‘กองทัพ’ กับ ‘สังคม’ โดยปราปต์ บุนปาน

(แฟ้มภาพ) "ภคพงศ์ ตัญกาญจน์" หรือ น้องเมย

ข่าวคราวการพยายามเดินหน้าแสวงหาความกระจ่างหรือข้อเท็จจริงให้แก่การเสียชีวิตของนักเรียนเตรียมทหาร “ภคพงศ์ ตัญกาญจน์” หรือ “น้องเมย” โดยครอบครัว อันได้แก่ พ่อ แม่ และพี่สาว

นำไปสู่วิวาทะสำคัญในสังคม ซึ่งน่าเชื่อว่าแม้แต่รัฐบาล คสช. หรือผู้นำกองทัพเอง ก็คงคาดไม่ถึงว่ากระแสจะลุกลามออกมาในรูปนี้

ท่าทีของการพยายามเคลียร์ปัญหาหรือข้อค้างคาใจในช่วงแรกๆ จากคนในกองทัพ หรือผู้นำรัฐบาลที่เคยเป็นทหารเก่า ซึ่งนำไปสู่ความผิดหวัง แม้กระทั่งในหมู่ “คนกันเอง” หรือคนที่เชียร์บทบาทด้านอื่นๆ ของทหาร

ช่วยชี้ให้เห็นว่าสำหรับบางกรณี ตรรกะ-วิธีคิดของบุคลากรในค่ายทหาร/โรงเรียนทหาร ก็แตกต่างจากระบบเหตุผล-อารมณ์ความรู้สึกของประชาชนทั่วไป (โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนชั้นกลาง) อย่างสิ้นเชิง

Advertisement

ยิ่งยืนยันหนักแน่นในตรรกะ-วิธีคิดแบบหนึ่ง ก็จะยิ่งแปลกแยกจากความเป็นเหตุเป็นผล-อารมณ์อีกแบบหนึ่งมากขึ้นเท่านั้น

สภาพการณ์คลี่คลายตัวของสังคมการเมืองไทยในช่วงประมาณสิบปีที่ผ่านมา อาจทำให้บางคนบางฝ่ายเกิดความเชื่อว่า “กองทัพ” และ “สังคม” (พูดให้ถูก คือ คนกลุ่มหนึ่งในสังคม) มีความสัมพันธ์แนบแน่นเป็นเนื้อเดียวกัน

จนลืมไปว่า “ทหาร” กับ “ประชาชน” ใน “สังคม” ไม่ได้มีแง่มุมวิธีคิดหรือวิถีชีวิตที่สอดคล้องต้องกันเสียทุกเรื่อง

Advertisement

ความค้างคาใจของหลายคนในสังคมต่อกรณี “น้องเมย” คือผลลัพธ์ของความแตกต่างดังกล่าว

ประชาชนที่ต่อต้านรัฐบาลเลือกตั้งและนักการเมือง หรือผู้คนที่ยินดีกับรัฐประหารและเห็นว่ากองทัพเป็นองค์กรซึ่งมีคุณสมบัติเพียบพร้อมจะปกครองประเทศในช่วงเวลาคับขัน อาจไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับคำอธิบายที่ระบุว่านักเรียนเตรียมทหารคนหนึ่งได้เสียชีวิตลงตามกระบวนการ “ธำรงวินัย” อันเป็นวัฒนธรรมหรือความสัมพันธ์ทางอำนาจเฉพาะในกองทัพ

ประชาชนเหล่านั้นอาจไม่สามารถเข้าใจได้ ถึงขั้นตอนการจัดการอวัยวะของนักเรียนเตรียมทหารผู้เสียชีวิต ซึ่งไม่เปิดเผยชัดเจน ณ เบื้องต้น

นอกจากนี้ วิวาทะที่เพิ่งเกิดขึ้นยังอาจเผยให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันสลับซับซ้อนระหว่าง “กองทัพ” กับ “สังคม”

ถ้าการยก “ชุดเหตุผล-ตรรกะเฉพาะ” ภายในค่ายทหาร สามารถลดทอนกระแสวิพากษ์วิจารณ์กองทัพต่อกรณี “น้องเมย” ให้เบาบางหรือเงียบงันลงได้

นั่นก็หมายความว่าทหารมีศักยภาพที่จะนำสังคมอย่างเต็มรูปแบบ จนอาจปรับเปลี่ยนคนทั้งสังคมให้กลายเป็นกำลังพลในกองทัพได้หมด

แต่ถ้าการยืนกรานเช่นนั้น “ไม่เวิร์ก” ก็หมายความว่าในบางครั้งคราว คนในสังคมต่างหากที่จะเป็นฝ่ายนำหรือผู้กำหนดกระแส โดยมีกองทหารเป็นฝ่ายคล้อยตาม และจำต้องปรับตัวตามบรรทัดฐานของสังคม

ถ้าไม่เข้าใจสายสัมพันธ์อันละเอียดอ่อนและผันแปรได้เสมอตรงจุดนี้ให้ลึกซึ้ง “จุดร่วม” ระหว่างกองทัพและสังคมก็จะเบลอ ผิดกับ “จุดต่าง” ที่จะถูกย้ำชัด

ดังได้กล่าวไปแล้วว่า ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา บุคลากรในกองทัพอาจมั่นใจว่าตนเองมิได้มีความแปลกแยกจากสังคม หรืออย่างน้อยที่สุด ก็มิได้แปลกแยกจากกลุ่มคน/พลเรือน/เอกชนที่เข้าถึงทรัพยากรและอำนาจในสังคม

แต่ใช่ว่าความระหองระแหงอันเกิดจากวิธีคิด-วิถีปฏิบัติที่ผิดแผกกันระหว่างกองทัพกับคนกลุ่มนี้ จะไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเลยในประวัติศาสตร์การเมืองไทยร่วมสมัย

………………

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image