ความเหลื่อมล้ำ : โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

ปลายปี 2561 หรือต้นปี 2562 ผู้คนต่างฝากความหวังไว้กับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นตามสัญญาจะคืนความสุขให้ประชาชนอีกไม่นาน
การเลือกตั้งกลายเป็นเครื่องจักรอีกตัวที่จะช่วยตัวกระตุ้นให้เศรษฐกิจรุ่งเรือง คนยากคนจน คนไร้ที่ทำกินจะลืมตาอ้าปาก รายได้ปานกลางจะค่อยๆ ขยับเป็นรายได้สูงตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่วางไว้ ว่ากันทำนองนั้น

ทั้งๆ ที่ความหมายของการเลือกตั้งลึกซึ้งยิ่งกว่าแค่การเป็นเครื่องมือทางเศรษฐกิจเท่านั้น

ขณะที่พรรคการเมืองเรียกร้องให้เร่งปลดล็อก ให้ทำกิจกรรมทางการเมืองได้โดยเร็ว ยังไม่ได้รับการขานรับอย่างเป็นจริงเป็นจัง ด้วยเหตุผลเพียงว่าทุกอย่างยังไม่เข้าที่ เกรงจะเกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นอีกก่อนถึงเวลาอันควร

กรณีนี้จึงเป็นภาพความย้อนแย้งที่เห็นชัด ยังดำรงอยู่ ทำนองเดียวกันกับความย้อนแย้งของการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ตามร่างยุทธศาสตร์ชาติประการที่ 4 การสร้างโอกาส ความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางสังคม รายละเอียดประกอบด้วย ลดความเหลื่อมล้ำ โอกาสเข้าถึงบริการของรัฐ แก้ปัญหาเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ/สังคม

Advertisement

ขณะที่ความเป็นจริงของชีวิตและสังคม ความเหลื่อมล้ำมีทุกด้านไม่แต่เฉพาะเศรษฐกิจ ยังรวมถึงความเหลื่อมล้ำที่สำคัญและมีผลอย่างกว้างขวาง คือความเหลื่อมล้ำทางการเมือง ซึ่งร่างยุทธศาสตร์ไม่ได้กล่าวถึงจะแก้อย่างไร เมื่อไหร่

ความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรมทางการเมือง หากไม่ได้รับการแก้ไข การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นก็ไม่มีหลักประกันว่าทุกอย่างจะราบรื่น สงบราบคาบ เรียบร้อย ความขัดแย้งไม่กลับคืนมาอีก

เพราะความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมจากกฎ กติกาที่ถูกกำหนดขึ้นเป็นเครื่องมือเอื้อประโยชน์ให้กับอีกฝ่ายหนึ่งมีโอกาสเข้าสู่อำนาจได้สะดวกง่ายดายกว่า มั่นคงแข็งแรงกว่า เพราะมีตัวช่วยมาจากการคัดเลือกขึ้นมาเอง

Advertisement

ข้ออ้างที่ยกมาเป็นเหตุผลรองรับการกำหนดกฎ กติกา ก็คือ ประชาชนต้องการเช่นนี้ เป็นผลจากการลงประชามติรัฐธรรมนูญ 2560 ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งยังโต้แย้งว่า กระบวนการจัดทำประชามติไม่เป็นธรรม ไม่เปิดกว้างให้ฝ่ายเห็นต่างได้แสดงเหตุผล ข้อด้อยได้เต็มที่ ต่างกับฝ่ายนำเสนอข้อดีเป็นหลัก

เหตุนี้เองจึงทำให้เกิดความคิดข้อเสนอจากอีกฝ่ายว่า หากได้รับความไว้วางใจในการเลือกตั้ง การให้มีการทบทวนการลงประชามติรัฐธรรมนูญ 2560 ใหม่จึงเป็นความชอบธรรม สมเหตุสมผล แค่นี้ก็เห็นเค้าลางความร้อนแรงปรากฏแล้ว

เพราะบทบัญญัติที่เขียนไว้เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปได้ยาก ประเด็นนี้จึงอาจนำมาสู่การเผชิญหน้ากันอีกครั้ง

ทํานองเดียวกับสถานการณ์สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ยุบสภาแล้วจัดให้มีการเลือกตั้ง เกิดการต่อต้าน คัดค้าน ขัดขวางไม่ยอมรับด้วยเหตุผลที่ว่าเลือกตั้งภายใต้เงื่อนไข กฎกติกาเดิมก็ไม่มีความหมาย ควรแก้ไขกติกาเสียใหม่ให้เป็นธรรมเสียก่อน
แต่เมื่อการกำหนดกฎกติกา รัฐธรรมนูญออกมาใหม่ อีกฝ่ายหนึ่งก็โต้แย้งทำนองเดียวกันว่า บทบัญญัติที่เขียนไว้ไม่เป็นธรรม มีความเหลื่อมล้ำ ให้ฝ่ายหนึ่งได้เปรียบอีกฝ่ายหนึ่ง การเรียกร้องให้ทบทวนใหม่จึงเกิดขึ้นอีก จะเป็นชนวนนำความขัดแย้งใหม่อีกรอบ

และแม้ว่าฝ่ายหนึ่งสามารถรักษาอำนาจ เข้าสู่อำนาจได้ แต่เมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์
ที่ไม่เคยประสบมาก่อน เป็นต้นว่า ถูกรุมตำหนิในที่ประชุมสภาว่าได้อำนาจมาจากการเขียนกติกา เอาเปรียบคนอื่น จะรู้สึกอย่างไร ทนไหวหรือไม่

สมมุติเหตุการณ์ที่ว่ามานี้้มีต้นเหตุมาจากความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรมทางการเมือง ไม่ได้ถูกแก้ไขไปในระนาบเดียวกับการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ

ฉะนั้น ดุลยภาพทางการเมืองกับเศรษฐกิจ สังคมเท่านั้นที่จะเป็นหลักประกันว่า การก้าวไปสู่ความรุ่งเรืองงอกงามของสังคมไทยภายหลังการเลือกตั้งจะเกิดความยั่งยืน

หากเอนเอียงไปทางใดทางหนึ่งมากไป ความสงบเรียบร้อยก็มิอาจเกิดขึ้นได้

เช่นเดียวกัน ในทางเศรษฐกิจ สังคม หากดุลยภาพระหว่างคนมีกับคนไม่มี การขยายตัวกับความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำยังไม่เป็นจริง การกระจายรายได้ กับการกระจายอำนาจยังสวนทางกัน คำขวัญ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนที่วางไว้และหวังก็คงอีกนาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image