เปิดปูม “แรง” “พระวีระธุ” จากพม่าสู่ไทย

เป็นข่าวเกรียวกราวไปทั่วโลก เมื่อ “องค์การยุวพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก” ของประเทศไทย มอบรางวัล “ผู้นำพุทธศาสนิกชนดีเด่น” (World Buddhist Outstanding Leader) ให้แก่ 40 องค์กร/พระสงฆ์/ฆราวาสทั่วโลก โดย 1 ในองค์กรที่ได้รับรางวัล คือ “มะบะธะ (Ma Ba Tha)” ผู้ที่เดินทางมารับรางวัลซึ่งจัดพิธีมอบกันที่วัดพระธรรมกาย เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นอกจากจะมี “พระภัททันตะ ติโลกาภิวังสา” ประธานมะบะธะ กับ “พระโตปกา” ประธานคณะกรรมการกลางของมะบะธะ ยังมี “พระวีระธุ” แกนนำคนดังขององค์กรจัดตั้งของสงฆ์พม่าแห่งนี้รวมอยู่ด้วย

นพ.พรชัย พิญญพงษ์ ประธานองค์การยุวพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก อธิบายถึงรางวัลนี้ว่าได้คัดสรรองค์กร พระสงฆ์ และฆราวาสทั่วโลก ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นบุคคลตัวอย่างทางด้านศาสนามารับรางวัล เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจในการทำงานเพื่อพระพุทธศาสนา กรณีพระวีระธุยืนยันว่าไม่ได้มอบให้โดยตรง แต่มอบให้องค์กรสันติภาพมะบะธะในพม่าที่ท่านสังกัด โดยมอบให้ในฐานะมีผลงาน ดังนี้ 1.ช่วยเหลือด้านสาธารณสงเคราะห์ โดยช่วยเหลือชาวพม่าช่วงน้ำท่วม 2.ช่วยเหลือสตรีที่ถูกทำร้าย 3.สร้างโรงเรียนสอนธรรมะให้เยาวชน 4.รณรงค์อนุรักษ์เจดีย์ชเวดากอง และ 5.ผลักดันกฎหมายปกป้องสิทธิสตรี โดยมีพระภัททันตะ ติโลกาภิวังสา ประธานองค์กรสันติภาพ มะบะธะ เดินทางมารับรางวัลด้วยตนเอง

กระแสวิพากษ์วิจารณ์เกิดขึ้นเพราะมะบะธะมีพระวีระธุเป็นแกนนำจัดตั้งคนสำคัญ ซึ่งในสายตาขององค์กรสิทธิมนุษยชนมองว่าเป็นผู้นำพุทธหัวรุนแรงในพม่า อย่างหนังสือพิมพ์ “เมียนมาไทม์ส” ที่รายงานข่าวโดย ออง จอ มิน เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แสดงความแปลกใจว่า “มะบะธะ” ถูกระบุไว้ใน “รางวัล” ว่าเป็น “องค์กรเพื่อสันติภาพ” ทั้งที่ก่อนหน้านี้มีการกล่าวหามากมายว่าเป็นผู้ก่อให้เกิดความขัดแย้งในชุมชนและเป็นผู้สร้างความรังเกียจ เลือกปฏิบัติต่อศาสนาอื่น
เมียนมาไทม์สยังระบุด้วยว่า “มะบะธะ” หรือที่รู้จักกันดีในชื่อเต็ม “คณะกรรมการเพื่อการปกป้องชาติและศาสนา” เป็นองค์กรจัดตั้งของสงฆ์พม่าที่เคลื่อนไหวทางการเมืองสูงมากเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา จนเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก

การได้รับรางวัล “ผู้นำพุทธศาสนิกชนดีเด่น” จึงทำให้หลายคนแปลกใจ

Advertisement

เมียนมาไทม์สระบุด้วยว่า แนวทางเคลื่อนไหวของ “พระวีระธุ” และ “มะบะธะ” เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมาโดยตลอด และจัดอยู่ในแนวทางรุนแรงชนิดที่ทำให้พระวีระธุถูกเรียกขานว่า “บินลาเดนพม่า” อันเป็นฉายาที่พระวีระธุเองยินดีรับมาอย่างเต็มใจ จนถึงกับบอกในการให้สัมภาษณ์กับนิวยอร์ก ไทมส์ ครั้งหนึ่งว่า

“ฉันภูมิใจที่ถูกเรียกว่าเป็นคนพุทธหัวรุนแรง”

เพนนี กรีน ผู้อำนวยการศูนย์วิชาการนานาชาติว่าด้วยความคิดริเริ่มเพื่อตรวจสอบอาชญากรรมของรัฐ (ไอเอสซีไอ) ของมหาวิทยาลัยควีนแมรี แห่งลอนดอน ประเทศอังกฤษ กล่าวถึงพระวีระธุว่าเป็นผู้แสดงบทบาทหลักในการสร้างความหวาดกลัว ความหวาดระแวงต่อศาสนาอื่นในพม่า โดยอาศัย “คำเทศนาแห่งความเกลียดชัง”

ชื่อ “วีระธุ ภิกขุ” โด่งดังมาจากเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นต่อศาสนาหนึ่ง จนได้รับการขนานนามให้เป็น “ผู้นำจิตวิญญาณ” ของขบวนการพุทธศาสนาสุดโต่ง ที่เรียกตัวเองว่า “ขบวนการ 969” อันเป็นขบวนการชาตินิยมต่อต้านศาสนาที่แตกต่าง ที่มีบทบาทมาตั้งแต่ปี 2544 การเข้าไปพัวพันกับขบวนการดังกล่าว ทำให้พระวีระธุถูกจับกุมคุมขังในปี 2546 ก่อนได้รับอิสรภาพในอีก 9 ปีต่อมา ภายใต้โครงการนิรโทษกรรมครั้งใหญ่ของรัฐบาล

หลังจากนั้นพระวีระธุออกเดินทางไปทั่วประเทศ เทศนาสั่งสอนแนวความเชื่อของตนเอง พร้อมทั้งแจก “ดีวีดี” ที่บรรจุคำสอนตามแนวคิดของตนเองออกไปในวงกว้าง และเริ่มหันมาเผยแพร่แนวคิดสุดโต่งของตนเองผ่านนิวมีเดีย

รายงานของบีบีซีบอกว่า มีตั้งแต่คลิปวิดีโอคำสอนบนยูทูบ รวมถึงผ่านเฟซบุ๊กที่มีผู้ติดตามมากกว่า 37,000 คน

ประเด็นน่าสนใจก็คือ ในปี 2555 ปีเดียวกับการระดมเผยแพร่แนวความคิดของพระวีระธุ มีเหตุการณ์จลาจลครั้งใหญ่ในรัฐยะไข่ ผู้นับถืออีกศาสนาตกเป็นเหยื่อการไล่ล่า

ในรายงานของเมียนมาไทม์สยังอ้างคำของพระวีระธุ ยืนยันว่าทุกอย่างที่ทำลงไปเพื่อ “ป้องกันประเทศพม่า” จาก “ศัตรูสำคัญ” โดยระบุว่า “ศาสนาดังกล่าวส่วนใหญ่ทำลายประเทศ ทำลายคนของเรา และพุทธศาสนาของเรา”

ครั้งหนึ่งพระรูปนี้ยังให้สัมภาษณ์นิตยสารไทม์ว่า “ศาสนาดังกล่าวเป็นภัยคุกคามต่อทั้งประเทศชาติและวัฒนธรรมของพม่า…ฯลฯ”

หรือคำเทศนาที่ดุเดือดอย่าง “นี่ไม่ใช่เวลาที่เราจะมานั่งสงบเสงี่ยม…นี่คือเวลาที่ต้องลุกขึ้นสู้ เวลาที่ต้องปลุกเร้าเลือดของเราให้เดือดพล่าน”

แนวคิดดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากจากผู้นำศาสนาพุทธในระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “องค์ทะไล ลามะ” ซึ่งบอกไว้ชัดเจนว่า การอาศัยศาสนาพุทธไปเป็นเครื่องมือในการ “ฆ่าคน” นั้น แม้แต่ในจินตนาการ ยังจินตนาการไปไม่ถึง

ขณะที่ “ลลิตา หาญวงษ์” อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส) ระบุว่า เข้าใจว่าองค์กรทางศาสนาที่จัดงาน ไม่ได้ตระหนักถึงความบอบบางของชื่อเสียงของพระวีระธุว่า สำหรับองค์กรสิทธิมนุษยชนโลกแล้ว พระวีระธุเป็นพระที่ใช้ความรุนแรงกับศาสนาอื่น พระวีระธุมีชื่อด้านพระนักเทศน์และสังคมจับตามองเมื่อมีประเด็นโรฮีนจาในปี ค.ศ.2012 โดยมีบทบาทบอกให้สังคมชาวพุทธตอบโต้ศาสนาอื่น และมีภาพล็อบบี้ยิสต์ด้วย ในปีที่ผ่านมาองค์กร

มะบะธะได้เสนอกฎหมายหลายฉบับเข้าสภา และ 1 ในกฎหมายที่ผ่านสภาคือการห้ามคนต่างศาสนาแต่งงานกัน ก่อนแต่ง ต้องมีใบรับรองว่าทั้งสองฝ่ายเป็นศาสนาเดียวกัน ถึงจะแต่งงาน จดทะเบียน กันได้

ด้าน “สมฤทธิ์ ลือชัย” นักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และพุทธศาสนา กล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่าวิตกที่วัดบางแห่งและองค์กรทางศาสนาของไทยไปรองรับความรุนแรงในพม่า ทั้งที่ควรจะต่อต้านด้วยซ้ำ เรื่องนี้วิเคราะห์ได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันให้พุทธศาสนาถูกบัญญัติเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญ ทั้งที่เรื่องรัฐและศาสนาควรแยกจากกัน

ขณะที่ทั่วโลกรับรู้ตัวตนของพระวีระธุและองค์กรมะบะธะ แต่องค์กรทางศาสนาของไทยมีีท่าทีแตกต่างออกไป

กระทั่งกลายเป็นเรื่องเป็นราววิพากษ์วิจารณ์กันขึ้นมา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image