เพศไม่พึงศึกษา โดย กล้า สมุทวณิช

ที่มาภาพ:www.thaihealth.or.th

สองเรื่องเล็กๆ ที่เป็นกระแสในเครือข่ายสังคมออนไลน์ในเวลาใกล้ๆ กัน คล้ายว่าไม่เกี่ยวข้องกัน ความรู้สึกในการแชร์ก็คนละอารมณ์กัน แต่อันที่จริงมีความสัมพันธ์กันในภาพใหญ่เดียวกัน

เรื่องแรก คือการแชร์ภาพการ์ตูนน่ารักแบบเดียวกับที่เราได้เห็นในหนังสือนิทานเด็ก รูปเด็กผู้ชายเปิดกางเกงตัวเอง พร้อมคำโปรยว่า “ป๋องแป๋งอยากรู้มีจู๋ทำไม”

ภาพจากนิทานเรื่องดังกล่าวถูกแชร์ไปในทางล้อเลียนว่า นี่หรือนิทานเด็ก มีนิทานแบบนี้ให้เด็กๆ อ่านด้วยหรือ ก่อนที่ในที่สุดก็มีผู้มาเฉลยว่า ภาพดังกล่าวมาจากนิทานสอนเพศศึกษาอย่างน่ารัก ง่าย ตรงไปตรงมาสำหรับเด็กวัยสนใจใคร่รู้ เขียนเรื่องโดยคุณ “สองขา” นักเขียนนิทานเด็กชื่อดังและผู้ชนะเลิศรางวัลชนะเลิศเรื่องสั้นมติชนปี 2556

เรื่องต่อมา เป็นภาพและเรื่องของเด็กหญิงคนหนึ่งที่ตั้งครรภ์ในวัยเรียน แต่เธอยังคงพยายามอุ้มท้องไปเรียนจนวันสุดท้ายของการศึกษา

Advertisement

เกิดเป็นข้อถกเถียงของคนสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งก็ว่าเป็นภาพแสดงของศีลธรรมอันดีที่เสียแล้ว น่ากลัวว่าจะเป็นค่านิยมใหม่ให้คนทำตาม อีกฝ่ายที่พอจะยอมรับว่าอะไรเกิดขึ้นแล้วดีเสมอ ก็มองว่าเป็นภาพอันงดงามของความพยายามในการสู้ชีวิตของเด็กหญิงที่การตั้งครรภ์นั้นอาจจะเป็นความผิดพลาด แต่เธอก็พยายามประคองชีวิตของตัวเองและชีวิตที่จะเกิดใหม่อย่างดีที่สุด

ในขณะที่ฝ่ายที่เชื่อในทางเลือกของการยุติการตั้งครรภ์ (Pro-choice) ก็มองไปในทางที่ว่า จะดีกว่าหรือไม่ ถ้าเด็กหญิงสามารถยุติการตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมได้ เพราะการรักษาชีวิตเด็กไว้อาจจะงดงาม แต่สิ่งที่จะตามมา ปัญหาภาระที่คุณแม่วัยรุ่นจะได้รับนั้น มันไม่งดงามดังโลกอ่อนหวานสีชมพูขลิบลายตุ๊กตาหมีดังภาพฝันในหนังสือแม่และเด็ก ทั้งปัญหาของเยาวชนส่วนใหญ่นั้นเกิดจากเด็กที่พ่อแม่ตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมอย่างมีนัยสำคัญ

สองเรื่องนี้สะท้อนภาพใหญ่ภาพเดียวกันคือ สภาวะลับเร้นของการจัดการเรื่อง “เพศศึกษา” ในสังคมไทย

Advertisement

การพูดจาในเรื่องเพศในสังคมไทยนั้นเป็นไปด้วยความขวยอายอ้อมค้อม กว่าที่เราจะยอมรับว่า “เพศศึกษา” เป็นเรื่องที่จะต้องสอนกันในโรงเรียนอย่างเป็นระบบ ไม่ใช่รอให้พ่อแม่ใครใคร่สอนกันไปตามวิธีการและความเชื่อก็นานโข (ก่อนหน้านั้นก็ต้องขอบคุณ “หมอนพพร” ที่ทำให้เราทราบว่าเด็กไม่ได้คลอดออกมาทางสะดือ)

และกระนั้น “เพศศึกษา” ที่สอนในโรงเรียนก็มักจะอยู่ในมิติเพียงการจัดการกับความเปลี่ยนแปลงทางกาย เช่น การมีประจำเดือน ฝันเปียก หรือความเปลี่ยนแปลงทางอวัยวะอื่นๆ แต่ก็ยังอ้อมค้อมกับเรื่องความต้องการตามธรรมชาติที่เจริญเติบโตมาพร้อมกัน แบบเรียนต่างๆ เหล่านั้นจะใช้วิธีอธิบายแบบหลบเลี่ยง และซ้ำร้าย แม้เพียงเรื่องเพศศึกษาเท่าที่ในแบบเรียนที่ว่าคัดมาแต่ที่ “สะอาด” แล้ว ก็ยังมีคุณครูบางท่านก็เหนียมอายที่จะสอน บ้างอาจจะถึงกับข้ามบทนั้นไปให้นักเรียนไปอ่านเอาเอง

และในการจัดการกับ “อารมณ์ทางเพศ” ในแบบเรียนถ้าจะมีเขียนไว้ ก็จะแนะนำให้ใช้วิธีการ “หาทางลด” ไม่ใช่การระบายออก ครั้งหนึ่งเคยมีแบบเรียน “ใจกล้า” เล่มหนึ่งพยายามสื่อสารแบบอ้อมๆ ถึงวิธีการระบายออกด้วยภาพการ์ตูนกิจกรรมที่เป็นสำนวนแทนกิจกรรมที่วัยรุ่นเห็นก็จะพอเข้าใจได้โดยไม่ต้องอธิบายให้แจ่มแจ้งกว่านั้น หากก็ปรากฏว่าถูกทักท้วงวุ่นวายจากนักศีลธรรมอันดีจนต้องเก็บออกไป จากนั้นบทเรียนเพศศึกษาไม่ว่าจะเขียนในยุคใด พ.ศ.ใด ก็จะให้คำแนะนำ คือการแนะนำให้ไปเล่นกีฬา เช่นเตะฟุตบอลให้เหนื่อยๆ เพื่อลดอารมณ์ทางเพศ ออกเป็นข้อสอบ O-NET ให้ฮือฮากันว่า ผ่านไปร่วมสามสิบปีแล้ว แต่ “การศึกษาอย่างเป็นทางการ” ของไทยก็ยังสั่งสอนกันอยู่ว่ากีฬาเป็นยาวิเศษ แก้กองกิเลสไปยันตัณหากามารมณ์

เราไม่ยอมรับให้จัดการกับอารมณ์ใคร่ตามธรรมชาติให้ยุติแบบตรงไปตรงมา การ “ระบายออก” ด้วยตนเองนั้นอาจจะไม่ใช่เรื่องที่เอาผิดกัน แต่ก็ไม่ได้รับการสนับสนุนด้าน “ตัวช่วย” ด้วยสื่อลามกนั้นถือเป็นสิ่งผิดกฎหมายในประเทศไทย ICT ไล่ปิด นิยายวัยรุ่นที่มีฉากวาบหวิวที่มีเพียงตัวอักษร (ที่อาจจะพอช่วยวัยรุ่นสาวๆ “จิ้น” ได้บ้าง) ก็เคยถูกล้อมจับปรับยึดกลางงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติมาแล้ว

และถ้าระบายออกแบบมี “คู่” นั้นยิ่งเป็นเรื่องต้องห้ามร้ายแรงสำหรับวัยรุ่น ลำพังแค่ถ้าถูกจับได้ว่ามีคู่คบหากันฉันชู้สาว ก็เป็นความผิดสถานหนักตามระเบียบของโรงเรียนเทียบเท่าการพกพาอาวุธมาก่อเหตุวิวาท ทั้งไม่ต้องพูดถึงเรื่องการสนับสนุนให้เรียนรู้และป้องกันการตั้งครรภ์ เพราะเพียงการตั้งตู้ขายถุงยางอนามัยในโรงเรียนที่เคยมีผู้เสนอมาก็ถูกต่อต้านให้ตกไปแทบทันที เพราะศีลธรรมอันดีของเรายอมรับไม่ได้ว่าเด็กในโรงเรียนมีกิจกรรมอันจำเป็นต้องใช้ของอย่างนั้น เมื่อเกิดความผิดพลาดถึงตั้งครรภ์โดยไม่พึงประสงค์สถานการณ์ก็จะแย่ลงไปอีก ด้วยระเบียบของสถานศึกษาส่วนใหญ่จะถือว่าการตั้งครรภ์เป็นเหตุหนึ่งให้พ้นสภาพความเป็นนักเรียนนักศึกษา

เพื่อตอกย้ำบทลงโทษทางศีลธรรมว่า “ท้องในวัยเรียน เรียนไม่จบ หมดอนาคต” ทั้งๆ ที่ “อนาคต” ในที่นี้หาใช่เพียงอนาคตของคุณแม่วัยรุ่น แต่ยังหมายถึง “อนาคต” ของเด็กที่จะเกิดมา ด้วยกฎหมายไทยก็ไม่ยอมรับการยุติการตั้งครรภ์โดยเสรีตามเจตนารมณ์ของผู้ตั้งท้อง

ส่วนวัยรุ่นชายนั้นอาจจะเบากว่า ด้วยยังมีวิธีการ “ระบาย” แบบที่ถึงจะผิดกฎหมายแต่เข้าถึงได้ง่ายดาย ผ่านธุรกิจประเวณีหลายรูปแบบทั้งเปิดเผยและแอบแฝง ซึ่งก็เสี่ยงแก่โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ทั้งหนัก-เบาต่างๆ กันไป

ด้วยกฎหมาย ค่านิยมทางสังคม จารีตทางการศึกษา พยายามรักษา “แนวศีลธรรมอันดี” เอาไว้เป็นทางเดินอันแคบไร้ทางเลือก การเกิดอารมณ์ทางเพศก็ควรไปเตะบอล แต่ถ้าเตะแล้วไม่หายทำอย่างไรสังคมไม่รับรู้ด้วย ไม่สนับสนุนแม้แต่การระบายออกเองที่ไม่เดือดร้อนใคร ไม่สนับสนุนการป้องกัน และพร้อมจะลงโทษตัดอนาคตแก่ผู้พลาดพลั้งให้สิ้นโอกาสในชีวิตที่เหลือและชีวิตที่จะเกิดด้วยกรอบศีลธรรมนอันดีที่ยอมรับสมมุติฐานเดียวว่าชายและหญิงพึงมีประสบการณ์ทางเพศอันได้เมื่อถึงวัยอันเหมาะสมผ่านพิธีการสมรสตามประเพณีและกฎหมาย

เราซุกเรื่องยุ่งๆ ทางเพศนี้ไว้ในร่มผ้า บีบรัดไว้ด้วยกางเกงกันชู้ชื่อกรอบศีลธรรมอันดีงามที่สนใจความเป็นจริงของแรงขับดันตามธรรมชาติ จากนั้นก็มาตื่นเต้นตกใจกันเมื่อเห็นภาพเด็กผู้ชายเปิดดูอะไรในกางเกงของเขาบนหนังสือนิทาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image