สัญญาณอันตราย สังคม อารมณ์เปลี่ยน การบ้าน บิ๊กตู่ 5

สัปดาห์ที่จะถึง คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ภายใต้ฉายา ครม.บิ๊กตู่ 5 จะเริ่มปฏิบัติหน้าที่

ครม.บิ๊กตู่ 5 มีรัฐมนตรีใหม่รวมทั้งที่ไม่เคยเป็นรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่มีการเปลี่ยนตำแหน่ง รวม 18 คน ประกอบด้วย พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ นายวิวัฒน์ ศัลยกําธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม อีกหนึ่งตำแหน่ง พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

Advertisement

และ นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

การเปลี่ยนแปลงรัฐมนตรีครั้งนี้เป็นไปตามสภาพสังคมที่ต้องการผู้เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาใหญ่

นั่นคือปัญหาเศรษฐกิจฐานราก

Advertisement

ดังนั้น รัฐมนตรีใหม่จึงมีหน้าที่ปฏิบัติตามเป้าหมายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ระบุก่อนหน้านี้ว่า “ปรับ ครม.เพื่ออนาคต”

และดำเนินการตามแนวทางของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ที่ชู “เศรษฐกิจฐานราก” ในปีหน้า

จึงไม่แปลกที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงมีการเปลี่ยน แปลงรัฐมนตรีทั้งหมด

มีนายกฤษฎา อดีตนักปกครอง ที่เคยผ่านงานปลัดกระทรวงมหาดไทยมาแล้ว มานั่งเป็นรัฐมนตรีว่าการ

มีนายลักษณ์ ซึ่งเป็นนายแบงก์เกษตรกรฯ และนายวิวัฒน์

ที่มีผลงานด้านเศรษฐกิจพอเพียงเป็นรัฐมนตรีช่วย

กระทรวงพาณิชย์ โยกเอานายสนธิรัตน์ จากรัฐมนตรีช่วยมาเป็นรัฐมนตรีว่าการ

นายสนธิรัตน์มีความเชี่ยวชาญด้านผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และเข้าใจแนวทางเศรษฐกิจฐานรากของนายสมคิด

การย้ายนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ ไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯก็มีนัยยะด้านการพัฒนา

ผนวกประสานกับรัฐมนตรีคนเก่าในสายนายสมคิด ย่อมส่งผลต่อนโยบายเศรษฐกิจที่หวังไว้

การปรับคณะรัฐมนตรีชุดใหม่นี้ สอดรับกับสถานการณ์การเมือง

การเมืองที่ใกล้จะถึงวันเลือกตั้งในปี 2561

หากรัฐบาลต้องการผลงาน จำเป็นต้องเดินหน้าแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้าน

เศรษฐกิจฐานรากมีความสำคัญ

ดังนั้น การจัดทัพเพื่อให้สอดรับกับนโยบายการเมืองและเศรษฐกิจของรัฐบาล จึงเป็นสิ่งที่พึงกระทำ

เพียงแต่การประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 27-28 พฤศจิกายน ได้ปรากฏปัญหาใหม่ที่ คสช.ต้องคำนึงถึง

ประการแรก ก่อนการประชุม ครม.สัญจรจะมาถึง ได้มีกลุ่มชาวสวนยางซึ่งได้รับความเดือดร้อนจากราคาที่ตกวูบ ประกาศจะเคลื่อนเข้ากรุง

วิธีการของฝ่ายความมั่นคงคือเชิญตัวแกนนำชาวสวนยางเข้าค่าย

ภาพที่ปรากฏออกมาจึงไม่งาม

ประการที่สอง เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ลงพื้นที่จังหวัดปัตตานี มีตัวแทนชาวประมงมาร้องทุกข์ สิ่งที่ปรากฏเป็นข่าวคือเสียง“ว้าก” จากนายกรัฐมนตรี

กลายเป็นภาพลักษณ์นายกฯว้ากประชาชน ซึ่งตอกย้ำภาพรัฐบาลทหาร

แม้ในที่สุด พล.อ.ประยุทธ์จะออกมาแสดงความเสียใจที่ใช้เสียงดัง แต่ทุกอย่างได้เกิดขึ้นแล้ว

ประการที่สาม คือ ปล่อยให้เกิดการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับกลุ่มผู้คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา รวมไปถึงการใช้มาตรการจับแกนนำ ได้ปลุกให้กลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนทั้งในและต่างประเทศออกมาคัดค้าน

ประการสุดท้าย คือ คำให้สัมภาษณ์จากปาก พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกรัฐบาล เกี่ยวกับการหายตัวไปของแกนนำคัดค้านโรงไฟฟ้า ซึ่งเป็นการกล่าวหาว่า “อยู่กับกิ๊ก”

คำให้สัมภาษณ์ดังกล่าวกลายเป็นน้ำมันราดลงไปบนกองเพลิง

สรุปว่าการลงพื้นที่จังหวัดภาคใต้ของรัฐบาล ซึ่งน่าจะเป็นการสร้างความสัมพันธ์ และเพิ่มคะแนนเสียง

กลายเป็นการทำลายคะแนนตัวเองอย่างราบคาบ

งานนี้ถือว่ารัฐบาลพลาด !

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารัฐบาลจะพลาด แต่หากนำเรื่องราวมาปะติดปะต่อจะพบว่า อารมณ์ของสังคมได้เปลี่ยนแปลงแล้ว

จากความชื่นชอบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ตั้งแต่ปี 2557 มาถึงบัดนี้ไม่แน่เสียแล้ว

แม้รัฐบาลจะบอกว่าการดำเนินการกับผู้ชุมนุมคัดค้านโรงไฟฟ้า ถ่านหินเทพาจะเป็นการทำตามกฎหมาย แต่ดูเหมือนกระแสสังคม “ติ” มากกว่า “ชม”

แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะแสดงความ “เสียใจ” ต่อการ “ว้าก” ชาวประมงคนนั้น แต่ก็ไม่มีเสียงตอบรับ หรือออกมาแก้ต่างแทน พล.อ.ประยุทธ์เหมือนเก่า

แม้ พล.ท.สรรเสริญจะชี้แจงเรื่องการให้สัมภาษณ์กรณีแกนนำคัดค้านโรงไฟฟ้าหายตัวไปว่า มีการตัดต่อ แต่ดูเหมือนความน่าเชื่อถือจะไม่เท่าเดิม

ทุกอย่างคือสัญญาณที่รัฐบาลต้องสดับ และปรับยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีให้เข้ากับสถานการณ์

ข้อกล่าวหากลุ่มผู้เห็นต่างว่า เป็นคนละสีเสื้อ มองว่าเป็นกลุ่มผู้ก่อการไม่ดี หรือเป็นกลุุ่มหวังป่วน

กลายเป็นการเพิกเฉยต่อความเดือดร้อนของชาวบ้านไปในพริบตา

เรื่องเหล่านี้ ได้บ่งบอกสัญญาณอันตรายให้ทราบ

 

ดังนั้น ครม.ใหม่จึงต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อแก้เกมสิ่งที่พลาดไปเมื่อสัปดาห์ก่อน

การแก้ไขปัญหาราคาพืชเศรษฐกิจตกต่ำโดยเร็ว การช่วยเหลือเยียวยาชาวบ้าน การกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก และอื่นๆ

ล้วนเป็นสิ่งที่พึงทำให้เกิดผลเป็นรูปธรรม

แม้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์จะมีที่มาแตกต่างจากรัฐบาลเลือกตั้ง แต่เมื่อบริหารประเทศมาได้ 3 ปี

รัฐบาลย่อมต้องรู้ตัวดีว่า เสถียรภาพของรัฐบาลนั้นขึ้นอยู่กับความอยู่ดีมีสุขของประชาชน

ถ้าเป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้ง บริหารประเทศแล้ว ประชาชนเดือดร้อน รัฐบาลย่อมลงเอยด้วยการยุบสภาเลือกตั้งใหม่

ส่วนรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจ แม้จะไม่มีบทบัญญัติให้ยุบสภาเลือกตั้งใหม่

แต่หากประชาชนเดือดร้อน สุดท้ายรัฐบาลก็คงอยู่ลำบากเช่นกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image