คำตอบของมารีญา โดย ชุมฉันท์ ชำนิประศาสน์

แฟ้มภาพ

ประเด็นดีที่งอกจากการประกวดนางงามจักรวาล “มิสยูนิเวิร์ส” ครั้งล่าสุดคือการพูดคุยถกเถียงกันเรื่องคำถาม-คำตอบบนเวที ซึ่งตัวแทนจากไทย มารีญา พูนเลิศลาภ เจอคำถามในหัวข้อ Social Movement-ความเคลื่อนไหวทางสังคม

มารีญาพูดถึงเรื่องการลงทุนด้านทรัพยากรมนุษย์ แม้ว่าสังคมที่เผชิญอยู่ตอนนี้เป็นสังคมผู้สูงอายุ แต่ต้องลงทุนกับคนรุ่นใหม่เพื่อให้ไปสร้างความเปลี่ยนแปลงสังคม

คำตอบนี้ผู้ฟังหลายคนชมว่าตอบดีมาก บางคนเห็นว่าดีปานกลาง ไม่ได้ตอบผิดอะไร ขณะที่หลายคนเห็นว่า ไม่เปรี้ยงจนทำให้หยุดอยู่ที่รอบ 5 คนสุดท้าย

การไม่ได้มงกุฎแทบเป็นเรื่องธรรมดา เพราะคนมาประกวดมีตั้ง 92 คน และคนที่กองประกวดจะเลือกใช้ทำกิจกรรมด้านสังคมและธุรกิจนั้นมีคนเดียว

Advertisement

มิสไทยแลนด์ที่เคยได้เป็นนางงามจักรวาลก็อยู่ในยุคที่การเมืองและธุรกิจของอเมริกากับไทยลงตัวกันพอดี ทั้งในยุคที่มาตั้งฐานทัพรบสงครามเวียดนาม และในยุคทุนนิยมโลกาภิวัตน์กำลังอู้ฟู่

ส่วนเรื่องความสวยความงามเป็นเรื่องรสนิยม นางงามแต่ละคนสวยและมีเสน่ห์ในแบบฉบับของตัวเอง อย่างที่ผู้ชมเห็นบนเวทีรอบ 5 คนสุดท้าย จริงๆ แล้วใครครองมงกุฎก็เหมาะสมทั้งนั้น

เพียงแต่สาวแอฟริกาใต้ เดมี-ลีห์ เนล ปีเตอร์ส ตอบเรื่องค่าจ้างผู้หญิงไม่เท่าเทียมกับผู้ชาย เป็นประเด็นที่สังคมตะวันตกถกเถียงกันมาพักใหญ่ เฉพาะในวงการบันเทิงก็แสดงตัวเลขเด่นชัดว่า นักแสดงชายได้ค่าตัวสูงกว่านักแสดงหญิงมาก

Advertisement

ดังนั้น คำตอบที่มีกลุ่มเป้าหมายกว้าง หรือเป็นแมส ทำให้เข้าใจง่ายและถูกใจได้ง่าย

ในขณะที่คำถามเรื่อง Social Movement หรือการเคลื่อนไหวทางสังคม องค์กรแอมเนสตี้ ประเทศไทย อธิบายความหมายว่าเป็นปฏิบัติการของกลุ่มคนที่มีเป้าหมายเดียวกัน คือต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมที่พวกเขาอาศัยอยู่ในประเด็นต่างๆ เช่น การเมือง สิ่งแวดล้อม เชื้อชาติ สิทธิผู้หญิง สิทธิคนข้ามเพศ โรคเอดส์ คนพิการ ฯลฯ

ส่วนศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรให้ข้อมูลว่า การเคลื่อนไหวทางสังคมบางประเด็นมีต้นกำเนิดในโลกตะวันตก เช่น สิทธิและความเท่าเทียมของผู้หญิง การแต่งงานของคนเพศเดียวกัน แต่บางเรื่องก็มาจากโลกตะวันออก เช่น หลักการไม่ใช้ความรุนแรง (อหิงสา) ของมหาตมะ คานธี

หากมารีญาตอบเรื่องที่ตรงกับใจของชาวตะวันตกก็อาจทำให้เข้าไปรอบลึกกว่านี้ แต่คำตอบของมารีญาก็ไม่น่าถูกมองข้าม โดยเฉพาะเรื่องการลงทุนด้านทรัพยากรมนุษย์ที่บ้านเรายังไม่เห็นเด่นชัด

ในด้านสาธารณสุขยังต้องพึ่งพี่ตูนออกไปวิ่งระดมทุนและรณรงค์ให้สังคมตระหนักถึงสวัสดิการด้านสุขภาพ ส่วนด้านการศึกษายิ่งชัดเจนว่า เรามีนักเรียนที่ไปกวาดเหรียญโอลิมปิกวิชาการทุกปี แต่อีกจำนวนมากสื่อสารภาษาอังกฤษไม่ได้แบบมารีญา

หรือเมื่อใดก็ตามที่เราเด็กหรือเยาวชนกล้าออกมาแสดงความคิด หรือแสดงออกทางการเมือง ก็จะถูกตำหนิแรงๆ หรือใส่ร้ายว่ามีคนอยู่เบื้องหลัง จำเป็นต้องอดทนอยู่ในสภาพที่ประชาธิปไตยถูกกดและบิดเบือน

คำตอบของมารีญาจึงสะท้อนว่าเรื่องนี้สำคัญจริงๆ

……………

ชุมฉันท์ ชำนิประศาสน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image