สุจิตต์ วงษ์เทศ : นายขนมต้ม ต่อยมวยชนะพวกอังวะ นิทานปลอบใจหลังกรุงแตกแทรกพงศาวดาร

นายขนมต้ม เป็นนิทานหรือคำบอกเล่าปลอบใจเหตุการณ์หลังกรุงแตกแทรกในพงศาวดาร กรณีเชลยอยุธยาต่อยมวยชนะพวกอังวะหลายคน เลยได้รับยกย่องเป็นวีรบุรุษ
มวย ในประวัติศาสตร์อยุธยามีกล่าวถึงเก่าสุดอยู่ในกฎมณเฑียรบาล ยุคต้นอยุธยา ราวเรือน พ.ศ. 2000 เรียกปล้ำมวย หรือมวยปล้ำ

การต่อสู้ด้วยหมัดมวยขึ้นสังกัดกรมทนายเลือก มีหน้าที่ป้องกันพระเจ้าแผ่นดิน (ปัจจุบันเรียกทหารรักษาพระองค์) เป็นทหาร มีอาวุธประจำตัวคือหอก และมวย ได้แก่ หมัด เท้า เข่า ศอก
ในบันทึกของลาลูแบร์ (ราชทูตฝรั่งเศส) เล่าการละเล่นสมัยพระนารายณ์ฯ ว่ามวยที่ต่อสู้กันด้วยศอกและหมัด. ในการชกมวยหมัดนั้น นักมวยพันมือของตนด้วยด้ายดิบ 3 หรือ 4 รอบ

มวย แปลว่า รวบเป็นกลุ่มหรือก้อน มีความหมายตรงกับคำว่า หมัด หมายถึงมือที่กำรวบเป็นปั้น เรียก กำปั้น หรือ กำหมัด ใช้เป็นอาวุธในการต่อสู้ บางทีใช้ซ้อนกัน เรียก หมัดมวย แล้วยังหมายถึง เกล้าผม หรือรวบปมเป็นมุ่นขมวด หรือเป็นกลุ่มบนกระหม่อม หรือท้ายทอย เรียกมวยผม, มุ่นผม, ขมวดผม

มวยเป็นวัฒนธรรมร่วมของอาเซียน (อุษาคเนย์) เกี่ยวกับการต่อสู้ด้วยอวัยวะในตัว มีในทุกประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบ เหมือนวัฒนธรรมร่วมอื่นๆ เช่น ตะกร้อ, เคี้ยวหมาก, ฟ้อนระบำรำเต้น, มวยผม ฯลฯ

Advertisement

อยู่ในไทยเรียกมวยไทย ถ้าอยู่ในพม่าก็เรียกมวยพม่า อยู่ในเขมร เรียกมวยเขมร, อยู่ในลาว เรียกมวยลาว เช่นเดียวกับดนตรีปี่พาทย์ อยู่ที่ไหนก็เรียกเป็นของประเทศนั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image