แก้ปัญหาน้ำท่วม โดยขุดคลองระบายน้ำในเขต จ.พระนครศรีอยุธยา ฝันร้ายของชาวนา เพราะยังใช้วิธีที่ไม่พัฒนาจริงหรือ? : โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ฉลอง เกิดพิทักษ์

ผู้เขียนได้เดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศแคนาดา ในเดือนธันวาคม 2508 โดยทุนรัฐบาลประเทศแคนาดาให้ความช่วยเหลือในการจัดตั้งคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมืองที่มหาวิทยาลัยตั้งอยู่มีคลองผันน้ำ อุกทกภัย (Flood way) ซึ่งอาจารย์หัวหน้าสาขาวิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำเป็นผู้คำนวณทางด้านชลศาสตร์และอุทกวิทยาและนำมาสอนในชั้นเรียนด้วย

นอกจากนี้ผู้เขียนยังได้เรียนวิชาวิศวกรรมแม่น้ำที่มหาวิทยาลัยนี้อีกด้วย ซึ่งอาจารย์สอนดีมาก โดยให้จัดทำรายงานการศึกษาเรื่องแม่น้ำส่งทุกสัปดาห์

ทางผันน้ำอุทกภัยก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2510 และท้ายจุดที่คลองผันน้ำระบายน้ำลงลำน้ำเดิมมีผู้คนอาศัยอยู่น้อยมากและท้ายจุดนี้ลงไปประมาณ 40 กม. ลำน้ำค่อนข้างตรงก่อนไหลลงทะเลสาบขนาดใหญ่ กว้างประมาณ 60 กม. และยาวประมาณ 120 กม.

ผู้เขียนได้เดินทางกลับมาสอนที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นในเดือนพฤษภาคม 2511

Advertisement

ต่อมาในเดือนสิงหาคม 2517 – กรกฎาคม 2518 รวมเวลา 1 ปี ผู้เขียนได้เดินทางกลับไปปฏิบัติงานกับบริษัทวิศวกรที่ปรึกษาขนาดใหญ่ในประเทศแคนาดา ที่เมืองน้ำตกไนแองการา รัฐออนตาริโอ (Niagara Falls, Ontario province)

ที่บริษัทนี้ปฏิบัติงานเฉพาะทางและมีงานมาให้ปฏิบัติจากทั่วโลก รวมทั้งจากประเทศสหรัฐอเมริกาด้วย ผู้เขียนได้มีโอกาสร่วมปฏิบัติงานสำคัญ งานหนึ่งที่หน่วยงานราชการของประเทศสหรัฐอเมริกาว่าจ้างสาขาของบริษัทที่เมืองบัพฟาโล (ฝั่งตรงข้าม) ให้ดำเนินงาน และได้ส่งงานบางส่วนมาให้สำนักงานใหญ่ของบริษัทช่วยปฏิบัติ ได้แก่ งาน “การศึกษาเพื่อขยายระยะเวลาการเดินเรือบรรทุกสินค้าบนแม่น้ำชายแดนอเมริกา-แคนาดา เมื่อน้ำในแม่น้ำเริ่มกลายเป็นน้ำแข็ง”

ถ้าสามารถขยายเวลาการเดินเรือบรรทุกสินค้าได้เป็นเวลา 1 เดือนก็จะเกิดประโยชน์มหาศาล ที่ผู้เขียนได้ร่วมงานดังกล่าวเพราะอาจารย์ผู้สอนวิชาวิศวกรรมแม่น้ำของผู้เขียนเมื่อศึกษาเพื่อทำวิทยานิพนธ์ขั้นปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์ สหรัฐอเมริกา (ซึ่งขณะนั้นสาขาการจัดการน้ำของมหาวิทยาลัยนี้เป็นสาขาที่ดีที่สุดติดอันดับ 1 ใน 10 ของประเทศสหรัฐอเมริกา) ได้ค้นคว้าทฤษฎีกลศาสตร์น้ำแข็ง (Ice mechanics) ขึ้นมาใหม่

Advertisement

ต่อมาในช่วงปี พ.ศ.2522-2524 รวมเวลา 3 ปี ผู้เขียนได้ลาออกจากราชการตามมติ ครม.เป็นการชั่วคราว มาปฏิบัติงานในโครงการ “การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาอย่างเป็นระบบด้วยแบบจำลอง” โดยนั่งปฏิบัติงานที่กรมชลประทานสามเสนกับบริษัทวิศวกรที่ปรึกษาจากประเทศแคนาดาที่ผู้เขียนเคยไปปฏิบัติงานที่สำนักงานใหญ่ในช่วงปี พ.ศ.2517-2518 โดยกรมชลประทานได้ว่าจ้างให้ศึกษาภายใต้โครงการเงินกู้จากธนาคารโลก

งานส่วนใหญ่เป็นงานการจัดสรรน้ำล่วงหน้ารายสัปดาห์อย่างเป็นระบบด้วยแบบจำลอง เมื่อจัดสรรน้ำล่วงหน้ารายสัปดาห์ไปแล้ว ถ้าเกิดปัญหาในทางปฏิบัติภาคสนาม ผู้จัดการโครงการของกรมชลประทาน (เป็นผู้ที่มีประสบการณ์สูงทั้งทางทฤษฎีและภาคปฏิบัติและภาษาอังกฤษของท่านดีมากด้วย) จะขอให้ผู้เขียนออกไปศึกษาเพื่อแก้ปัญหา แล้วกลับมารายงานให้ท่านและหัวหน้าโครงการของบริษัทที่ปรึกษาได้รับทราบ

ถ้าปัญหาใดยุ่งยากและซับซ้อนก็ให้ดำเนินงานเป็นกรณีศึกษา ซึ่งกรณีศึกษาแต่ละเรื่องจะยากมาก และกรณีศึกษาเหล่านี้ได้จัดพิมพ์เป็นภาษาไทย กรณีศึกษาละ 500 ชุด เพื่อแจกจ่ายในกรมชลประทาน จึงทำให้ผู้เขียนได้ผลงานดีๆ จากโครงการนี้รวม 8 เรื่อง

เมื่อนำไปรวมกับผลงานที่ได้ปฏิบัติอยู่ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นซึ่งเป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กในชนบทภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยได้รับการสนับสนุนทั้งทางด้านการเงินและด้านวิชาการจากมูลนิธิฟอร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา รัฐบาลประเทศแคนาดาและนิวซีแลนด์อีกประมาณ 14 เรื่อง

เมื่อผู้เขียนดำรงตำแหน่งคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นตั้งแต่ พ.ศ.2518-2521 รวมเวลาประมาณ 2 ปี ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ผู้เขียนมักออกไปช่วยพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กให้ชนบทในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นประจำ ซึ่งขณะนั้นยังไม่เจริญ ทำให้ความช่วยเหลือจากต่างประเทศรวมทั้งทุนไปศึกษาต่อหลั่งไหลเข้ามามาก รวมเป็นผลงาน 22 เรื่อง ซึ่งทำให้ผู้เขียนได้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ในปี พ.ศ.2525 (ปัจจุบัน กันยายน 2560 มีผลงานทางวิชาการที่ลงพิมพ์แล้วมากกว่า 100 เรื่อง
หลังจากเกษียณอายุราชการในปี 2540 ผู้เขียนได้นำประสบการณ์ที่ได้กล่าวมาแล้วไปปฏิบัติงานกับบริษัทวิศวกรที่ปรึกษาในหลายโครงการ โครงการหนึ่งที่ได้ปฏิบัติคือ โครงการ “การออกแบบระบบระบายน้ำและระบบป้องกันน้ำท่วมในเขตเทศบาลและชุมชนต่อเนื่อง” ของหน่วยงานราชการหนึ่ง

งานแรกได้แก่ ในเขต จ.พิษณุโลก ซึ่งได้ศึกษาเพื่อเลือกเทศบาลและชุมชนต่อเนื่องที่มีปัญหาน้ำท่วมมากที่สุด 4 เทศบาล มาศึกษาออกแบบ ได้แก่ เทศบาลนครพิษณุโลก เทศบาลตำบลบางระกำ และอีก 2 เทศบาลตำบล

ปรากฏว่าเมื่อเริ่มงานไปได้ประมาณ 8 เดือน ได้เกิดฝนตกหนักและเกิดน้ำท่วม อบต.ริมรั้วมหาวิทยาลัยนเรศวร ท่านรองผู้ว่าฯ ซึ่งรับผิดชอบงานนี้อยู่ได้เชิญผู้แทนของบริษัทให้ไปพบ ผู้เขียนในฐานะผู้จัดการโครงการของบริษัทฯ ได้เดินทางไปพบท่านรองผู้ว่า ซึ่งท่านได้แจ้งถึงวัตถุประสงค์ก็เพื่อให้ไปปรึกษาหารือกับผู้แทนของมหาวิทยาลัยนเรศวรซึ่งท่านได้นัดเวลาในการพบปะกันไว้แล้ว เพื่อปรึกษาหารือในการแก้ปัญหาดังกล่าว

ก่อนออกจากห้องรองผู้ว่าท่านก็ได้พูดขึ้นว่าขอให้ไปปรึกษาหารือกันอย่างสร้างสรรค์ อย่าไปทะเลาะกัน ผู้เขียนก็นึกอยู่ในใจ (โดยไม่ได้เรียนให้ท่านรองผู้ว่าทราบ) ว่าผู้แทนของมหาวิทยาลัยที่จะไปพบน่าจะเป็นลูกศิษย์ของผู้เขียน เพราะขณะนั้นมหาวิทยาลัยนเรศวรมีอาจารย์ที่สำเร็จการศึกษาขั้นปริญญาเอกทางวิศวกรรมทรัพยากรน้ำอยู่ 2 ท่าน และทั้ง 2 ท่านเคยเป็นลูกศิษย์ของผู้เขียน

เมื่อเดินทางไปถึงมหาวิทยาลัยนเรศวรก็พบลูกศิษย์ของผู้เขียนตามที่คาดการณ์ไว้

สำหรับปัญหาน้ำท่วมเกิดขึ้นเพราะมหาวิทยาลัยได้ก่อสร้างทับระบบระบายน้ำของเขตปฏิรูปที่ดิน แต่มหาวิทยาลัยก็ได้เว้นร่องระบายน้ำไว้ ซึ่งขณะนั้นอุดตันใช้งานไม่ได้ ผู้เขียนจึงขอความอนุเคราะห์จากทางมหาวิทยาลัยให้ช่วยปรับปรุงร่องระบายน้ำดังกล่าวให้สามารถระบายน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะไม่ทำให้เกิดน้ำท่วม อบต.ริมรั้วมหาวิทยาลัยขึ้นมาอีก ซึ่งทางมหาวิทยาลัยก็รับไปดำเนินการ

ปรากฏว่าลูกศิษย์ของผู้เขียนท่านนี้ต่อมาได้เป็นรองศาสตราจารย์และได้เป็นคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร 2 วาระ วาระละ 4 ปี ปัจจุบัน กันยายน 2560 น่าจะเป็นคณบดีเป็นปีที่ 8 แล้ว

ต่อมาในเดือนธันวาคม 2559 ผู้เขียนได้มีโอกาสพบท่านคณบดีอีกครั้ง ท่านได้แจ้งให้ผู้เขียนทราบว่า ระบบระบายน้ำและระบบป้องกันน้ำท่วมในเขตเทศบาลนครพิษณุโลก ที่หน่วยราชการแห่งหนึ่งไปก่อสร้างให้ใช้งานได้ผลดีเพราะสามีของท่านเป็นนายกเทศมนตรี เทศบาลนครพิษณุโลก ทำให้ผู้เขียนรู้สึกดีใจกับหน่วยราชการที่เป็นเจ้าของโครงการมาก

ระบบป้องกันน้ำท่วมที่ใช้ก็คือ นำระบบปิดล้อม (Modified polder system) ซึ่งใช้กันอยู่ทั่วโลกมาประยุกต์ใช้ ในบางกรณีสามารถดัดแปลงถนนเป็นคันกั้นน้ำได้และระบบปิดล้อมนี้จะออกแบบป้องกันน้ำท่วมที่คาบการเกิดซ้ำ (Return period) สูงสุดที่ 100 ปี หมายถึงในช่วงเวลา 100 ปี มีโอกาสเกิดน้ำท่วม 1 ครั้ง (น้ำจะไม่ล้นคันกั้นน้ำเข้าไปท่วมภายในพื้นที่ปิดล้อม) เป็นการป้องกันน้ำท่วม ณ จุดที่น้ำท่วม ซึ่งงานป้องกันน้ำท่วมดังกล่าวนี้จะไม่มีการเวนคืนที่ดิน

ในการศึกษาออกแบบระบบระบายน้ำและระบบป้องกันน้ำท่วม จะรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนที่เกี่ยวข้อง 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อการศึกษาขั้นแผนหลักเสร็จเรียบร้อย ทั้งนี้เพื่อเลือกพื้นที่ 4 เทศบาลที่มีปัญหาน้ำท่วมมากที่สุดไปศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียด

การรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 เมื่อการศึกษาความเหมาะสมเสร็จเรียบร้อยแล้ว การรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ทางบริษัทที่รับผิดชอบจะต้องตอบคำถามจากผู้ที่เกี่ยวข้องได้ทั้งหมด ดังตัวอย่างเช่น เมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้ว ที่เทศบาลเมืองปราจีนบุรี การรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 มีประชาชนมาร่วมประชุมมากกว่า 200 คน มีพระสงฆ์ 3 รูป สำหรับพระสงฆ์ท่านต้องการทราบว่า โครงการฯถึงพื้นที่วัดของท่านหรือไม่ เมื่อทราบว่าถึงท่านก็พอใจ

ส่วนตัวอย่างอีกคำถามหนึ่งก็คือ ผู้อำนวยการโรงเรียนประจำจังหวัดชายได้ถามว่าโรงเรียนของท่านอยู่บนที่ลุ่มได้ป้องกันน้ำท่วมอย่างไรให้ ผู้แทนบริษัทฯตอบว่าได้ออกแบบคันป้องกันน้ำท่วมล้อมรอบโรงเรียนและออกแบบระบบระบายน้ำภายในพื้นที่ พร้อมทั้งก่อสร้างบ่อสูบน้ำไว้เป็นจุดๆ ตามความเหมาะสม และจัดหาเครื่องสูบน้ำแบบเคลื่อนที่ได้ไว้ให้ ซึ่งท่านผู้ถามก็พอใจ

ระบบป้องกันน้ำท่วมโดยการนำระบบปิดล้อมมาประยุกต์ใช้ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จเฉพาะของบริษัทฯที่ผู้เขียนสังกัดอยู่ ได้แก่ จังหวัดพิษณุโลก, น่าน, มหาสารคาม และที่ออกแบบเสร็จเรียบร้อยแล้ว ได้แก่ จังหวัดปราจีนบุรี และจังหวัดกาฬสินธุ์ จะออกแบบแล้วเสร็จในเร็วๆ นี้

ข้อเสียของการขุดคลองระบายน้ำเพื่อลดปัญหาน้ำท่วมในเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สามารถสรุปได้ดังนี้

1) ใช้พื้นที่ในการก่อสร้างหรือขุดคลองมาก

2) คลองตัดผ่านบ้านเรือนราษฎร ถนนและอื่นๆ อีกมาก

3) ป้องกันน้ำท่วมที่คาบการเกิดซ้ำ กรณีนี้น่าจะไม่เกิน 50 ปี (50 ปีมีโอกาสเกิด 1 ครั้ง) ถ้าป้องกันที่คาบการเกิดซ้ำสูงกว่านี้จะต้องใช้พื้นที่ขุดคลองมาก และผลกระทบในทางลบต่างๆ ที่ตามมาก็จะมากขึ้นด้วย

4) จุดที่ระบายน้ำทิ้ง

-เหนือน้ำ น้ำจะท่วมมากขึ้น
-ท้ายน้ำ น้ำจะท่วมมากขึ้น ถ้าคลองมีขนาดใหญ่ ผลกระทบอาจถึงกรุงเทพฯ
-เกิดการกัดเซาะลำน้ำด้านท้ายน้ำเพิ่มมากขึ้น

สำหรับข้อเสียของระบบปิดล้อมเพื่อป้องกันน้ำท่วมแทบไม่มีเลยไปศึกษาออกแบบพื้นที่ใดก็ได้รับการต้อนรับจากประชาชนในพื้นที่นั้นเป็นอย่างดี เพราะแทบไม่มีผลกระทบในทางลบเลย

1) น้ำท่วมพื้นที่ใดก็ป้องกันน้ำท่วม ณ พื้นที่นั้น

2) สามารถป้องกันน้ำท่วมที่คาบการเกิดซ้ำได้สูงถึง 100 ปี (100 ปีมีโอกาสเกิด 1 ครั้ง) เช่นที่ได้ก่อสร้างมาแล้วหลายจังหวัด

3) สำหรับจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีแม่น้ำหลายสายไหลผ่าน มีตลิ่งของแม่น้ำเกิดการกัดเซาะบางแห่งทำให้บ้านเรือนเสียหาย บางแห่งตลิ่งกำลังจะถูกกัดเซาะถึงบ้านเรือนอยู่แล้ว กรณีนี้ถ้าก่อสร้างไปพร้อมกันก็สามารถดัดแปลงกำแพงป้องกันตลิ่งให้สามารถป้องกันน้ำท่วมได้อีกด้วย มีตัวอย่างให้เห็นในหลายจังหวัด บางแห่งขอให้ออกแบบกำแพงป้องกันน้ำท่วมและป้องกันตลิ่งพังให้สามารถใช้เป็นที่นั่งดูการแข่งเรือได้อีกด้วย

4) เทศบาลพระนครศรีอยุธยาได้เคยส่งเรื่องขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาศึกษาออกแบบระบบระบายน้ำและระบบป้องกันน้ำท่วมในเขตเทศบาลพระนครศรีอยุธยาแล้ว ภายในพื้นที่ป้องกันน้ำท่วมยังมีระบบระบายน้ำอีกด้วย ซึ่งการขุดคลองระบายน้ำไม่มี

5) สามารถนำเอาระบบปิดล้อมไปประยุกต์ใช้ในการป้องกันน้ำท่วม บนพื้นที่เพาะปลูกข้าวได้ สำหรับพื้นที่เพาะปลูกข้าว ซึ่งเป็นที่ลุ่ม เสนอแนะให้ศึกษาเพื่อเริ่มเพาะปลูกข้าวหลังระดับน้ำอุทกภัยลดลงมากพอโดยใช้น้ำที่เหลือบนแปลงเพาะปลูกเตรียมแปลงเพาะปลูกข้าว เมื่อเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จก็เพาะปลูกข้าวต่ออีกครั้งแล้วเก็บเกี่ยวก่อนน้ำท่วม รายละเอียดเพิ่มเติมมีอยู่ใน ฉลอง เกิดพิทักษ์และชัยวัฒน์ ขยันการนาวี “การศึกษาการใช้น้ำในโครงการเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกตอนล่าง” วิศวกรรมสาร มก., เล่มที่ 20, ปีที่ 7, หน้าที่ 33-50, สิงหาคม-พฤศจิกายน 2536 (ได้รับการสนับสนุนด้านการเงินให้ศึกษาจากธนาคารพัฒนาเอเชียผ่านทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์) ส่วนการผันน้ำอุทกภัยเข้าไปเก็บกักบนที่ลุ่มที่เก็บเกี่ยวข้าวแล้ว ควรผันน้ำอุทกภัยช่วงที่มีปริมาณน้ำสูง (Peak flow)

อนึ่ง ผู้เขียนขอเสนอแนะให้มีการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างการป้องกันน้ำท่วมโดยการขุดคลองระบายน้ำของกรมชลประทาน (ซึ่งการศึกษาเบื้องต้นคงใช้เวลาไม่เกิน 1 สัปดาห์) เปรียบเทียบกับการนำเอาระบบปิดล้อม (Modified polder system) มาประยุกต์ใช้ทั้งการป้องกันน้ำท่วมในเขตชุมชนเมือง ชุมชนชนบท และพื้นที่เกษตรกรรม

ซึ่งการศึกษาเบื้องต้นเมื่อนำมาประยุกต์ใช้ในเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยา คงต้องใช้เวลาเป็นเดือน

เมื่อประมาณ 3-4 ปีที่แล้ว ผู้เขียนเคยเป็นอนุกรรมการการสอบเลื่อนระดับใบประกอบวิชาชีพ จากภาคีเป็นสามัญวิศวกร ของสภาวิศวกร เป็นการสอบสัมภาษณ์ตามผลงานที่เสนอขอเลื่อนระดับ มีผู้มาเข้าสอบกับผู้เขียนท่านหนึ่งสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมโยธา และปริญญาโทสาขาวิชาวิศวกรรมชลประทาน ได้นำผลงานซึ่งได้ปฏิบัติงานอยู่ที่สำนักวางโครงการของหน่วยงานที่ผู้เสนอให้ขุดคลองระบายน้ำฯ เคยเป็นผู้อำนวยการสำนักวางโครงการอยู่ในขณะนั้นมาสอบกับผู้เขียน เป็นผลงานการออกแบบอ่างเก็บน้ำความจุประมาณ 2-3 ล้าน ลบ.ม. ยังใช้วิธีการเก่าๆ เมื่อ 40 ปีที่แล้ว คำนวณหาความจุอ่างเก็บน้ำ ซึ่งสอดคล้องกับหัวข้อการเขียนเรื่องนี้ ทำให้ผู้เขียนต้องเขียนบทความทางวิชาการเรื่อง “การออกแบบอ่างเก็บน้ำและการจัดการน้ำในอ่างด้วยแบบจำลอง” ลงพิมพ์ในวารสารวิจัยสหวิทยาการไทย, ฉบับที่ 2, ปีที่ 10, กันยายน-ตุลาคม, 2558, หน้า 1-7. เป็นวารสารทางวิชาการเรื่องที่ 96 ของผู้เขียน

ได้ทราบว่าโครงการผันน้ำอุทกภัยในเขต จ.พระนครศรีอยุธยา ได้รับความช่วยเหลือในการศึกษาจากประเทศที่เจริญกว่าประเทศไทย ผู้เขียนก็ต้องขอขอบพระคุณไว้ ณ ที่นี้ด้วย อนึ่งเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว ผู้เขียนได้เคยมีประสบการณ์ในการทบทวนการศึกษาความเหมาะสมของโครงการชลประทานซึ่งมีอ่างเก็บน้ำอยู่ทางด้านเหนือน้ำและพื้นที่ชลประทานอยู่ทางด้านท้ายน้ำ เป็นการศึกษาความเหมาะสมที่ได้รับความอนุเคราะห์จากประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยอ่างเก็บน้ำมีความจุที่ระดับเก็บกัก 47.50 ม.รทก. เท่ากับ 54 ล้าน ลบ.ม.

ในการทบทวนการศึกษาความเหมาะสมของผู้เขียน สามารถลดความจุอ่างเก็บน้ำลงเหลือ 40.10 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งพื้นที่รับประโยชน์ยังคงเท่าเดิมคือ 20,000 ไร่ โดยการผันน้ำที่เหลือไปเก็บกักยังอ่างเก็บน้ำข้างเคียงจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ (โดย gravity) ซึ่งมีปริมาตรอ่างว่างอยู่มาก

กรณีนี้ทำให้สามารถลดพื้นที่น้ำท่วมในอ่างเก็บน้ำได้ถึง 2,675 ไร่ เป็นพื้นที่ที่มีราคาค่อนข้างแพง เพราะความเจริญเข้ามาถึง

คลองผันน้ำอุทกภัยความจุ 1,200 ล้าน ลบ.ม. ผันน้ำอ้อมเมืองพระนครศรีอยุธยา แนวคลองผันน้ำตัดผ่านบ้านเรือนราษฎร ถนน ทุ่งนา และอื่นๆ ทั้งๆ ที่ทุ่งนาเหล่านั้นไม่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม จึงเป็นการย้ายความเดือดร้อนจากชุมชนเมืองไปยังชุมชนชนบท

ถึงแม้ชุมชนเมืองก็ยังแก้ปัญหาน้ำท่วมที่คาบการเกิดซ้ำสูงๆ ไม่ได้ (เช่น 100 ปีมีโอกาสเกิด 1 ครั้ง)

สำหรับผู้เขียนเกิดที่อำเภอบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และในช่วงปี พ.ศ.2522-2524 ได้มีโอกาสเข้าร่วมปฏิบัติงานในโครงการ “การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาอย่างเป็นระบบด้วยแบบจำลอง” ซึ่งเป็นงานการจัดสรรน้ำล่วงหน้ารายสัปดาห์ในโครงการชลประทานเจ้าพระยาและในการจัดสรรน้ำล่วงหน้ารายสัปดาห์ดังกล่าว ถ้ามีปัญหาทางปฏิบัติในสนามผู้เขียนจะได้รับมอบหมายให้ออกไปแก้ปัญหา จึงทำให้ผู้เขียนทราบเรื่องระบบชลประทาน ระบบระบายน้ำ และระบบแม่น้ำลำคลอง ในเขต จ.พระนครศรีอยุธยา และพื้นที่ใกล้เคียงเป็นอย่างดี จึงไม่เคยคิดเรื่องโครงการระบายน้ำดังกล่าวแล้วเลย เพราะเมื่อนำมาประยุกต์ใช้ในขณะที่บ้านเมืองเจริญแล้วจะมีผลกระทบในทางลบอย่างมากมายและกว้างขวางและยังเป็นโครงการที่ไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจอีกด้วย เพราะไม่ได้เกิดน้ำท่วมทุกปี

นอกจากนี้ยังมีวิธีป้องกันน้ำท่วมวิธีอื่นที่ดีกว่า มีผลกระทบในทางลบน้อยกว่า และสิ้นเปลืองค่าก่อสร้างน้อยกว่าอีกด้วย ถ้าจะดำเนินการต่อจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนำมาศึกษาเปรียบเทียบ พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนที่เกี่ยวข้องด้วย

ผู้เขียนได้ทราบว่าการศึกษาเพื่อขุดคลองระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วมในเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้ศึกษาหลังเกิดน้ำท่วมใหญ่ปี พ.ศ.2554 ถ้าสิ่งที่ผู้เขียนทราบเป็นจริง ก็คงไม่จำเป็นต้องขุดคลองระบายน้ำความจุ 1,200 ลบ.ม.ต่อวินาที ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1) ผู้เขียนได้นำปริมาณน้ำที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลรายเดือนเป็นเวลา 50 ปี (พ.ศ.2507-2556) มาศึกษาเพื่อปรับปรุงเกณฑ์การใช้อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลเพื่อลดปัญหาน้ำท่วมด้านท้ายน้ำ ซึ่งรายละเอียดการศึกษาได้ลงพิมพ์ในวิศวกรรมสาร วสท., ปีที่ 66 ฉบับที่ 6 พฤศจิกายน-ธันวาคม, หน้า 36-39, 2556 (ผลงานทางวิชาการลำดับที่ 84) จากเกณฑ์ใหม่นี้ ถ้าเกิดอุทกภัยเช่นปี พ.ศ.2554 ขึ้นมาอีกในลุ่มน้ำเจ้าพระยา จะทำให้ลดปริมาณน้ำสูงสุดที่จังหวัดนครสวรรค์ได้ 500 ลบ.ม.ต่อวินาที

2) เสนอแนะให้ศึกษาเพื่อสร้างเกณฑ์การใช้อ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อย และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เพื่อลดปัญหาน้ำท่วมด้านท้ายน้ำ (Flood rule curve) เช่นเดียวกับอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ โดยเมื่ออุทกภัยรอบ 100 ปีไหลผ่านอ่างเก็บน้ำต้องระบายน้ำลงท้ายน้ำไม่เกินความจุของลำน้ำเดิม

พร้อมทั้งพัฒนาแบบจำลองสำหรับทำนายปริมาณน้ำที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำเช่นเดียวกับอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์อีกด้วย

3) เสนอแนะให้มีการศึกษาการใช้น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาอย่างเป็นระบบด้วยแบบจำลอง โดยต้องมีการเก็บข้อมูลจากสนามมาสอบเทียบแบบจำลองที่มากพอและเป็นเวลานานพออีกด้วย ทั้งนี้เพื่อศึกษาหากราฟสำหรับคำนวณหาพื้นที่เพาะปลูกฤดูแล้งใหม่ (DSAR-Curve) และเสนอแนะให้มีการจัดสรรน้ำล่วงหน้ารายสัปดาห์ด้วยแบบจำลอง ดังเช่นที่เคยปฏิบัติในช่วงปี พ.ศ.2522-2525

ถ้าสามารถดำเนินการได้ตามข้อเสนอแนะก็ไม่จำเป็นต้องขุดคลองระบายน้ำในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ความจุ 1,200 ลบ.ม.ต่อวินาที

อนึ่งคลองผันน้ำอุทกภัยในประเทศคานาดา ณ เมืองที่ผู้เขียนได้ไปศึกษาต่อ อาจารย์หัวหน้าสาขาวิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำเป็นผู้คำนวณทางชลศาสตร์และอุทกภัย

อาจารย์ได้เล่าให้ฟังว่า เจ้าของงานได้ว่าจ้างหน่วยงานทางด้านป้องกันน้ำท่วมของประเทศสหรัฐอเมริกามาให้ข้อเสนอแนะในการศึกษาด้วย ได้ก่อสร้างประตูควบคุมน้ำบนแม่น้ำสายหลักเพื่อผันน้ำเข้าคลองผันน้ำอุทกภัยเพียงแห่งเดียว และได้ใช้งานมาครบ 50 ปีแล้ว แต่คลองผันน้ำอุทกภัยบริเวณจังหวัดพระนครศรีอยุธยามีทั้งประตูผันน้ำเข้าคลองระบายน้ำและประตูระบายน้ำที่ปลายคลองระบายน้ำอีกด้วย

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ฉลอง เกิดพิทักษ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image