการเมืองบางพรรคจะทำจนคนนิยมมากก็จริง ถึงกระนั้นก็ไม่กล้าแตะ ที่ดินของนักการเมืองที่มีที่ดิน เป็นพันไร่ หมื่นไร่ แสนไร่ มาให้ผู้ยากไร้ได้ ถ้าผู้มีอาวุธเป็นฐานอำนาจ จะตั้งพรรคใหม่ และอยากให้คนรากหญ้าพอใจ ต้องทำให้เกินพรรคบางพรรคทำ กล่าวคือ นำที่ดินของหน่วยราชการที่มีเป็นหมื่นไร่ แสนไร่ ล้านไร่มาให้คนยากไร้คนละ 50 ไร่ เท่านี้พวกเขา
ก็พอใจแล้ว รวมทั้งที่ดินของนักการเมือง นายทุนอื่นๆ อีกต้องนำมาปฏิรูปเช่นกัน ถ้าทำอย่างนี้ได้ ก็ควรจะตั้งพรรคใหม่ได้ อย่าทำเหมือนพรรคเดิมๆ ที่เขาเอื้อคนจนเต็มที่ แต่เขาเอื้อเพื่อให้คนจนเชิดให้เขามีอำนาจเท่านั้น ถึงคราวที่คนจนมีความสามารถเป็นนายกฯได้ เขาถามว่าคุณมีเงินไหม หมายความว่าคุณมีความสามารถจริง แต่คุณขาดเงิน จึงเป็นนายกฯไม่ได้

ชาวรากหญ้ายังมีมุมมองพรรคเดิมๆ อันเป็นพรรคของคนมีเงินอีกว่า ใช้ทรัพย์เป็นตัวนำให้ได้อำนาจเช่นกัน เมื่อได้อำนาจแล้ว ก็มีข่าวเรื่องการหาเศษหาเลยจากงบประมาณที่ตนตั้งโครงการไว้เหมือนกัน แต่สิ่งหนึ่งที่มักเกิดขึ้นในยุครัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง สิ่งนั้นคือผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น ไม่ว่าในเมืองหรือในชนบท เพราะการเลือกตั้ง ส.ส.ต้องขอคะแนนจากผู้มีอิทธิพล ผู้มีอิทธิพลแต่ละคนมักมีตำรวจเป็นลูกน้อง ถามว่าตำรวจมาเป็นลูกน้องผู้มีอิทธิพลได้อย่างไร ตอบว่ามาเป็นลูกน้องโดยวิธีที่เมื่อตำรวจอยากได้ตำแหน่ง แต่ไม่รู้จัก ส.ส.ก็ต้องเข้าหาผู้มีอิทธิพล ผู้มีอิทธิพลก็ฝากกับ ส.ส จากนั้น ส.ส.ก็ฝากกับรัฐมนตรีที่รับผิดชอบ เมื่อได้แล้ว ตำรวจผู้นั้นจึงต้องสำนึกในบุญคุณ บางครั้งยอมขับรถให้ผู้มีอิทธิพลก็มี ถ้าผู้มีอิทธิพลทำผิดกฎหมาย ตำรวจก็วางเฉย ต่อเมื่อเป็นข่าวขึ้นมาตำรวจจึงจะดำเนินการ หลายสิบปีมาแล้วผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นจัดงานศพญาติของตนในวัด แล้วนำบ่อนการพนันมาเล่นกันในวัดเลย พระท่านพูดขู่ว่าจะแจ้งตำรวจนะ ผู้มีอิทธิพลหัวเราะแล้วตอบแบบเย้ยหยันว่า นิมนต์ไปแจ้งความเลย พระท่านก็รู้ว่าผู้นี้คุ้นเคยกับตำรวจ ขืนแจ้งความไปก็เท่านั้น! มีข่าวว่า บางสมัยนักการเมืองก็ค้ายาเสพติดเพื่อเอาเงินมาหาเสียง ตำรวจก็คุ้มกันอย่างดี แล้วนักการเมืองแบบนี้ไปเป็นรัฐบาล บ้านเมืองจะเป็นอย่างไร ดังนั้นคนรากหญ้าจึงมองว่า ไม่ว่าคนมีอาวุธเป็นฐานอำนาจ หรือคนมีเงินเป็นฐานอำนาจ ล้วนขออำนาจคนรากหญ้าเพื่อขึ้นไปปกครองบ้านเมืองเพื่อตัวเองและเฉพาะกิจทั้งนั้น ถ้าได้ผู้นำดี บ้านเมืองก็เรียบร้อย ถ้าได้ผู้นำไม่ดี บ้านเมืองก็วุ่นวาย

ถามว่า การปกครองบ้านเมืองเฉพาะกิจคืออะไร? ตอบว่า ก็คือคนถืออาวุธตั้งพรรคการเมืองมาครองอำนาจชั่วคราว หรือชั่วที่ตนครองอำนาจอยู่ แต่ผลสุดท้ายก็ต้องยุบลง ตัวอย่างเช่น พรรคเสรีมนังคศิลา ของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ก็ต้องยุบลง เมื่อตัวหมดอำนาจ พรรคสหประชาไทย ของจอมพลถนอม กิตติขจร ก็ต้องยุบลง เมื่อตัวหมดอำนาจ พรรคสามัคคีธรรม ก็ต้องยุบลง เมื่อพลเอกสุจินดา หมดอำนาจลง ดังนั้นถ้าจะตั้งพรรคใหม่ก็ควรตั้งให้มั่นคงในระบอบประชาธิปไตยที่ชาวโลกเขายอมรับ ถามว่าจะทำโดยวิธีใด? ถ้าเราสังเกตรอบบ้านเราจะพบว่าประเทศที่ปกครองบ้านเมืองมีพรรคการเมืองพรรคเดียวจะไม่วุ่นวายมาก อย่างเช่น ประเทศจีน ลาว เวียดนาม แต่ถ้าเรารังเกียจว่าพรรคเดียวจะเป็นคอมมิวนิสต์ เราก็เอาพรรคเดียวแบบรวมพรรค ที่มาเลเซียเขาให้หลายพรรคมารวมกัน จัดตั้งรัฐบาล เรียกว่าพรรคอุมโน

จึงขอเสนอว่า ขอให้เกลี้ยกล่อมให้หลายพรรคเดิมๆ มารวมตัวกันตั้งรัฐบาลแห่งชาติ นี่คือการตั้งพรรคใหม่ ถ้าพรรคไหนไม่ยอมแล้วอ้างว่ารัฐบาลพรรคเดียว ไม่มีพรรคฝ่ายค้าน จะรวมหัวกันโกงกิน ก็อย่าเชื่อพรรคนั้น เพราะเป็นการอ้างเพื่อตัวเองจะเป็นรัฐบาลพรรคเดียว เพราะแม้จะมีพรรคฝ่ายค้าน นักการเมืองด้วยกันแม้จะเป็นฝ่ายค้าน ก็แอบมาหาเพื่อนที่พรรครัฐบาลของานประมูลงานนั้นงานนี้ แล้วก็ได้ไป หรือจะปฏิเสธว่าไม่มี! ดังนั้น ถ้าขอให้ช่วยชาติ โดยตั้งรัฐบาลแห่งชาติไม่ได้ คือนักการเมืองไม่ยอม ก็ขอให้ชาวไทยนึกถึงคำพูดของนายตำรวจใหญ่ที่พูดไว้ในขณะที่บ้านเมืองวุ่นวายว่า “บ้านเมืองไม่สงบทุกวันนี้ เพราะนักการเมืองไม่กี่คนนี่เอง!” !

นี่คือความจริง!

ถามว่า คนไทยจะมีพรรคการเมืองหลายพรรค เพื่อประชาชนจะได้เลือกเหมือนอารยประเทศไม่ได้หรือ ตอบว่า น่าจะได้ ถ้าไม่มีการยึดอำนาจกันเสียก่อน ปล่อยให้เป็นไปตามปกติของการเลือกตั้งจนเกิดความชิน แต่ที่มันเป็นไปไม่ได้ ก็น่าที่จะเป็นเพราะนิสัยคนไทยโดยรวม ที่ชาวต่างชาติเขาสรุปว่าคนไทยมีนิสัยขี้เกียจ ขี้อวด ขี้หมั่นไส้ และขี้อิจฉา โดยเฉพาะขี้อิจฉาทำลายทุกสิ่ง! ในเมื่อมีหลายพรรค ต่างก็แย่งกันทำผลงานใหญ่ๆ ฝ่ายค้านก็อิจฉา กลัวเขาจะได้หน้า ได้คะแนนมาก แล้วหาทางสกัดไม่ให้กระทำ พรรคการเมืองไทยไม่ว่าพรรคไหน พอเป็นฝ่ายค้านก็เป็นอย่างนี้ทั้งนั้น นี่คือความอิจฉาทำลายโลก!

ชนชั้นรากหญ้าแม้จะเห็นว่าชนชั้นปกครองและชนชั้นนายทุนกำลังแย่งกัน หาคะแนนจากชนชั้นรากหญ้า ด้วยการตั้งคำถามการตั้งพรรคใหม่และพรรคเก่า ทำนองว่าพรรคแบบไหนจะได้ประโยชน์มากกว่ากัน คนบางกลุ่มอาจให้ คสช.เป็นกลาง บางกลุ่มอาจจะให้ คสช.ตั้งพรรคใหม่ แต่คงไม่มีใครเสนอให้ตั้งพรรคเก่าๆ เป็นพรรครวมชาติ ตามที่เสนอมานี้แน่ แต่คนรากหญ้าบางกลุ่มเห็นว่า ทำแบบนี้รักษาพรรคเก่าได้ทุกพรรคและได้ใจเขาด้วย และก็เป็นการตั้งพรรคใหม่ด้วย แม้จะให้นายกฯคนเดิมเป็นนายกฯก็ไม่แปลก เพราะหลายพรรคก็มีท่าทีหนุนอยู่แล้ว คนเราแม้จะไม่ชอบกัน แต่ถ้าได้ไปทำงานส่วนรวมของชาติก็คงจะคุยกันได้ และนั่นคือแนวทางสามัคคี

เมื่อเป็นอย่างนี้จึงอยากจะยุไปเลยว่า ถ้าไม่ยอมกัน ก็ขอให้ใช้ ม.44 บังคับให้รวมกันสัก 5 ปี ทั้งนี้ เพื่อความปรองดองของประเทศไทย เพื่อความสงบสุขของปวงชนชาวไทย

กลิ่นบงกช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image