คุณภาพคือความอยู่รอด ตอน รู้ไปหมดทุกเรื่อง : โดย วิฑูรย์ สิมะโชคดี

เพื่อนๆ ผมหลายคน บ่นอยากจะใช้เครื่องจักรอัตโนมัติแทนคน เพราะคนทำงานผิดพลาดบ่อยๆ ทำให้ต้นทุนการผลิตสูง ต้องขายของแพง สู้คู่แข่งไม่ได้

เมื่อถามว่า “อยากได้คนประเภทไหนมาทำงานด้วย” เขาตอบอย่างรวดเร็วโดยไม่คิดเลยว่า “คนที่มีคุณภาพ” แล้วถอนหายใจเฮือกใหญ่

เรื่องทำนองนี้มักอยู่ในใจของผู้บริหาร ซึ่งพูดกันง่าย แต่เอาเข้าจริง คงหาคนที่มีคุณภาพไม่ง่ายอย่างที่คิด

ในทรรศนะของผมแล้ว ผมว่า “คนที่มีคุณภาพ” ต้องมีคุณสมบัติเบื้องต้นของ “คนที่รักการเรียนรู้” และเป็นคนที่มีความรักในการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง โดยเรียนรู้ได้เร็วและปรับปรุงจากข้อบกพร่องหรือข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น เพื่อให้งานดีขึ้นๆ ไม่ใช่ผิดซ้ำซากเพราะไม่ยอมเรียนรู้เลย

Advertisement

คนที่รักการเรียนรู้ มักจะเป็นคนที่มีความสามารถในการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องในตัวเองด้วย

ประสบการณ์สอนผมว่า คนที่น่าเป็นห่วงที่สุดในทุกองค์กรก็คือคนที่ไม่มีใครอยากได้ ซึ่งเป็นคนประเภทที่ชอบพูดคำว่า “รู้แล้ว รู้แล้ว” จนติดปาก อยากอยู่อยากทำงานแบบเดิมๆ เพราะคนพวกนี้ มักไม่ยอมเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ เลย และไม่ค่อยยอมปรับปรุงตนเองหรือปรับปรุงงานให้ดีขึ้น

พนักงานประเภทที่ชอบพูดว่า “รู้แล้ว” จนติดปาก มักจะบอกว่ารู้แล้วไปหมดทุกเรื่องที่จำเป็นต่อการทำงาน (ทั้งที่ไม่รู้จริง)

“การรู้แล้ว” ทำให้พนักงานปิดกั้นความรู้ใหม่ๆ ข่าวสารข้อมูลใหม่ๆ หรือประสบการณ์ใหม่ๆ ซึ่งแสดงถึงความไม่ต้องการเรียนรู้อะไรใหม่ๆ เพิ่มเติม (รวมทั้งเรื่องที่เคยรู้แต่ลืมไปแล้วด้วย)

คนที่ชอบพูดว่า “รู้แล้ว” จึงเป็นคนที่มีโลกทัศน์แคบ บางครั้งยังไม่ทันฟังอะไรจบด้วยซ้ำไป รีบพูดตัดบทเลยว่า “รู้แล้ว” ก็เลยไม่รู้เรื่องที่ควรจะรู้

หลายครั้งที่พบว่า ไม่เพียงแต่พนักงานเท่านั้นที่ใช้คำว่า “รู้แล้ว” เป็นข้ออ้าง เพราะมีหัวหน้างาน และผู้บริหารระดับต่างๆ ก็มักจะอ้างว่ารู้แล้วในเรื่องหนึ่งเรื่องใด เพื่อจะได้ไม่ต้องเรียนรู้หรือศึกษาเพิ่มเติม หรือใช้เป็นข้ออ้าง เพื่อจะได้ไม่ต้องคิด ไม่ต้องทำ เพื่อจะได้ไม่ต้องเหนื่อย ไม่ต้องลำบากหรือจะพูดง่ายๆ ว่าขี้เกียจก็ได้

บ่อยครั้งที่เราบอกว่า เรื่องนั้นเรื่องนี้รู้ดีแล้ว คือถ้ารู้ดีแล้ว ก็ต้องทำให้ตลอดรอดฝั่ง แต่พอเอาเข้าจริงๆ ก็มีปัญหา การมีปัญหาและทำไม่สำเร็จทั้งที่ปากบอกว่ารู้แล้ว แสดงว่า “รู้ไม่จริง” จึงทำไม่ได้ผล

องค์กรใดๆ ที่มีพนักงานหรือผู้บริหาร “รู้แล้ว” มากๆ องค์กรนั้นๆ ก็จะพัฒนาหรือปรับปรุงได้ยาก เพราะบรรยากาศของ “การเรียนรู้” ไม่เกิดขึ้น ทักษะความชำนาญต่างๆ ก็จะมีจำกัด ความสามารถในการแข่งขันขององค์กรก็จะลดน้อยลงไปเรื่อยๆ ครับผม !

วิฑูรย์ สิมะโชคดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image