เราได้บทเรียนอะไรจากเรื่อง สาวแบงก์กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ : โดย กล้า สมุทวณิช

ใน พ.ศ.นี้ คงไม่มีใครไม่รู้จักแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่สุ่มโทรศัพท์มาหลอกลวงเอาข้อมูลส่วนตัว หรือหลอกให้ไปโอนเงินให้ ด้วยมุขลวงเรื่องหลอกสารพัด

หลายคนอาจจะเคยมีประสบการณ์ และหากเป็นกรณีหลัง ก็หวังว่าจะเป็นประสบการณ์เพียง “เกือบถูกหลอก” หรือต่อปากต่อคำกันพอขำๆ

แต่เอาเข้าจริงๆ สำหรับคนที่เจอเข้ากับตัวนั้น หลายครั้งมักจะขำกันไม่ค่อยออก เพราะส่วนหนึ่งของมุขหลอกลวงที่ได้ผล คือการหลอกว่าโทรมาจากหน่วยงานที่มีอำนาจรัฐ และอ้างว่าผู้รับสายนั้นเกี่ยวข้องกับความผิดอาญาร้ายแรงเช่นคดียาเสพติด ความผิดตามกฎหมายฟอกเงิน หรือมีคดีในโรงในศาล ซึ่งถ้าคนที่ไม่อยู่ใน “วงการ” จริงๆ ไม่ว่าจะวงการธนาคารหรือวงการกฎหมาย ส่วนใหญ่ฟังแล้วก็ขวัญหนีดีฝ่อ แม้จะรู้เรื่องของแก๊งคอลเซ็นเตอร์นี้มาก่อนบ้าง แต่หากเจอเอากลลวงเรื่องหลอกใหม่ๆ ที่ไม่เคยรู้มาก่อน หรือเรื่องร้ายแรงเช่นที่ยกตัวอย่างไป ถ้าจิตไม่แข็งมีสติจริงๆ ก็อาจจะ “หลุด” และหลงเชื่อ ตกเป็นเหยื่อได้ง่ายๆ

แต่สำหรับคนที่รู้เรื่องการธนาคาร หรือเกี่ยวกับกฎหมายบ้าง ได้ฟังไม่กี่ประโยคก็จะรู้แล้วว่าเป็นเรื่องหลอกลวง ก็ตัดสายทิ้งไป อย่างที่ผู้พิพากษาชั้นผู้ใหญ่ท่านหนึ่งมีประสบการณ์และนำไปแจ้งต่อทางสำนักงานศาลยุติธรรม ให้ออกประกาศเป็นข่าวเตือนภัยสังคมกันไป

Advertisement

แต่เมื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์รายหนึ่งได้สุ่มโทรศัพท์ไปหลอกลวงเอากับพนักงานธนาคารหญิงท่านหนึ่ง เรื่องก็ไม่จบแค่ตัดสายทิ้งเท่านั้น เพราะพนักงานสาวท่านนั้นยังสามารถซ้อนกลพูดคุยจนได้หมายเลขบัญชีธนาคารของผู้สมรู้ร่วมคิดกับคนร้าย และสามารถค้นหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเจ้าของบัญชีนั้น ถ่ายทอดสดออกอากาศทางเครือข่ายโซเชียลเน็ตเวิร์ก เป็นเรื่องทั้งเงิบ ทั้งฮา และสร้างความสะใจให้แก่ผู้คนในเครือข่ายสังคมจนแพร่กระจายเป็นไวรัล ซึ่งนำไปสู่การนำบุคคลผู้ที่เปิดบัญชีให้คนร้ายคณะนี้ไปดำเนินคดีและขยายผลต่อไป

ท่ามกลางเสียงชื่นชมในปฏิภาณไหวพริบ ความกล้าหาญ และความไม่ดูดายสังคมของพนักงานหญิงท่านนี้ ก็มีประเด็นตั้งข้อสังเกตทางกฎหมาย ว่าการกระทำดังกล่าวของเธอ จะถือว่ามีความผิดตามกฎหมายหรือไม่

กฎหมายที่ว่านั้น ได้แก่พระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ.2551 มาตรา 154 และมาตรา 155 ที่บัญญัติไว้เพื่อเอาผิดแก่ผู้ล่วงรู้หรือได้มาซึ่งความลับของสถาบันการเงินโดยเหตุที่เป็นผู้มีอำนาจในการจัดการหรือเป็นพนักงาน และเปิดเผยความลับนั้นในประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นหรือประชาชน

Advertisement

คนแรกที่เปิดประเด็นนี้ เป็นทนายความที่มีชื่อเสียงในการ “สร้างชื่อเสียง” ผ่านเครือข่ายโซเชียลเน็ตเวิร์กมาแล้วหลายครั้ง ทั้งการเปิดประเด็นดังกล่าว ก็เป็นเหมือนการเอากฎหมายมาแปะไว้ดื้อๆ โดยไม่ได้มีการวิเคราะห์วินิจฉัยอะไร จึงถูกตอบโต้จากสังคมและบรรดาผู้รู้กฎหมายเสียยับเยินกันไป

แต่กระนั้น ประเด็นที่เปิดขึ้นมาก็เป็นเรื่องสมควรได้รับการวิเคราะห์ว่า การกระทำในลักษณะดังกล่าวเป็นความผิดหรือไม่ ซึ่งก็มีสองความเห็นหลัก ความเห็นที่เป็นกระแสหลัก มองว่าพนักงานหญิงท่านนี้ไม่มีความผิด เพราะไม่เจตนาพิเศษที่จะก่อให้เกิดความเสียหาย

โดยเฉพาะความเห็นของท่านอดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาผู้มีชื่อเสียงท่านหนึ่ง คือ ท่านชูชาติ ศรีแสง ให้ความเห็นไว้ในเฟซบุ๊กส่วนตัวของท่าน สรุปได้ว่า การที่พนักงานธนาคารคนดังกล่าวถูกคนร้ายหลอกลวงให้โอนเงินไปให้และบอกหมายเลขบัญชีของธนาคารให้เพื่อโอนเงินให้นั้น ไม่ใช่เป็นกรณีที่ได้รู้มาจากการปฏิบัติหน้าที่ หรือในฐานะที่เป็นผู้มีอำนาจในการจัดการหรือเป็นพนักงาน แต่เป็นการได้รู้มาในฐานะส่วนตัวที่ถูกคนร้ายหลอกลวง ไม่ได้เกี่ยวกับการเป็นพนักงานของธนาคารเลย ย่อมไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 154 และมาตรา 155 รวมถึงการกระทำของพนักงานธนาคารท่านนี้ ถือว่าได้กระทำไปเพื่อประโยชน์ของสังคมส่วนรวมด้วย

อย่างไรก็ตาม มีความเห็นแย้งมาจากนักกฎหมายผู้ไม่เปิดเผยนาม แต่เป็นผู้รับผิดชอบเพจเฟซบุ๊กที่เน้นเรื่องวิธีวิเคราะห์ตามหลักตรรกะและนิติวิธีที่แม่นยำ ชื่อว่าเพจ “โลกสีเทา” ได้ให้ความเห็นไว้ สรุปว่า ในกรณีนี้ พนักงานธนาคารสามารถใช้ข้อมูลชื่อเจ้าของบัญชีและเลขที่บัญชีซึ่งคนร้ายใช้ ไปสืบค้น ที่อยู่และข้อมูลส่วนบุคคลของเจ้าของบัญชีจากระบบฐานข้อมูลของธนาคารนั้น เป็นการใช้ความสามารถในฐานะที่เป็นพนักงานทำให้ได้ล่วงรู้ข้อมูลดังกล่าว และนำมาเปิดเผยต่อสาธารณะแล้ว ประเด็นข้อต่อสู้ที่ว่าการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวไม่ใช่การกระทำที่ “น่าจะก่อความเสียหายแก่ประชาชนหรือบุคคลอื่น” เพราะเป็นการกระทำโดยมีเจตนาเตือนภัยสังคมและนำไปสู่การจับกุมคนร้ายนั้น ก็เห็นว่าไม่น่าจะใช้ต่อสู้ได้ เพราะหน้าที่การรักษาความลับของลูกค้า (duty of confidence) เป็นหน้าที่เด็ดขาดของพนักงานธนาคาร การเอามาเปิดเผยโดยลูกค้าไม่ได้ยินยอม หรือไม่มีหมายจากตำรวจหรือคำสั่งศาล เป็นการละเมิดต่อลูกค้าและเป็นความเสียหายต่อลูกค้าโดยนิยามอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ผู้ให้ความเห็นของเพจดังกล่าว ก็เห็นว่าแม้ในทางกฎหมายจะถือว่าเป็นการกระทำผิด แต่การจะดำเนินคดีหรือไม่ก็เป็นดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ ซึ่งแม้ผู้ให้ความเห็นนั้นก็เห็นว่าไม่ควรลงโทษขั้นรุนแรงอะไรกับพนักงาน แต่ก็ควรมีการตักเตือนเรื่องการละเมิดหน้าที่รักษาความลับของลูกค้า รวมถึงแจ้งวิธีการดำเนินการที่ถูกต้องให้พนักงานทราบให้ทั่วกัน

สําหรับความเห็นของผู้เขียนแล้ว แม้จะ “เห็นด้วย” กับฝ่ายหลัง ว่าเรื่องนี้เป็นการใช้ “อำนาจพิเศษ” ในฐานะของพนักงานธนาคารในการเข้าไปสืบค้นข้อมูลส่วนบุคคลของฝ่ายคนร้าย จากฐานข้อมูลของธนาคาร ซึ่งเรื่องนี้ถ้าเป็นบุคคลทั่วไปหากถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกเอาในลักษณะเดียวกันจะไม่สามารถกระทำได้
แต่กระนั้น ก็ยังเห็นค่อนไปในทางที่ว่า พนักงานธนาคารท่านนั้นไม่น่าจะถือว่ากระทำความผิดตามกฎหมาย
ดังกล่าว เพราะหากเราพิจารณาไปถึงเจตนารมณ์ของการมีไว้ซึ่งกฎหมายอาญา อันเป็นกฎหมายที่ลงโทษเอาแก่บุคคลถึงเสรีภาพและทรัพย์สินของบุคคลแล้ว การกระทำที่กฎหมายอาญาน่าจะถือเป็นความผิดและลงโทษ อย่างน้อยก็น่าจะเป็นความผิดที่เกิดจาก “เจตนาร้าย” หรือไม่ก็ก่อความเสียหายอย่างรุนแรงให้แก่สังคมหรือผู้อื่น

แต่ทั้งนี้ เจตนารมณ์ของกฎหมายสถาบันการเงินในแง่ของการรักษาความเป็น “มืออาชีพ” ของผู้ประกอบวิชาชีพนั้น ก็เป็นสิ่งที่ควรพิจารณาเช่นกัน

ทำให้ระลึกถึงคำพูดของปรมาจารย์ด้านกฎหมายอาญาคนสำคัญของไทยท่านหนึ่งซึ่งผู้เขียนนับถือ เคยกล่าวไว้อย่างน่าคิดว่า การตีความกฎหมายต้องเป็นการล้อมคอกไม่ให้คนชั่วออกมาก่อความเดือดร้อนแก่สังคม ไม่ใช่การตีความล้อมคอกคนดี ให้คนชั่วมีเสรีอยู่นอกคอก

แต่ไม่ว่าความเห็นทางกฎหมายจะเห็นไปอย่างไรก็ตาม เรื่องก็ยุติแล้วว่า ทางธนาคารต้นสังกัดของพนักงานสาวผู้นั้นไม่ติดใจเอาผิดอะไร ก็สบายใจไปได้ในเรื่องทางกฎหมาย ส่วนในประเด็นความเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยก็น่าคิด

ซึ่งส่วนตัวแล้วก็เห็นว่า การที่พนักงานหญิงผู้นั้นลงทุน “ถ่ายทอดสด” กระบวนการเกลี้ยกล่อมหว่านล้อมแก๊งคอลเซ็นเตอร์จนได้ข้อมูลส่วนบุคคลนั้น ออกจะเป็นการ “เสี่ยง” และเป็นการกระทำที่ออกจะเกินสมควรอยู่ ทางที่ปลอดภัยและได้สัดส่วนกว่านั้นน่าจะเป็นการหลอกล่อและสืบค้นอย่างเงียบๆ และนำข้อมูลที่ได้ไปแจ้งความดำเนินคดีต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง น่าจะดีกว่า

แต่ก็อีกนั่นแหละว่า เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่า การดำเนินการอย่าง “เงียบๆ” นั้น จะได้รับการตอบสนองจากฝ่ายเจ้าหน้าที่หรือไม่เพียงไร หรือทางฝ่ายผู้มีหน้าที่ตามกฎหมายอาจจะมองว่า ความเสียหายยังไม่เกิดขึ้น ไม่จำต้องดำเนินการอะไรหรือไม่ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่หลายคนเคยมีประสบการณ์ในการไปแจ้งความพบ
คำตอบแบบนี้อยู่บ้างเหมือนกัน จนเป็นที่รู้กันว่า ถ้าอยากให้เรื่องไหน “ขยับ” แล้ว ก็ควรจะ “ขยาย” ให้เป็นประเด็นไวรัลในสื่อสังคมออนไลน์ จากนั้น “อำนาจรัฐ” จะกุลีกุจอเข้ามารับไม้ต่อให้เอง

ประเด็นที่ชวนคิดอีกอย่างหนึ่ง ก็คือว่า การที่แก๊งคอลเซ็นเตอร์นี้สามารถที่จะ “หลอกลวง” ผู้คนได้ หากลองไล่เลียงลูกไม้กลลวงต่างๆ ที่พวกเขาใช้แล้ว จะเห็นว่ามีจุดร่วมกันประการหนึ่ง คือการอ้างเรื่อง “อำนาจรัฐ” และการกระทำความผิดทางอาญาที่มีโทษร้ายแรงต่างๆ การหลอกลวงว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ (ซึ่งด้วยเทคโนโลยี เขาสามารถปลอมหมายเลขโทรศัพท์หน่วยงานของรัฐที่แอบอ้างได้อย่างสมจริงเสียด้วย) โดยที่การ “แอบอ้าง” อำนาจรัฐ และการข่มขู่ด้วยคดีอาญาดังกล่าว ทำให้คนที่ไม่รู้กฎหมายนั้นขวัญหนีดีฝ่อ จนตกหลุมพรางกันได้มากมาย

น่าคิดต่อว่า ทำไมผู้คนจึงยอมเชื่อว่า “อำนาจรัฐ” ที่ติดต่อมาทางโทรศัพท์ด้วยวิธีการลึกลับเช่นนี้ และกล่าวหาด้วยเรื่องร้ายแรงขนาดนั้น จะสามารถ “จบเรื่อง” ลงได้ด้วยการ “โอนเงิน” หรือ “จ่ายเงิน” เพื่อให้ยุติเรื่อง หรือเพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบในทางลับได้

นี่ก็เป็นสิ่งที่ทาง “ภาครัฐ” จะต้องพยายามสร้างความรับรู้ใหม่ให้แก่สังคมว่า ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม หน่วยงานของรัฐ ไม่ว่าหน่วยงานใด ไม่ว่าด้วยคดีอาญา หรือข้ออ้างใดก็ตาม ไม่มีทางที่จะเรียกร้องเอา “เงิน” หรือให้ประชาชนโอนเงินหรือทรัพย์สินให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐได้โดยเด็ดขาด หากไม่มีการดำเนินการด้วยวิธีการตามกฎหมายอย่างเป็นทางการ

สุดท้าย ในแง่ของการป้องกันภัยจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์เหล่านี้ ก็น่าที่จะมีใครรวบรวมข้อมูลวิธีการลูกไม้ต่างๆ ที่มิจฉาชีพเหล่านี้ใช้ในการหลอกลวงผู้คน คอยอัพเดตรูปแบบการหลอกลวงให้ทันสมัยที่สุด แล้วเผยแพร่ต่อๆ กันไปผ่านการแชร์ทางเฟซบุ๊ก หรือแอพพลิเคชั่นไลน์ ให้กระจายทั่วๆ กันไป เพื่อให้ผู้คนในสังคมรู้เท่าทันกลอุบายในการหลอกลวงของแก๊งคอลเซ็นเตอร์เหล่านี้ ก็น่าจะดี

เชื่อว่าน่าจะเป็นประโยชน์กว่าการส่งรูปดอกไม้ไปอวยพรกันทุกวันในยามเช้า หรือข้อมูลทางสุขภาพหรือเคล็ดลับเหลวไหลในชีวิตประจำวัน ที่ส่งต่อๆ กันมา ผิดบ้าง ถูกบ้าง เช่นมะนาวโซดารักษามะเร็ง หรือน้ำอัดลมช่วยทำความสะอาดกระจกหน้ารถ รวมถึงการใส่ร้ายป้ายสีทางการเมืองเป็นไหนๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image